หุ้น บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล หรือ XPG ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัท และการประกาศเพิ่มทุนเกือบ 5 เท่าของทุนจดทะเบียนเดิม โดยราคาตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 860.71% ส่วนราคาหุ้น 120 วันย้อนหลังปรับเพิ่มขึ้นมากว่า 917.78%
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (29 กรกฎาคม) ราคาหุ้น XPG ยังคงปรับขึ้นร้อนแรง โดยปิดการซื้อขายที่ 4.46 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 15.54% มูลค่าการซื้อขาย 816,01 ล้านบาท
การพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงของหุ้น XPG ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องออกมาเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุน เพราะสภาพการซื้อขายปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาหุ้นเริ่มสูงขึ้นจนมีอัตราส่วนกำไรต่อราคาต่อหุ้น (P/E) อยู่ที่ 324 เท่า และมีราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) อยู่ที่ 5.09 เท่า
นอกจากนี้ XPG ยังเป็นหุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 3 ของทางตลาดหลักทรัพย์ ทำให้โบรกเกอร์ที่เป็นบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ คือ
- ให้ผู้ลงทุนทุกประเภทที่ต้องการซื้อหลักทรัพย์ XPG ต้องวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ
- บริษัทสมาชิกห้ามนำหลักทรัพย์ XPG คำนวณเป็นวงเงินในการซื้อขายในทุกประเภทบัญชี
- บริษัทสมาชิกห้ามหักกลบค่าซื้อและค่าขายหลักทรัพย์ XPG ในวันเดียวกัน (ห้าม Net Settlement)
ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาไปย้อนดูการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ XPG ตั้งแต่ช่วงที่ราคาเริ่มปรับเพิ่มขึ้น โดยพบว่าเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 มีการแจ้งเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก บมจ. ซีมิโก้ แคปปิตอล หรือ ZMICO เป็น บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล หรือ XPG แต่ยังไม่ได้แจ้งเรื่องการดำเนินธุรกิจอื่นเพิ่มเติม
จากนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 XPG ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและมีมติอนุมติการเพิ่มทุนครั้งใหญ่จำนวน 7,613 ล้านหุ้น หรือราว 4.6 เท่า จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวนหุ้น 1,653 ล้านหุ้น
โดยจัดสรรดังนี้
- จำนวน 5,378 ล้านหุ้น ให้ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นเพิ่มทุน ในราคา 0.50 บาท (XR 27 กรกฎาคม 2564)
- จำนวน 1,035 ล้านหุ้น ขาย PP ราคา 4.10 บาท ประกอบด้วย
-
- บมจ.แสนสิริ (SIRI) จำนวน 403 ล้านหุ้น
- มงคล ประกิตชัยวัฒนา (ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ใน KTC) จำนวน 363 ล้านหุ้น
- บริษัท วิริยะประกันภัย 268 ล้านหุ้น
โดยมีเงื่อนไขว่าหลังจากทั้ง 3 รายซื้อหุ้นเพิ่มทุน PP แล้ว จะได้สิทธิ์ในการเพิ่มทุน RO ที่สัดส่วน 1 หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นเพิ่มทุน ราคาหุ้นละ 0.50 บาท
- จำนวน 1,199 ล้านหุ้น รองรับการปรับสิทธิ์วอร์แรนต์
- จำนวน 165 ล้านหุ้น เพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate)
ภายหลังการเพิ่มทุนนี้
- SIRI จะถือหุ้นประมาณ 1,209 ล้านหุ้น หรือ 15.88%
- มงคล ประกิตชัยวัฒนา ถือหุ้นประมาณ 1,089 หรือ 14.30%
- วิริยะประกันภัยถือหุ้นประมาณ 804 ล้านหุ้น หรือ 10.56%
ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ XPG 5 อันดับแรก (ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564) มีดังนี้
- Elevated Returns LLC 20.92%
- UBS AG SINGAPORE BRANCH 5.31%
- กมลกานต์ ศรีมงคล 4.53%
- ER MERRY WAY LP 3.63%
- CHINA TONGHAI SECURITIES LIMITED A/C CLIENT 2.97%
สำหรับเงินระดมทุนจากการเพิ่มทุนราว 6,934 ล้านบาท มีแผนนำไปใช้ดังนี้
- ขยายการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องภายในปี 2564-2568 จำนวน 4,000 ล้านบาท
- พัฒนาและขยายธุรกิจต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันของกลุ่มบริษัท ได้แก่ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจลงทุนในสินทรัพย์หรือบริษัทที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายในปี 2564-2568 จำนวน 2,300 ล้านบาท
- ชำระคืนเงินกู้ยืมในรูปของตั๋วแลกเงินบางส่วน และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทภายในไตรมาส 3/64 จำนวน 634 ล้านบาท
สรุป ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของ XPG คือโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งจะมีทั้ง SIRI และวิริยะประกันภัยเข้ามาถือหุ้น และมีนักลงทุนบุคคลคือที่เชื่อมโยงไปถึงหุ้น KTC คือ มงคล ประกิตชัยวัฒนา
นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ จากแผนการเข้าลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องภายในปี 2564-2568 รวมจำนวน 4,000 ล้านบาท คิดเป็นการลงทุนเฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อปี ต่อเนื่อง 4 ปี
“นักลงทุนมองหุ้น XPG ด้วยความคาดหวังในเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะนักลงทุนบางกลุ่มก็มองเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องไกลตัวและยังไม่พร้อมจะลงทุนเอง แต่ก็มีความสนใจ เมื่อมี บจ. ใดๆ ประกาศแผนว่าจะมีการลงทุนหรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับตลาดดิจิทัล ก็จะได้รับความสนใจทันที อย่างก่อนหน้านี้ก็มีหุ้น MVP และ BROOK ซึ่งสังเกตได้ว่าเมื่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลปรับเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นเหล่านี้ก็จะเป็นเทรนด์ขึ้นด้วย แต่หากให้ประเมินเรื่องปัจจัยพื้นฐาน ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะประเมินได้ ต้องดูผลงานของบริษัทอีกระยะ ดังนั้นผู้ลงทุนที่คิดจะเข้าไปลงทุนก็คงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง” นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH