×

ย้อนดู 7 นโยบาย ‘สีโคโนมิกส์’ นำเศรษฐกิจจีนเติบโตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ 16 ต.ค. นี้

02.09.2022
  • LOADING...
สีโคโนมิกส์

ย้อนดูนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง หรือ Xiconomics ซึ่งทำให้จีนขยายอิทธิพลไปทั่วโลก และเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้จีนครองสัดส่วนราว 18% ของ GDP โลก ก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจะเปิดฉากตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคมนี้ โดยในการประชุมนี้สีจิ้นผิงคาดว่าจะได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 กลายเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจมากที่สุดนับตั้งแต่เหมาเจ๋อตุง

 

ย้อนกลับไประหว่างที่สีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งวาระแรก (ปี 2013-2018) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้มุ่งมั่นกับการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงปัญหาหนี้ที่สูง การปันผลทางประชากร (Demographic Dividend) ที่ทรุดโทรม กำลังการผลิตอุตสาหกรรมส่วนเกิน และความยากจน เป็นวาระหลัก

 

นอกจากนี้ ผู้นำจีนคนปัจจุบันยังยืดหยัดที่จะเสริมความแข็งแกร่งและเสถียรภาพให้เศรษฐกิจจีนต่อไป ท่ามกลางสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และการระบาดใหญ่ของโควิด

 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสีจิ้นผิงยังนำไปสู่การปราบปรามอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การล่มสลายของธุรกิจสอนพิเศษในชั่วข้ามคืน ไปจนถึงกลยุทธ์โควิดเป็นศูนย์ของจีน (Zero-COVID Policy) ด้วย

 

7 เหตุการณ์เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

1. Belt and Road Initiative (2013)

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ถูกนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูการเชื่อมต่อตามเส้นทางสายไหมในสมัยโบราณ และเจาะตลาดที่ไม่ใช่ตะวันตก (Non-Western Markets) เพื่อขยายอิทธิพลของจีนในกว่า 60 ประเทศในเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้

 

โดยข้อริเริ่มนี้เริ่มต้นจากการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก่อนจะขยายไปถึงการค้าและการลงทุนด้วยการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย กองทุนเส้นทางสายไหม และธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่

 

ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ในปี 2021 การลงทุนนอกภาคการเงินที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ Belt and Road ใน 57 ประเทศ เพิ่มขึ้น 14.1% เมื่อเทียบจากปีก่อนอยู่ที่ 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 1.48 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2015

 

2. Reform Document (2013)

เอกสารการปฏิรูป (Reform Document) ซึ่งเผยแพร่ระหว่างการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 (The Third Plenum) เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2013 นับเป็นครั้งแรกที่จีนระบุว่าจะให้หลักการตลาดมีบทบาท ‘ชี้ขาด’ ในระบบเศรษฐกิจ

 

โดยในพิมพ์เขียวของเอกสารการปฏิรูปได้ระบุรายละเอียดงาน 336 งานที่ต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2020 ซึ่งรวมถึงการผ่อนคลายการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศ การปฏิรูปการคลัง กลไกการจดทะเบียนการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และการเปิดกว้างทางการเงิน

 

3. การปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทาน (2015)

โดยปักกิ่งได้หันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพมากกว่าตัวเลขการขยายตัวของ GDP โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของหนี้สิน และธนาคารเงา (Shadow Banking) ซึ่งเป็นการปล่อยกู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารตามปกติ ไปจนถึงความท้าทายด้านประชากรศาสตร์

 

ผู้กำหนดนโยบายจีนยังได้เปิดตัวโครงการการปรับโครงสร้างด้านอุปทาน ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหากำลังการผลิตล้นเกินของอุตสาหกรรม การออกกฎระเบียบสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ และลดการก่อหนี้

 

4. การสนับสนุนรัฐวิสาหกิจ (2016)

รัฐวิสาหกิจ (SOEs) ถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมของจีนมาช้านาน โดยตั้งแต่ปี 2016 บทบาทของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ของจีนก็แข็งแกร่งมากขึ้น ท่ามกลางการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ และต่อสู้กับการระบาดใหญ่

 

ขณะที่เมื่อปี 2021 สีจิ้นผิงยังกล่าวเน้นย้ำว่า “รัฐวิสาหกิจคือผู้สร้างรากฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองของระบบสังคมนิยมของจีน และเป็นเสาหลักสำหรับการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐวิสาหกิจต้องแข็งแกร่งขึ้น ดีขึ้น และใหญ่ขึ้น”

 

ตามข้อมูลของกระทรวงการคลังจีนระบุว่า สินทรัพย์สุทธิของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 76 ล้านล้านหยวนในปี 2019 จาก 40.1 ล้านล้านหยวนในปี 2015

 

5. Dual Circulation (2020)

ยุทธศาสตร์วงจรแบบคู่ขนาน (Dual Circulation) คือกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจเน้นทั้งการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก นับเป็นการเปลี่ยนแปลงโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจจีนที่มุ่งเน้นการส่งออกมานานหลาย 10 ปี พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายชุดใหม่ในอีก 15 ปีข้างหน้า

 

แผนดังกล่าวจีนได้ให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศ หรือการหมุนเวียนภายในมากขึ้น เป็นการปรับกลยุทธ์ของจีนให้เข้ากับโลกภายนอกที่ไม่มั่นคงและเป็นปรปักษ์ต่อจีนมากขึ้น โดยในอนาคตจีนจะพึ่งพาการส่งออกน้อยลง หรือการหมุนเวียนภายนอกน้อยลง แต่จะไม่ละทิ้งโดยสิ้นเชิง

 

กุญแจสำคัญสำหรับยุทธศาสตร์นี้ก็คือการดึงศักยภาพของตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ของจีนออกมา และส่งเสริมนวัตกรรมของชนพื้นเมืองเพื่อกระตุ้นการเติบโต

 

แม้จีนจะเน้นย้ำเรื่องการพึ่งพาตนเอง แต่สีจิ้นผิงได้พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จีนจะไม่ปิดตัวเองจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง และจะเปิดใจมากขึ้นแทน

 

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนยังหวังว่าจีนจะเพิ่มความเป็นอิสระทางเทคโนโลยีมากขึ้น และเสนอนโยบายจูงใจเพื่อปรับปรุงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทคโนโลยีที่รัฐบาลสหรัฐฯ อาจกีดกัน

 

6. ‘ความรุ่งเรืองร่วมกัน’ (2021)

จีนกำลังแสวงหาความรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) โดยเรียกร้องให้มีการกระจายความมั่งคั่งอย่างยุติธรรมมากขึ้น เป็นวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาขั้นต่อไป

 

ความรุ่งเรืองร่วมกันถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากการแสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลาย 10 ปี ซึ่งช่วยขจัดความยากจนของชาวจีนหลายร้อยล้านคน แต่ก็แลกมาด้วยความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้คือการปฏิรูปการกระจายรายได้ เพื่อให้คนชั้นกลางกลายเป็นผู้ครอบครองความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของจีน

 

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังเน้นไปที่การบริโภคระดับรากหญ้าให้เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ มากกว่าการลงทุนแบบเน้นเงินทุน ซึ่งได้รับความนิยมในทศวรรษที่ผ่านมา

 

เพื่อไปถึงจุดนั้น ผู้นำของจีนได้เปิดตัวการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อภาษี และการจ่ายเงินประกันสังคมสำหรับผู้มีรายได้ปานกลาง รวมทั้งออกนโยบายเพื่อเพิ่มรายได้ของคนจน และปราบปรามการปฏิบัติและช่องโหว่ที่อาจก่อให้เกิด ‘รายได้ที่ผิดกฎหมาย’ นอกจากนี้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมก็ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเช่นกัน

 

เจ้าหน้าที่ระดับผู้นำของจีนหลายคนยังต้องการการกำกับดูแลทางการเงินที่ดีขึ้น พร้อมกับการดำเนินการลงโทษการทุจริตตามหลักการตลาดและหลักนิติธรรม

 

ความรุ่งเรืองร่วมกันยังส่งเสริม ‘Third Distribution’ ซึ่งหมายถึงการสร้างโอกาสให้แก่คนรวยและบริษัทขนาดใหญ่ในการตอบแทนสังคม รวมถึงการบริจาคโดยสมัครใจและการบริจาคเพื่อการกุศล

 

โดยเหล่าผู้นำจีนปฏิเสธว่านโยบายนี้เป็นแผน ‘ปล้นจากคนรวยเพื่อมอบให้คนจน’ ตามสไตล์โรบินฮู้ด แต่การปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเตือนไม่ให้รวยด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายผ่านตลาดทุน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับบทบาทของภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการภาคเอกชน และบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

 

7. Zero-COVID Policy (2022)

ประเทศจีนถือเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักประเทศแรกๆ ที่ฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ระลอกแรกๆ อย่างไรก็ตาม การยึดมั่นในกลยุทธ์โควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ในช่วงต้นปี 2022 เพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์โอมิครอน ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของจีน

 

โดยมาตรการกักตัวที่เข้มงวดได้ส่งผลกระทบต่อภาคบริการ ทำให้บริษัทขนาดเล็กจำนวนมากต้องปิดตัวลง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือน ตลาดงาน การชำระคืนเงินกู้ และการบริโภค

 

ขณะที่การล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของจีนนาน 2 เดือน และการล็อกดาวน์บางส่วนของเมืองใหญ่อื่นๆ ทำให้เกิดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้ GDP ในช่วงดังกล่าวโตเพียง 0.8% เมื่อเทียบจากปีก่อน

 

ความพยายามอย่างเต็มที่ในการควบคุมการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนของจีน ขณะที่หลายประเทศในตะวันตกเลือกที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกันโดยไม่ออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามเกี่ยวกับการยึดมั่นของรัฐบาลจีน

 

สีจิ้นผิงได้ออกมาปกป้องนโยบายดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและประหยัดที่สุดในการจัดการกับการระบาด ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยชีวิตของประชาชนด้วย

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising