บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล หรือ XPG ประกาศแผนธุรกิจหลังประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนและได้รับเงินระดมทุนกว่า 7.1 พันล้านบาท โดยเตรียมเชื่อมต่อโลกการเงินปัจจุบันสู่โลกดิจิทัลหรือ Digital Financial Service ล่าสุดอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตประกอบกิจการด้านดิจิทัล 4 ใบ ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตในสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้าอย่างช้า ในส่วนของผลประกอบการ XPG มั่นใจว่ารายได้และกำไรปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และรายได้ปี 2565 โตก้าวกระโดด
ระเฑียร ศรีมงคล ประธานกรรมการ XPG เปิดเผยว่า ปีนี้นับเป็นก้าวสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเอ็กซ์สปริง ทั้งการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) และการได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน จนสามารถเพิ่มทุนได้สูงถึง 7,111 ล้านบาทภายในเวลาไม่นาน รวมถึงการร่วมลงทุนจากพันธมิตร เช่น บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ใน Digital Financial Service
ปัจจุบันเอ็กซ์สปริงประกอบด้วย 5 กลุ่มธุรกิจการเงิน ได้แก่ ธุรกิจหลักทรัพย์ โดย บล.กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด, ธุรกิจจัดการกองทุน โดย บลจ.เอ็กซ์สปริง จำกัด, ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด, ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยบริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด และธุรกิจจัดการเงินลงทุน
การเพิ่มทุนทำให้ XPG มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีสภาพคล่องทางการเงินสูง ด้วยเงินทุนจากสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม 3,094 ล้านบาท และสัดส่วนการเพิ่มทุนอีก 7,111 ล้านบาท ทำให้เอ็กซ์สปริงมีเงินทุนในมือกว่า 10,000 ล้านบาท ที่จะนำไปพัฒนาธุรกิจใน 3 ด้าน ประกอบด้วย
- ธุรกิจดิจิทัล โดยจะมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มการลงทุนรูปแบบดิจิทัล และสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจสำหรับบริการด้านการเงิน
- ธุรกิจปัจจุบัน ด้วยการขยายธุรกิจหลักทรัพย์และให้บริการโซลูชันทางการเงินแบบครบวงจรแก่ลูกค้า การสนับสนุนการลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) การขยายธุรกิจบริหารจัดการกองทุนและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงและความสามารถด้านเทคโนโลยี
- ชำระคืนเงินกู้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
โดย XPG มองเห็นเทรนด์การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจการเงินดิจิทัลทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกมูลค่ากว่า 40 ล้านล้านบาท (ราว 1.3 ล้านล้านดอลลาร์) ที่มีโอกาสเติบโตสูง และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศได้อีกมากในอนาคต ซึ่ง XPG วางเป้าการเติบโตไปพร้อมตลาดโลกผ่านสินทรัพย์ที่จะมาแทนที่เงินสกุลต่างๆ เช่น คริปโตเคอร์เรนซี และการซื้อขายทองคำผ่านระบบดิจิทัล
“แค่ตลาด Bitcoin ตลาดเดียวก็โตกว่า 24 ล้านล้านบาท (ราว 8 แสนล้านดอลลาร์) รวมทั้งในตลาดแพลตฟอร์มสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่มีขนาดกว่า 11.7 ล้านล้านบาท (ราว 3.9 แสนล้านดอลลาร์) และ Decentralized Finance ที่มีขนาด 1.35 ล้านล้านบาท (ราว 45,000 ล้านดอลลาร์) สะท้อนว่าโอกาสสร้างการเติบโตในโลกการเงินดิจิทัลมีสูงมาก”
นอกจากนั้น ยังมี Utility Token และ Security Token ที่เป็นการเงินดิจิทัลที่มีการเติบโตสูงเช่นกัน ด้วยขนาดตลาดในปัจจุบันที่สูงถึง 1.95 ล้านล้านบาท (ราว 64,000 ล้านดอลลาร์) ทั้งนี้ ทั่วโลกยังนำโทเคนดิจิทัลและระบบบล็อกเชนมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ โทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงกับสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น ทอง ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก (Disruption) ที่จะนำมาสู่โอกาสทางธุรกิจของ XPG อีกมากมายในอนาคต
ระเฑียรกล่าวว่า ผลประกอบการของ XPG ในครึ่งแรกของปี 2564 ถือว่าน่าพอใจ โดยมีรายได้รวมส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลงทุนแล้ว 167 ล้านบาท สูงกว่ารายได้รวมส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลงทุนของทั้งปี 2563 ที่มีจำนวนรวม 141 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 791% ซึ่งนับเป็นสัญญาณบวก และทำให้เชื่อมั่นว่าแผนรุกธุรกิจที่แข็งแกร่งในช่วงต่อจากนี้จะทยอยส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีรายได้เติบโตก้าวกระโดดได้ในปี 2565
โดยภายหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ XPG มี 3 จุดแข็ง คือ พันธมิตร เงินทุนที่แข็งแกร่ง และการมี 17 ไลเซนส์ในมือ และขณะนี้ XPG อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตทำธุรกิจเพิ่มเติมอีก 4 ไลเซนส์ ซึ่งคาดว่าจะได้ในปลายปีนี้หรือไม่เกินต้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยทำให้การสร้างแพลตฟอร์มมีความสมบูรณ์มากขึ้น
จากนี้ XPG จะเดินหน้าตามแผนธุรกิจ Transformation & Leap Forward เต็มรูปแบบ เพื่อก้าวสู่ Digital Financial Service โดยตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด (XSpring AMC) บริษัทย่อยของเอ็กซ์สปริง แคปปิตอล ได้ร่วมมือกับ บมจ.แสนสิริ หรือ SIRI โดยร่วมลงทุนในกองสินทรัพย์ที่ประกอบด้วยลูกหนี้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และพักอาศัย และสัญญาหลักประกันซึ่งประกอบไปด้วยที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (NPL) เพื่อนำมาบริหารสินทรัพย์ต่อยอดธุรกิจและสร้างรายได้เพิ่มในระยะยาว โดยได้เริ่มดำเนินการแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
รวมทั้งจะรุกธุรกิจ Digital Finance มากขึ้น ผ่านเอ็กซ์สปริง ดิจิทัล ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลในประเทศไทย (ICO Portal) ออก ICO 2 ตัวในปีนี้ คือ 1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ (SiriHub Investment Token) ซึ่งเป็น Real Estate-backed ICO ตัวแรกของไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่าจะเสนอขายแก่นักลงทุนในเดือนหน้า
และ 2. Ready to use Utility Token ที่เตรียมเปิดตัวเป็นครั้งแรกในวงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์และ EV Charging Ecosystem ของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ ชาร์จ แมเนจเม้นท์ (SHARGE) ผู้ให้บริการเบอร์หนึ่งด้านการให้บริการชาร์จรถ EV ครบวงจร รวมถึงการเปิดรับคริปโตเคอร์เรนซีในการซื้อที่อยู่อาศัยและชำระค่าส่วนกลางของแสนสิริทุกโครงการ ครั้งแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย