×

สำรวจหุ้น XPG ร่างใหม่ของ ZMICO มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ทำไมราคาหุ้นจึงวิ่งกว่า 900% ใน 4 เดือน จนตลาดหลักทรัพย์ต้องติดป้ายเตือน

29.07.2021
  • LOADING...
XPG

หุ้น บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล หรือ XPG ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัท และการประกาศเพิ่มทุนเกือบ 5 เท่าของทุนจดทะเบียนเดิม โดยราคาตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 860.71% ส่วนราคาหุ้น 120 วันย้อนหลังปรับเพิ่มขึ้นมากว่า 917.78% 

 

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (29 กรกฎาคม) ราคาหุ้น XPG ยังคงปรับขึ้นร้อนแรง โดยปิดการซื้อขายที่ 4.46 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 15.54% มูลค่าการซื้อขาย 816,01 ล้านบาท 

 

การพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงของหุ้น XPG ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องออกมาเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุน เพราะสภาพการซื้อขายปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาหุ้นเริ่มสูงขึ้นจนมีอัตราส่วนกำไรต่อราคาต่อหุ้น (P/E) อยู่ที่ 324 เท่า และมีราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) อยู่ที่ 5.09 เท่า 

 

นอกจากนี้ XPG ยังเป็นหุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 3 ของทางตลาดหลักทรัพย์ ทำให้โบรกเกอร์ที่เป็นบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ คือ 

 

  1. ให้ผู้ลงทุนทุกประเภทที่ต้องการซื้อหลักทรัพย์ XPG ต้องวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ 
  2. บริษัทสมาชิกห้ามนำหลักทรัพย์ XPG คำนวณเป็นวงเงินในการซื้อขายในทุกประเภทบัญชี 

 

  1. บริษัทสมาชิกห้ามหักกลบค่าซื้อและค่าขายหลักทรัพย์ XPG ในวันเดียวกัน (ห้าม Net Settlement)

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาไปย้อนดูการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ XPG ตั้งแต่ช่วงที่ราคาเริ่มปรับเพิ่มขึ้น โดยพบว่าเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 มีการแจ้งเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก บมจ. ซีมิโก้ แคปปิตอล หรือ ZMICO เป็น บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล หรือ XPG แต่ยังไม่ได้แจ้งเรื่องการดำเนินธุรกิจอื่นเพิ่มเติม

 

จากนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 XPG ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและมีมติอนุมติการเพิ่มทุนครั้งใหญ่จำนวน 7,613 ล้านหุ้น หรือราว 4.6 เท่า จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวนหุ้น 1,653 ล้านหุ้น 

 

โดยจัดสรรดังนี้ 

 

  1. จำนวน 5,378 ล้านหุ้น ให้ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นเพิ่มทุน ในราคา 0.50 บาท (XR 27 กรกฎาคม 2564)

 

  1. จำนวน 1,035 ล้านหุ้น ขาย PP ราคา 4.10 บาท ประกอบด้วย 
    • บมจ.แสนสิริ (SIRI) จำนวน 403 ล้านหุ้น 
    • มงคล ประกิตชัยวัฒนา (ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ใน KTC) จำนวน 363 ล้านหุ้น 
    • บริษัท วิริยะประกันภัย 268 ล้านหุ้น

 

โดยมีเงื่อนไขว่าหลังจากทั้ง 3 รายซื้อหุ้นเพิ่มทุน PP แล้ว จะได้สิทธิ์ในการเพิ่มทุน RO ที่สัดส่วน 1 หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นเพิ่มทุน ราคาหุ้นละ 0.50 บาท 

 

  1. จำนวน 1,199 ล้านหุ้น รองรับการปรับสิทธิ์วอร์แรนต์

 

  1. จำนวน 165 ล้านหุ้น เพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate)

 

ภายหลังการเพิ่มทุนนี้  

  • SIRI จะถือหุ้นประมาณ 1,209 ล้านหุ้น หรือ 15.88%
  • มงคล ประกิตชัยวัฒนา ถือหุ้นประมาณ 1,089 หรือ 14.30%
  • วิริยะประกันภัยถือหุ้นประมาณ 804 ล้านหุ้น หรือ 10.56%

 

ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ XPG 5 อันดับแรก (ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564) มีดังนี้

 

  1. Elevated Returns LLC 20.92%
  2. UBS AG SINGAPORE BRANCH 5.31%
  3. กมลกานต์ ศรีมงคล 4.53%
  4. ER MERRY WAY LP 3.63%
  5. CHINA TONGHAI SECURITIES LIMITED A/C CLIENT 2.97% 

 

สำหรับเงินระดมทุนจากการเพิ่มทุนราว 6,934 ล้านบาท มีแผนนำไปใช้ดังนี้ 

 

  1. ขยายการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องภายในปี 2564-2568 จำนวน 4,000 ล้านบาท

 

  1. พัฒนาและขยายธุรกิจต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันของกลุ่มบริษัท ได้แก่ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจลงทุนในสินทรัพย์หรือบริษัทที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายในปี 2564-2568 จำนวน 2,300 ล้านบาท 

 

  1. ชำระคืนเงินกู้ยืมในรูปของตั๋วแลกเงินบางส่วน และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทภายในไตรมาส 3/64 จำนวน 634 ล้านบาท 

 

สรุป ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของ XPG คือโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งจะมีทั้ง SIRI และวิริยะประกันภัยเข้ามาถือหุ้น และมีนักลงทุนบุคคลคือที่เชื่อมโยงไปถึงหุ้น KTC คือ มงคล ประกิตชัยวัฒนา

 

นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ จากแผนการเข้าลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องภายในปี 2564-2568 รวมจำนวน 4,000 ล้านบาท คิดเป็นการลงทุนเฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อปี ต่อเนื่อง 4 ปี 

 

“นักลงทุนมองหุ้น XPG ด้วยความคาดหวังในเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะนักลงทุนบางกลุ่มก็มองเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องไกลตัวและยังไม่พร้อมจะลงทุนเอง แต่ก็มีความสนใจ เมื่อมี บจ. ใดๆ ประกาศแผนว่าจะมีการลงทุนหรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับตลาดดิจิทัล ก็จะได้รับความสนใจทันที อย่างก่อนหน้านี้ก็มีหุ้น MVP และ BROOK ซึ่งสังเกตได้ว่าเมื่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลปรับเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นเหล่านี้ก็จะเป็นเทรนด์ขึ้นด้วย แต่หากให้ประเมินเรื่องปัจจัยพื้นฐาน ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะประเมินได้ ต้องดูผลงานของบริษัทอีกระยะ ดังนั้นผู้ลงทุนที่คิดจะเข้าไปลงทุนก็คงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง” นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH  

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising