ประธาน Yamaha มองไฮโดรเจนเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่สุด เพราะการออกแบบเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและไฮโดรเจนนั้นคล้ายคลึงกัน รวมทั้งช่วยให้ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ และตลาด EV ในญี่ปุ่นยังคงอยู่ได้ ท่ามกลางเสียงสะท้อนถึงราคาและศักยภาพของไฮโดรเจน ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมพลังงาน
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Yoshihiro Hidaka ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Yamaha Motor เปิดเผยว่า Yamaha สนับสนุนและมุ่งวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนป้อนเข้าสู่ตลาดให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับพลังงานสะอาดของอุตสาหกรรมยานยนต์ และเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดย Yamaha จะพัฒนาให้เป็นหนึ่งในแหล่งเชื้อเพลิงหลักในอนาคต
พร้อมทั้งผลักดัน ‘เชื้อเพลิงไฟฟ้า’ ที่เกิดจากการสังเคราะห์ไฮโดรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากการออกแบบเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ไฮโดรเจน หรือเชื้อเพลิงอิเล็กทรอนิกส์มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้ผู้ผลิตและซัพพลายเออร์จำนวนมากที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่นยังคงอยู่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มิติใหม่วงการรถยนต์! ครั้งแรกของไทย Toyota ผลิตไฮโดรเจนจากมูลไก่และเศษอาหารจากฟาร์ม CP
- โตโยต้า-ซีพี กรุ๊ป จับมือผลิต ‘ไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพ’ เดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในไทย
“ที่สำคัญมองว่าเมื่อทิศทางพลังงานและเทรนด์โลกเคลื่อนไปในทิศทางนี้ Yamaha จึงพร้อมสนับสนุนไฮโดรเจนอย่างจริงจัง”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Yamaha Motor กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นซึ่งมีแรงงานกว่า 5.5 ล้านคนในประเทศ แต่ละค่ายรถต่างมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงชาวญี่ปุ่นและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สันดาปอย่าง Toyota Motor ซึ่งมีแนวคิดพัฒนาไฮโดรเจนมานาน แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์
เช่นในการประชุมสุดยอด G7 ที่ฮิโรชิมาในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Yamaha ก็มีความพยายามผลักดันความร่วมมือแต่มักถูกวิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใช้แบตเตอรี่อย่าง Tesla และ BYD ของจีนกำลังมาแรง
“ในบรรดาผู้ผลิตรถสองล้อของญี่ปุ่นแทบไม่มีการทดสอบไฮโดรเจนเลยนอกจากเทคโนโลยีไฟฟ้า ดังนั้นเราจึงพร้อมจะเป็นผู้นำและสร้างศูนย์ทดสอบเทคโนโลยีแบตเตอรี่ไฮโดรเจน” Hidaka กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่ผ่านมา Yamaha ถือเป็นผู้พัฒนาเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนให้กับ Toyota Corolla H2 Concept ซึ่งถือเป็นรถแข่งที่ใช้ไฮโดรเจนเหลวคันแรกของโลก
รวมทั้ง Yamaha และผู้ผลิตรถจักรยานยนต์อีก 3 ราย ได้แก่ Honda Motor, Suzuki Motor และ Kawasaki Motors ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลให้จัดตั้งสมาคมวิจัยทางเทคโนโลยีเพื่อร่วมกันพัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนสำหรับยานยนต์ขนาดเล็ก และ Toyota จะแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับไฮโดรเจนให้กับสมาคม
ความท้าทายพลังงานไฮโดรเจน
เขากล่าวอีกว่าแม้ไฮโดรเจนมีข้อเสียคือติดไฟได้และยังไม่ประหยัดเชื้อเพลิง หมายความว่าทั้งแพงและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนจะต้องชาร์จบ่อยขึ้น แต่ข้อดีคือลดคาร์บอนและสามารถเติมได้เร็วกว่ามาก เพราะการเผาไหม้ไฮโดรเจนในเครื่องยนต์ยังคงเป็นเทคโนโลยีเฉพาะ และเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าและสามารถใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าได้
ด้านสำนักข่าว CNBC รายงานว่า ขณะนี้วงการพลังงานถกเถียงกันเกี่ยวกับศักยภาพของไฮโดรเจน รวมทั้งราคาต้นทุนถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรม แต่โลกไม่อาจปฏิเสธไฮโดรเจนได้เพราะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แม้แต่นายกรัฐมนตรี Olaf Scholz ของเยอรมนี ยังเรียกเทคโนโลยีนี้ว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดสำหรับโลกที่เป็นกลางต่อสภาพอากาศ และเป็นกุญแจสำคัญในการลดคาร์บอนในเศรษฐกิจของเรา
ส่วนโลกของธุรกิจอย่าง Siemens Energy ก็กำลังมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นไฮโดรเจนสีเขียว
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเมื่อพูดถึงไฮโดรเจนสีเขียวต้นทุนการผลิตมักเป็นประเด็นสำคัญเพราะต้องลงทุนสูง รวมถึงการขนส่งไฮโดรเจนจากแหล่งผลิตไปยังผู้ใช้เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันที่ต้องพิจารณา อนาคตหากมีผู้เล่นมากขึ้นเป็นไปได้ว่าอาจได้เห็นการแข่งขันราคามากขึ้นตามไปด้วย
อ้างอิง: