ค่าเงินจ๊าดในเมียนมาที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนหน้านี้ กดดันราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่อเนื่อง วันนี้ชาวเมียนมาต้องเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต เมื่อผู้คนอพยพหนีภัยสงครามย้ายถิ่นฐานเข้ามาหางานในเมืองหลวงกลับต้องเผชิญราคาบ้านในย่างกุ้งที่พุ่งสูง ท่ามกลางพายุยางิที่กำลังถล่มบ้านเรือน 65,000 หลังจมบาดาล
รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้สงครามกลางเมืองในเมียนมายังขยายวงกว้าง ทำให้ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ชนบทอพยพไปยังเมืองหลวงกรุงย่างกุ้ง ส่งผลให้ราคาบ้านในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้วยการต่อสู้ระหว่างระบอบการปกครองทหารของเมียนมาและกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ ผู้คนที่หลบหนีจากเมืองต่างๆ ที่กำลังเผชิญความขัดแย้งกำลังหลั่งไหลไปยังมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ทว่าในระยะหลังชาวมัณฑะเลย์จำนวนมากต้องย้ายไปยังย่างกุ้ง
โดยเมื่อไม่นานมานี้ เจ้าของห้องชุดเช่าที่ Star City คอมเพล็กซ์หรูชานเมืองย่างกุ้ง บอกกับ Nikkei Asia ว่า นักธุรกิจชาวอินเดียต้องตกใจกับการยกเลิกคำขอสัญญาเช่าระยะเวลา 1 ปีที่เหลือเวลาอีกเกือบ 6 เดือน ซึ่งเจ้าของห้องชุดต้องการขายด่วน เพราะมีผู้ซื้อรายใหม่ที่มาจากมัณฑะเลย์ในภาคกลางของเมียนมาเสนอราคาสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ปรากฏการณ์แรงงานต่างด้าว เมื่อเมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ทะลักไทย กำลังบอกอะไร ทำไมคนในถึงอยากออก คนนอกถึงอยากเข้า?
- 3 ปี การเดิมพันอิสรภาพกับความบอบช้ำของ ‘เศรษฐกิจ (ชาว) เมียนมา’
- จากย่างกุ้งสู่กรุงเทพฯ! ร้านอาหาร-ร้านค้าหนีตายจากเมียนมา ขยายสาขาในไทย รับอานิสงส์ลูกค้าชาติเดียวกัน
ราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้นยังเป็นผลมาจากประชาชนที่เร่งเปลี่ยนการลงทุนจากสินทรัพย์ทั่วไปมาเป็นอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากต่างกังวลว่ามูลค่าสกุลเงินของเมียนมาจะลดลงอีก รวมถึงความโปร่งใสของเงินฝากในธนาคาร
ตามรายงานของนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ iMyanmarHouse ระบุว่า ราคาคอนโดมิเนียมมาตรฐานในย่างกุ้งขายที่ราคาประมาณ 500 ล้านจ๊าด (91,000 ดอลลาร์ ราว 3 ล้านบาท)
ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 70% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2021 หลังกองทัพเข้าควบคุมรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ราคาที่สูงขึ้นเป็นประโยชน์ต่อบริษัทใหญ่ๆ เช่น Yoma Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำของเมียนมา ด้วยยอดขายคอนโด Star City ที่แข็งแกร่ง ทำให้ Yoma Strategic Holdings ซึ่งเป็นสมาชิกหลักของกลุ่มธุรกิจกลับมามีกำไรในเดือนมีนาคม 2024
เจ้าของธุรกิจมองเห็นการหลั่งไหลเข้ามาของผู้คนในย่างกุ้ง ผู้บริหารรายหนึ่งคาดเดาว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าและยอดขายนั้นขับเคลื่อนโดยการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภค หากไม่มีปัจจัยอื่นที่ชัดเจนท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าและอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง
วันเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐบาลเมียนมา รายงานคำกล่าวของโฆษกรัฐบาล ซอ มิน ตุน เมื่อคืนวันอาทิตย์ (15 กันยายน) ว่า “ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินภารกิจกู้ภัยและฟื้นฟูอุทกภัยในประเทศ” พร้อมเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดดังกล่าว ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 113 ราย มีผู้พลัดถิ่นอย่างน้อย 320,000 ราย และยังมีผู้สูญหายอีก 64 ราย
เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้ายจากพายุไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มเอเชียในปีนี้ คร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคนในเวียดนามและไทย และน้ำท่วมจากแม่น้ำที่ท่วมขังได้ท่วมเมืองต่างๆ ในทั้งสองประเทศ
ส่งผลให้ในขณะนี้ เศรษฐกิจในเมียนมาตกอยู่ในสภาวะอันวุ่นวายอีกครั้งนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 และความรุนแรงยังคงกระจายวงกว้าง
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่า ฝนที่ตกหนักส่งผลกระทบต่อกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงเป็นหลัก รวมไปถึงมัณฑะเลย์ มะกเว และพะโค รัฐฉาน รัฐมอญ รัฐกะยา และรัฐกะเหรี่ยงทางตะวันออกและทางใต้
OCHA ระบุอีกว่า “ขณะนี้เมียนมาตอนกลางได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมวลน้ำและน้ำในลำธารจำนวนมากไหลลงมาจากเนินเขา”
มีรายงานผู้เสียชีวิตและดินถล่มเพิ่มขึ้น ซึ่งการรวบรวมข้อมูลทำได้ยาก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหาย สายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตขัดข้อง
อย่างไรก็ตามสื่อของรัฐยังรายงานด้วยว่าเขื่อน 5 แห่ง เจดีย์ 4 แห่ง และบ้านเรือนมากกว่า 65,000 หลัง ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
ชาวเมียนมาราว 1 ใน 3 จาก 55 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่หน่วยงานหลายแห่งอย่างคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าถึงและมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Spotlight/Myanmar-Crisis/Yangon-home-prices-surge-as-Myanmar-war-drives-flight-to-safety
- https://asia.nikkei.com/Economy/Natural-disasters/Myanmar-s-flooding-death-toll-rises-to-113-government-says