×

เปลี่ยนความหลงใหลให้เป็นการลงทุนไปกับ เยาวณี นิรันดร ผู้คร่ำหวอดในแวดวง Passion Investment

27.06.2021
  • LOADING...
เยาวณี นิรันดร Passion Investment

หนึ่งในหลักการลงทุนที่ดีคือต้องรู้จักการกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนหลายรูปแบบ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตลาดการลงทุนทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก ไม่เว้นแม้แต่ตลาดทองคำที่เคยเป็น Safe Haven ของนักลงทุน ทำให้ Passion Investment หรือการลงทุนในสิ่งที่รัก สิ่งที่หลงใหล กลายเป็นตัวเลือกใหม่ที่น่าสนใจ เพราะแม้จะยังไม่ได้กำไรในรูปแบบตัวเงิน แต่ก็ได้ความสุขที่ได้เป็นเจ้าของไปพลางๆ

 

มูลค่าในตลาด Passion Investment ของโลกสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ กระจายอยู่ในสิ่งของน่าสะสม ทั้งกระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องประดับ รถยนต์ นาฬิกา งานศิลปะ ไวน์ และอื่นๆ อีกมากมาย แม้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างในปี 2020 ของสะสมหลายประเภทยังมีมูลค่าปรับตัวสูงขึ้น เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม Hermes Birkin มีมูลค่าสูงขึ้นถึง 17% ไวน์สูงขึ้น 11% รถคลาสสิกสูงขึ้น 6% จากการรายงานของ The Wealth Report 2021 โดย Knight Frank บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนชื่อดังระดับโลก แสดงให้เห็นว่าตลาดของสะสมยังคงน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนทั้งเก่าและใหม่

 

ถ้าพูดถึงแวดวง Passion Investment ในเมืองไทย ชื่อของ เยาวณี นิรันดร ผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรู​ว์ส จะต้องเป็นชื่อที่หลายคนนึกถึง เพราะเธอคือหนึ่งในผู้ริเริ่มให้บริษัท คริสตี้ส์ อ๊อกชั่น บริษัทการประมูลชื่อดังระดับโลกเข้ามาเปิดในประเทศไทย และยังเป็นนักสะสมงานศิลปะตัวยงจนเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในชื่อ 129 Art Museum ที่เขาใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษในคลาสเกี่ยวกับ Passion Investment ในเมืองไทย ครั้งนี้เธอจะมาให้ความกระจ่างสำหรับผู้ที่เริ่มสนใจลงทุนประเภทนี้

 

Passion Investment vs. Investment 

“Passion Investment เป็นการลงทุนที่เกิดจากความรักและความหลงใหล คือจะต้องชอบของที่จะซื้อมาจริงๆ การลงทุนในหุ้นหรือการลงทุนธรรมดาเราอาจจะไม่ได้รักในหุ้นตัวนี้ อยากได้กำไร ส่วน Passion Investment ต้องเห็นแล้วรัก หลงใหล อยากได้มันมาอยู่กับเรา” เยาวณีเปิดบทสนทนาเพื่อให้เห็นความแตกต่างของการลงทุนทั่วไปและการลงทุนจากความหลงใหล 

 

“การลงทุนทั่วไปก็คือการที่คุณเอาเงินไปลงทุน เงินไปอยู่กับคนอื่นหรืออยู่ที่อื่น มันไม่ได้มีความสุขเป็นสิ่งตอบแทน ต้องคอยดูพอร์ต เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงอยู่อย่างนั้น ถึงขึ้นมันก็ยังถอนเงินออกมาใช้ไม่ได้ เวลาลงก็มีความเป็นกังวล แต่ Passion Investment เป็นอะไรที่เราได้ชื่นชม เช่น เราซื้อภาพศิลปะ เราเอามาแขวนที่บ้านได้ แล้วก็เกิดความสุขทางใจประกอบกันไปด้วย” 

 

 

เพราะความชอบความหลงใหลตีเป็นมูลค่าได้ยาก บ่อยครั้งการลงทุนประเภทนี้ก็ให้ผลตอบแทนเป็นกำไรด้วยสถิติที่น่าสนใจ อย่างภาพวาดของ แอนดี้ วอร์ฮอล ในปี 2001 มีราคาเพียง 3.6 ล้านดอลลาร์ แต่ในปี 2007 มีราคาสูงถึง 23.6 ล้านดอลลาร์ หรือมูลค่าสูงขึ้นถึง 20 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ซึ่งการตัดสินใจถูกแค่ครั้งเดียวก็อาจทำให้ได้เงินที่ใช้ได้ไปตลอดชีวิต

 

“ในบางช่วงราคาของ Passion Investment ดีดขึ้นไปสูงกว่าดัชนี S&P 500 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะพูดว่างานทุกชิ้นมีราคาสูงกว่าก็ไม่ใช่ จะต้องเป็นงานที่เราเลือก เหมือนกับที่เราเลือกหุ้น ถ้าเลือกงานเป็น เลือกงานที่ดี เลือกงานที่ถูกเวลา ก็ชนะ S&P 500 ได้”

 

ค้นหาความหลงใหลเพื่อการลงทุน

เมื่อรู้จัก Passion Investment แล้ว คำถามต่อมาก็คือ อะไรคือสิ่งที่เราหลงใหลและอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข ซึ่งในข้อนี้ก็เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล 

 

“Passion Investment ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ดิฉันจะชอบภาพเขียน ประติมากรรม แต่ก็มีหลายๆ คนที่ชอบเพชร พลอย นาฬิกา ของเล่นโบราณ รถเก่า ภาพถ่าย เฟอร์นิเจอร์โบราณ เครื่องดนตรีโบราณ มีหลากหลายมาก สำหรับผู้หญิงก็อยากแนะนำพวกเครื่องประดับ เพชร พลอย ส่วนใหญ่ราคาก็ขึ้นตลอด ต้องอาศัยการค้นคว้าว่าควรจะซื้ออย่างไร ส่วนความสุขก็คือได้ใส่ด้วย สำหรับคุณผู้ชายเห็นหลายๆ คนก็สะสมนาฬิการุ่นลิมิเต็ดเอดิชัน หรือเลือกรุ่นดีๆ ราคาก็จะขึ้น

 

“ถ้าเป็นนาฬิกา เรื่องยี่ห้อสำคัญ จำนวนการผลิตก็สำคัญ เพชรบางเม็ด เช่น เพชรของอลิซาเบธ เทย์เลอร์ เมื่อเอากลับมาประมูล การที่มีชื่อว่าเคยเป็นของใคร ส่วนหนึ่งก็ทำให้ราคาสูงขึ้นมาได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเนื้องานต้องดีด้วย”

 

ทำความรู้จัก Auction Houses เพิ่มมูลค่าของสะสมด้วยการประมูล 

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ Auction Houses หรือบริษัทการประมูลชื่อดังอย่าง Christie’s หรือ Sotheby’s บริษัทเหล่านี้มีอายุร่วม 100 ปี จึงเชี่ยวชาญเรื่องการประมูลและมีลูกค้าในมือจำนวนมาก จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักสะสมที่ต้องการจะปล่อยของมีค่าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นกว่าเดิม 

 

 

“Auction Houses เป็นเหมือนตัวกลางซื้อขายของสะสม ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ จิวเวลรี นาฬิกา หรือของสะสมอะไรก็ได้จากผู้ที่ต้องการจะขายมาให้กับผู้ที่ต้องการซื้อ บริษัทประมูลจะคิดเปอร์เซ็นต์ระหว่างกลางในการดำเนินการ บริษัทพวกนี้มีมาเป็นร้อยปี ทุกคนที่อยากจะขายของสำคัญๆ จะรู้เลยว่าต้องติดต่อไปทางบริษัทเหล่านี้ ซึ่งจะมีลูกค้าอยู่ในมืออยู่แล้ว ทางบริษัทจะทำแค็ตตาล็อกแล้วส่งให้ลูกค้าทั้งหมด วันงานจะจัดนิทรรศการ เปิดให้คนเข้ามาดูได้ อันนี้เป็นกลไกของตลาดการประมูล ซึ่งนักสะสมจะทราบดี อย่างงานประมูลของ Christie’s ที่ทำ World Record ไว้จะเป็นรูปของ ลีโอนาร์โด ดา วินชี ชื่องานว่า Salvator Mundi ประมูลออกไปตั้ง 450 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท ตอนนี้ก็ไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ที่อาบูดาบี” 

 

Passion Investment 101 สำหรับนักลงทุนมือใหม่

“ถามตัวเองก่อนว่าเราชอบอะไร แล้วก็ศึกษาสักพักให้รู้ว่าเราชอบจริงหรือเปล่า เรารู้จริงหรือยังที่จะเริ่มลงทุนกับมัน” นี่คือคำแนะนำแรกของเยาวณีสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ต้องการเข้ามาสู่การลงทุนในของสะสม

 

“Passion Investment ที่คิดแต่การลงทุนจะเอากำไรอย่างเดียว มันไม่น่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่ามันจะทำให้ความคิดบิดเบี้ยวไป คุณอาจจะตัดสินใจผิดแล้วก็อยู่กับสิ่งที่ไม่ได้รักไม่ได้ชอบเลย อาจอยากจะปล่อยเร็วในเวลาที่ผิด จึงแนะนำว่าขอให้รักให้ชอบก่อน เพราะเราจะต้องอยู่ใช้เวลาอยู่กับมัน

 

“การลงทุนประเภทนี้ต้องมีระยะเวลา เพราะฉะนั้นถ้าใจร้อนคุณไปลงทุนอย่างอื่นดีกว่า บางคนถือ 5-6 ปี ราคาขึ้นเป็น 10 เท่าก็มี แต่บางคนอาจจะต้องอาศัยเวลามากกว่านั้น ดังนั้นเราต้องมีใจรัก ชอบก่อน ผลประโยชน์ที่ได้ตามมาเป็นเรื่องของผลพลอยได้ แต่ถ้าลงทุนเป็นทั้งความชอบด้วย ทั้งลงทุนในสิ่งที่ถูกต้องด้วย อันนี้คือสิ่งที่ดีที่สุด” เยาวณีปิดท้าย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า  

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X