ข้อมูลจากแหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เตรียมที่จะถอด ‘จีน’ ออกจากรายลิสต์รายชื่อประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน โดยจะมีการเปิดเผยผ่านรายงานอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับไตรมาสแรก
รายงานดังกล่าวซึ่งมีกำหนดจะแล้วเสร็จในวันพฤหัสบดีนี้ (15 เมษายน) แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเมื่อใด อย่างไรก็ดี ค่าเงินหยวนที่ซื้อขายกันนอกแผ่นดินจีน (Offshore Yuan) ได้ปรับขึ้นเล็กน้อยราว 0.2% มาอยู่ที่ 6.5462 หยวนต่อดอลลาร์ ตอบรับกับข่าวดังกล่าว
ขณะนี้รัฐบาลของไบเดนกำลังพิจารณาในประเด็นความสมเหตุสมผลของการระบุว่า จีนค้าขายไม่เป็นธรรมจริงหรือไม่ รวมไปถึงประเด็นอื่นๆ อย่างเช่น สิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันยังรวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับกำแพงภาษีที่เคยกำหนดไว้ในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
สำหรับเงื่อนไขที่สหรัฐฯ ใช้ในการระบุว่าประเทศใดเข้าข่ายแทรกแซงค่าเงิน ได้แก่
- มีดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของ GDP สหรัฐฯ
- มีมูลค่าของการค้าแบบทวิภาคีมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
- มีการแทรกแซงค่าเงินคิดเป็นจำนวนอย่างน้อย 2% ของ GDP ประเทศนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ทางสหรัฐฯ ยังคงมีความกังวลว่าจีนอาจจะมีการปิดบังเกี่ยวกับการแทรกแซงค่าเงินได้ ผ่านการดำเนินการของธนาคารซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน
Eswar Prasad นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานของ IMF ประจำประเทศจีน เปิดเผยว่า ภายใต้รัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ การตีความในเรื่องของการแทรกแซงค่าเงินอยู่บนเงื่อนไขแบบเฉพาะกิจ
ซึ่งในปี 2017 สตีเวน มนูชิน ใส่จีนเข้าไปในรายชื่อของประเทศที่ต้องจับตาดูว่าแทรกแซงค่าเงิน ด้วยการเข้าเงื่อนไขเพียง 1 จาก 3 ข้อเท่านั้น แทนที่ควรจะเป็น 2 จาก 3 ข้อ ตามมาตรฐานของรายงาน
“ขณะนี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จำเป็นต้องเรียกความน่าเชื่อถือกลับมาอีกครั้ง ผ่านการกำหนดเงื่อนไขที่สมเหตุสมผล และใช้บนมาตรฐานเดียวกันกับทุกประเทศ แทนที่จะเป็นการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางส่วนเพื่อบางประเทศ”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: