×

‘ยามาฮ่า ปลูกป่ามุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ’ โครงการคืนชีวิตให้ผืนป่าเสื่อมโทรม 800 ไร่ในกำแพงเพชรของยามาฮ่า

โดย THE STANDARD TEAM
02.10.2023
  • LOADING...
ยามาฮ่า ปลูกป่า

เมื่อกล่าวถึง ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ มั่นใจว่าองค์กรหลายแห่งต่างคุ้นเคยกับคำคำนี้เป็นอย่างดี จากนโยบาย SDGs 17 ที่องค์การสหประชาชาติประกาศแนวทางมาเพื่อขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมให้ทำตามเพื่อช่วยกันลดภาวะโลกร้อน ก่อนที่โลกจะถูกทำร้ายไปมากกว่านี้

 

บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และกลุ่มบริษัทในเครือยามาฮ่า คือหนึ่งในองค์กรที่ผลักดันเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นและจริงจังตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ชัดจากการกำหนดกลยุทธ์หลักด้านสิ่งแวดล้อม 4 ข้อที่ยามาฮ่าดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

 

  1. การตั้งคณะกรรมการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในองค์กรตั้งแต่ปี 1996 
  2. การนำ 4 หลักการจัดการเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น การลดการใช้พลังงาน, การใช้พลังงานหมุนเวียนโซลาร์เซลล์, การทดแทนเครื่องจักรด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้พลังงานต่ำ และการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 
  3. การวิเคราะห์ค่าพลังงานอย่างแม่นยำเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4. การปลูกฝังความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้พนักงานในองค์กร

 

 

ล่าสุด บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด จับมือกับจังหวัดกำแพงเพชร กรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรม ‘ยามาฮ่า ปลูกป่ามุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ’  กิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อสร้างผืนป่าแห่งใหม่ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมกว่า 800 ไร่ ที่บ้านลานกระทิง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ถือเป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์รายแรกของไทยที่เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ

 

 

เป็นเช้าที่สดใสเป็นพิเศษ เพราะในวันงาน THE STANDARD ได้ติดตามกลุ่มไทยยามาฮ่ามอเตอร์ไปกำแพงเพชรด้วยเช่นกัน นอกจากทีมผู้บริหารที่นำโดย ทัตสึยะ โนซากิ ประธานกรรมการบริหาร, พงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหาร และคณะผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครือ ในงานนี้ยังมีพนักงานของไทยยามาฮ่ามอเตอร์ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ชาวบ้านจังหวัดกำแพงเพชร และพี่น้องสื่อมวลชนมาร่วมงานอย่างคับคั่ง 

 

 

เรามีโอกาสได้พบกับ พงศธร เอื้อมงคลชัย และสนทนาสั้นๆ เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมของไทยยามาฮ่ามอเตอร์ พงศธรเล่าว่า “เป้าหมายของยามาฮ่าทั่วโลก เราตั้งเป้าว่าในปี 2050 เราจะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน โครงการปลูกป่าร่วมกันที่เราทำวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายใหม่ วันนี้เรามาปลูกป่าร่วมกันเพื่อขยายพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูป่าใหม่ในอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เราใช้เวลาทบทวนอยู่นานทีเดียวก่อนที่จะเลือกสถานที่นี้ เพราะเราต้องมั่นใจว่าเราจะทำให้ป่าผืนนี้ยั่งยืนและเป็นรูปธรรมจริงๆ”

 

และไม่ใช่ว่าปลูกป่าวันนี้เสร็จแล้วจบ โครงการนี้ยังมีหน่วยงานตรวจสอบว่าการปลูกป่าคืบหน้าดีหรือไม่ ยามาฮ่าไทยยังมีการร่วมมือกับกรมป่าไม้เพื่อมาซ่อมแซมให้มั่นใจว่าเราได้ผืนป่าที่สมบูรณ์ต่อไป

 

ทัตสึยะ โนซากิ ประธานกรรมการบริหาร พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง บจก.ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ ร่วมกับ บรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ บุญช่วย หอมยามเย็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร และประชาชนในพื้นที่ร่วมทำการปลูกต้นไม้จำนวน 800 ไร่ ณ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร

 

“จากการคำนวณเชิงวิทยาศาสตร์ เราพบว่าต้นไม้ที่เราปลูกในโครงการนี้จะลดคาร์บอนได้ถึง 4,289 ตัน ภายใน 10 ปี และจากการศึกษาเบื้องต้น หลังจากปลูกต้นไม้จนเติบใหญ่ภายใน 3-5 ปี ต้นไม้เหล่านี้ก็จะช่วยโลกได้แล้ว”

 

พงศธรยังเปิดเผยว่า นับแต่นี้ไทยยามาฮ่ามอเตอร์จะบรรจุโครงการปลูกป่าแบบนี้ลงในแผนความยั่งยืนของบริษัท ในอนาคตจะมีการขยายโครงการให้สามารถปลูกป่าได้มากถึง 1,500 ไร่เลยทีเดียว

 

“ไทยยามาฮ่ามอเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก และในเวลาที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หลายหน่วยงานจึงมีเจตจำนงที่จะสร้างความเป็นกลางด้านคาร์บอน ไทยยามาฮ่ามอเตอร์เองก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนให้เร็วที่สุด มีมาตรการเกิดขึ้นมากมาย และโครงการปลูกป่าในวันนี้ เราก็เชื่อว่าจะส่งผลเป็นรูปธรรมและสำเร็จจริง”

 

 

“ในแผนระยะยาว ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ยังตั้งใจจะดำเนินการใน 3 หมวดหมู่ หมวดหมู่แรกคือการผลิตสินค้า เราจะพัฒนาสินค้าให้มีการปล่อยคาร์บอนน้อยลง อย่างก่อนหน้านี้ เราก็เป็นแบรนด์รถจักรยานยนต์รายแรกที่พัฒนารถที่มีระบบ Hybrid และมีการนำไฟฟ้ามาช่วยขับเคลื่อนรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ซึ่งนี่ก็อยู่ในแผนต่อไปที่เราจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น

 

“หมวดหมู่ที่ 2 คือการพัฒนาการผลิต เราจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งผู้บริหารทุกคนก็รับทราบถึงจุดนี้ และจะทำให้เป็นรูปธรรมในที่สุด

 

“หมวดหมู่ที่ 3 คือการสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ทุกครั้งที่ได้ทำโครงการเช่นนี้แล้วมีข่าวออกไปในสื่อ จะเป็นการสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้สังคมเช่นกัน สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะมาช่วยกันสร้างสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนร่วมกันได้” พงศธรทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X