THE STANDARD ลงพื้นที่พูดคุยและบันทึกภาพกลุ่มคนที่เดินทางมาขอพรยายแฟง ที่วัดคณิกาผล ในวันวาเลนไทน์ พบว่าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น วัยทำงาน มากกว่าผู้สูงอายุ เรื่องที่ขอมีทั้งเรื่องการเรียน การงาน และความรัก การขอพรหรือการเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติของคนยุคใหม่ที่เติบโตมากับวิทยาศาสตร์มีแนวคิดที่น่าสนใจ
การเดินทางไปขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เหมือนได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ หรือครอบครัว เราไปขอให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับตัวเองและคนที่เรารัก หรือบางครั้งเราไปเพื่อสร้างกำลังใจสำหรับบางเรื่อง ไม่รู้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราขอจะสามารถช่วยเราได้จริงๆ ไหม แต่อย่างน้อยก็สร้างความมั่นใจให้มากกว่าการไม่ทำอะไรเลย
สำหรับการขอพรเรื่องความรัก เป็นอีกทางเลือกของคนที่ต้องการเป็นที่รัก แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ การขอพรจากสิ่งที่เป็นตัวแทนความเชื่อมีพลังเหนือธรรมชาติ ถูกทำขึ้นและส่งต่อกันมาจนถึงสังคมปัจจุบัน
บางคนขอให้ตัวเอง ขอให้คนที่เรารักและรักเรา ขอในสิ่งที่คิดที่ปรารถนา ส่วนประกอบในการขอพรจึงมีความรักเป็นส่วนผสมร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง
การขอพรเรื่องความรักในประเทศไทยอาจแตกต่างไปจากบางประเทศ ส่วนมากจะมีของกำนัลหรือเงื่อนไขบางอย่าง
สำหรับ วัดคณิกาผล ชื่อเดิมคือ วัดใหม่ยายแฟง เป็นวัดเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2376 เป็นอีกสถานที่ที่ได้รับการยอมรับจากสายมูเตลูในเรื่องการขอพรด้านความรัก การงาน และการเงิน
คณิกาผล แปลว่า ผลจากหญิงงามเมือง ที่มาของชื่อวัดเนื่องจากยายแฟงเป็นเจ้าของกิจการ Sex Worker ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงรวบรวมเงินจากคณิกาหรือโสเภณีเพื่อมาสร้างวัด