มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินผลกระทบข่าวซิงซิงหายตัวไปกระทบยอดนักท่องเที่ยวจีนลดลงระยะสั้น แนะสร้างทีมสื่อสารภาษาจีน ระยะกลางควรพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบ K-ETA ของเกาหลีใต้ พร้อมคาดการณ์เทศกาลตรุษจีนไทยในปี 2568 ยังคึกคัก เงินสะพัดกว่า 51,787 ล้านบาท นับเป็นการใช้จ่ายสูงสุดในรอบ 5 ปี
วิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยจากกรณีนักแสดงชาวจีนหายตัวบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในช่วง 3 สัปดาห์แรกของปี 2568 โดยเฉพาะคนจีนเข้ามาเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 13,910 คน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมเข้ามาเฉลี่ยอยู่ที่ 101,082 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ถึงเวลาซ่อมเครื่องยนต์หลัก (ท่องเที่ยว) ‘เศรษฐกิจไทย’ การหายตัวไปของซิงซิงสะท้อนอะไร?
- CNN เผย ‘กรุงเทพฯ’ เป็นหนึ่งใน 10 จุดหมายปลายทางคืนข้ามปี 2024 ที่ดีที่สุดของโลก…
- เราต่างต้องพึ่งพานักท่องเที่ยว! อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ช่วงชิง Visa Free …
ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาไทยปีนี้ลดลง 0.4% หรือลดลง 34,027 คน มาอยู่ที่ 7.98 ล้านคน จากตัวเลขคาดการณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยราว 8 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายหรือรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงราว 1,650 ล้านบาท
สำหรับผลกระทบที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวไทย กรณีไม่มีเหตุการณ์นี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศจำนวน 8,019,631 คน และจะมีรายได้เข้าประเทศประมาณ 388,952 ล้านบาท ส่วนกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ประเมินเหตุการณ์แย่ที่สุดจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประมาณ 7,724,982 คน ลดลง 3.7% จะมีรายได้ประมาณ 374,662 ล้านบาท ลดลง 3.7%
อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะเร่งด่วน 1-2 เดือน คือ การจัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วมบริหารวิกฤตแบบ 24 ชั่วโมง, เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ, สร้างทีมนักสื่อสารดิจิทัลเชี่ยวชาญภาษาจีน ติดตามและโต้ตอบข่าวปลอมในโซเชียลมีเดียจีนแบบทันที, พัฒนาแอปพลิเคชันแจ้งเหตุฉุกเฉินและขอความช่วยเหลือแบบทันที พร้อมศูนย์ช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง สื่อสารเชิงรุกผ่านทุกช่องทางในจีน, นำเสนอความสำเร็จในการช่วยเหลือและประสบการณ์ที่ดีของนักท่องเที่ยว, เชิญสื่อและผู้มีอิทธิพลชาวจีนมาสัมผัสประสบการณ์จริง พร้อมถ่ายทอดผ่านสื่อสังคมออนไลน์
โดยระยะสั้น 3-6 เดือน จัดทำแพ็กเกจท่องเที่ยวพิเศษ พร้อมประกันภัยครอบคลุมมัคคุเทศก์มืออาชีพและระบบติดตามตัว, จัดอบรมผู้ประกอบการและบุคลากรด้านการจัดการภาวะวิกฤตและการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว, ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยแหล่งท่องเที่ยว, ติดตั้งกล้องวงจรปิดอัจฉริยะและระบบแจ้งเตือนแบบบูรณาการ
ระยะกลาง 7-12 เดือน ควรพัฒนาระบบตรวจลงตราแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการตรวจสอบประวัติล่วงหน้าเหมือนกับระบบ K-ETA ของเกาหลีใต้, สร้างความร่วมมือไทย-จีน ด้านความมั่นคงท่องเที่ยว แลกเปลี่ยนข้อมูล และพัฒนาระบบเตือนภัย พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งทุกบริการสำหรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การวางแผนการเดินทาง ที่พัก และบริการระบบนำทาง ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน และการรายงานปัญหา
อย่างไรก็ดี โดยสรุปเหตุการณ์นักแสดงชาวจีนหายตัวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะเมื่อรวมกับกรณียกเลิกคอนเสิร์ต ทำให้มีการยกเลิกการจองที่พักจำนวนมากในเขตกรุงเทพฯ และภูมิภาค เบื้องต้นประเมินกรณีที่แย่ กระทบต่อเศรษฐกิจลดลง 0.04% ของ GDP
กรณีที่แย่ที่สุดกระทบ ลดลง 0.11% ของ GDP โดยแบ่งเป็นผลกระทบทางตรงจากการใช้จ่ายที่ลดลง 56.2% และผลกระทบทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทาน 43.8% สาขาธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่แย่ที่สุด คือ ค้าส่ง, ค้าปลีก, บริการที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว, ร้านอาหาร, ที่พัก และการขนส่ง
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ เปิดเผยว่า เทศกาลตรุษจีนของไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีความคึกคัก เงินสะพัดกว่า 51,787 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายสูงสุดในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่มีสถานการณ์โรคโควิด และเป็นปีแรกที่มีเงินสะพัดสูงถึง 50,000 ล้านบาท โดยประชาชนส่วนใหญ่ยังคงออกมาใช้จ่ายแม้จะยังคงมีความเป็นห่วงและกังวลเศรษฐกิจในอนาคต
“กรณีข่าวซิงซิงอาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไป 5% แต่เชื่อว่าเดือนกุมภาพันธ์น่าจะกลับมาเป็นปกติ ผลกระทบไม่รุนแรง เชื่อว่าสถานการณ์จะจบเร็ว เพราะทั้งไทยและจีนมีการแก้ปัญหาร่วมกันได้เร็ว และการท่องเที่ยวจะยังเป็นพระเอกที่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ปีนี้” ธนวรรธน์กล่าว
ภาพ: Alexander Spatari / Getty Images