×

จับตา ‘เจเน็ต เยลเลน’ เยือนจีน หารือความร่วมมือท่ามกลางสัมพันธ์ตึงเครียด

06.07.2023
  • LOADING...
เจเน็ต เยลเลน

บรรดานักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างจับตามองการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งมีเป้าหมายในการมองหาพื้นที่ที่มีเศรษฐกิจร่วมกัน และเปิดช่องทางการสื่อสารท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

 

นักวิเคราะห์มองว่า การเดินทางเยือนจีนของเยลเลนในครั้งนี้ จะถือเป็นการทดสอบครั้งใหญ่ครั้งแรกของนโยบายที่เจ้าตัวร่างไว้เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การปกป้องและรักษาความปลอดภัยแห่งชาติของสหรัฐฯ โดยไม่พยายามรั้งจีนไว้ทางเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ การเดินทางเยือนจีนของเยลเลนในวันพฤหัสบดีนี้ (7 กรกฎาคม) ยังมีปัจจัยท้าทายเพิ่มขึ้น เมื่อจีนกำหนดข้อจำกัดในการส่งออกโลหะสองชนิดที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สำคัญเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นการยกระดับครั้งล่าสุดของสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อปีที่แล้วด้วยการควบคุมการส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์การผลิตชิปของสหรัฐฯ

 

ขณะเดียวกัน เยลเลนยังบังเอิญมาถึงกรุงปักกิ่งในช่วงครบรอบ 5 ปี หลังจากที่รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำหนดภาษีระลอกแรกกับสินค้ามูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์จากจีนพอดี โดยล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดนยังคงรักษามาตรการดังกล่าวไว้ แม้ว่าเยลเลนจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้ก็ตาม

 

อลิเซีย การ์เซีย-เฮอร์เรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ Natixis กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาชี้ว่า ต่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ได้ดีขึ้น แต่สหรัฐฯ ก็ตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับยุโรป ว่าระดับของการพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจกับจีนนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกออกจากกัน

 

ที่ผ่านมา เยลเลนเคยตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ในอดีต โดยกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และแนะนำให้ยกเลิกภาษีดังกล่าวได้ ซึ่งประธานาธิบดีไบเดนเคยระบุว่ามีการทบทวนผลกระทบต่อราคาผู้บริโภคเมื่ออัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น แต่ไม่มีการพูดคุยใดๆ ที่จริงจัง

 

รายงานระบุว่า ขณะที่อยู่ในจีน เยลเลนต้องเร่งทำงานอย่างหนักในการพยายามค้นหาจุดร่วมในประเด็นอื่นๆ โดยเยลเลนมีกำหนดพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีนเพื่อหารือเกี่ยวกับความสำคัญของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างมีความรับผิดชอบ สื่อสารโดยตรงเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นข้อกังวล และทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาหนี้สินในประเทศยากจน

 

หลายฝ่ายมองว่า อีกหนึ่งสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับกระทรวงการคลังสหรัฐฯ คือการกดดันให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งเพิ่มมาตรการบรรเทาหนี้ให้กับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจีนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าเยลเลนไม่น่าจะบรรลุผลสำเร็จครั้งใหญ่ใดๆ ซึ่งทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เองก็คาดหวังเพียงแค่ว่า การเดินทางครั้งนี้จะช่วยสร้างช่องทางการสื่อสารระยะยาวกับทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลจีน

 

เดวิด โลเวอริงเกอร์ กรรมการผู้จัดการในกลุ่ม Emerging Markets Group ของ TCW กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าตกใจที่รัฐบาลสหรัฐฯ และจีนพูดกันในทุกระดับน้อยมาก ก่อนชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าเจ้าหน้าที่หลักในด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศแทบจะไม่รู้จักกันสักเท่าไรนัก ดังนั้นการที่สหรัฐฯ กับจีนกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งถือเป็นกุญแจสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมถึงเป็นโอกาสสำคัญในการเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจของจีน 

 

ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่น่าจับตามองที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นในการเจรจาที่กำลังจะมีขึ้น ได้แก่ นโยบายการคุมเข้มภาคเอกชน ทั้งในส่วนของการเข้าถึงข้อมูลของบริษัท และคำถามต่อเนื่องเกี่ยวกับโอกาสที่บริษัทจีนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการควบคุมการลงทุนในต่างประเทศของสหรัฐฯ เป็นต้น 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X