×

โอกาสของจีน เจาะเบื้องลึกสีจิ้นผิงเยือน 3 ประเทศอาเซียน มีนัยอะไร

19.04.2025
  • LOADING...
สีจิ้นผิงเยือน 3 ประเทศอาเซียน ขยายอิทธิพลจีนท่ามกลางสงครามภาษีทรัมป์

โลกกำลังแบ่งขั้วแบบเข้มข้นอีกครั้ง หลังการกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำให้บรรยากาศการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเด่นชัดขึ้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มหาอำนาจจับจ้องและเข้ามาขยายอิทธิพล ด้วยเหตุผลด้านการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และความมั่นคง

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาสีจิ้นผิงขยับก่อน 

 

การเดินทางเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ไม่ใช่แค่การทูตมิตรภาพ หากแต่เป็นหมากยุทธศาสตร์ที่จีนชิงคว้า ‘โอกาสทอง’ เพื่อรักษาฐานอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง ในขณะที่ภูมิภาคนี้กำลังตกเป็นเป้าหมายกำแพงภาษีของทรัมป์ และหลายประเทศถูกบีบให้ต้องมองหาพันธมิตรอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยง

 

เวียดนาม มิตรภาพเก่าในโลกใหม่

 

การเยือนเวียดนามของสีจิ้นผิง ถือเป็นจุดแวะที่ ‘จำเป็น’ ในทางการทูตของจีนในภูมิภาค ไม่ใช่แค่เพราะทั้งสองประเทศปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนกัน แต่เพราะจีนและเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ 

 

ขณะเดียวกันจีนและเวียดนามก็เป็น ‘คู่แข่ง’ ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกในยุคที่บริษัทต่างชาติทยอยย้ายฐานการผลิตออกจากจีนท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายทรัมป์ 2.0

 

รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า เวียดนามเป็นประเทศแรกๆ ที่ติดต่อสหรัฐฯ ทันทีที่มีประกาศการขึ้นภาษีตอบโต้จากทรัมป์เมื่อวันที่ 2 เมษายน ดังนั้นจึงเป็นอีกเหตุผลที่สีจิ้นผิงมองว่าควรรีบมากระชับสัมพันธ์กับเวียดนาม 

 

ที่ผ่านมาจีนและเวียดนามมีความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือการเป็นพี่น้องคอมมิวนิสต์ ที่จีนพร้อมเปิดช่องทางการพูดคุยกันระหว่างผู้นำระดับสูง โดยเน้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปกครองและการบริหารประเทศ

 

เวียดนามเพิ่งผ่านช่วงผลัดใบ หลังสิ้น เหงวียน ฟู้ จ่อง มาสู่ผู้นำคนใหม่อย่าง โต เลิม แม้ โต เลิม จะเป็นมือปราบคอร์รัปชัน เหมือนกับสีจิ้นผิง แต่ยังเทียบบารมีกับ เหงวียน ฟู้ จ่อง ไม่ได้

 

ฉะนั้นจึงนำไปสู่ประเด็นที่สีจิ้นผิง ได้มีการพูดคุยกับ โต เลิม เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ของเส้นทางประวัติศาสตร์ความเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านความร่วมมือที่เรียกว่า “P to P > People to People” 

 

นอกจากนี้ในการพบปะกัน จีนและเวียดนามยังยกระดับความร่วมมือระดับสูงด้วย เช่น ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี 

 

ส่วนประเด็นทะเลจีนใต้ แม้ทั้งสองประเทศยังมีข้อพิพาทต่อกัน แต่ต่างฝ่ายต่างเลือกใช้ท่าทีประนีประนอม โดยเน้นการพูดคุยมากกว่าการเผชิญหน้า เพื่อรักษาเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจร่วมกัน

 

รศ. ดร.ปิติ ยกคำพูดของเหมาเจ๋อตงที่เคยบอกว่า คนเรามี 10 นิ้ว ถ้าเสียไปหนึ่งนิ้ว ไม่ได้หมายความว่าอีก 9 นิ้ว จะใช้การไม่ได้ ดังนั้น ในบริบทการเจอกันของผู้นำ 2 ประเทศ ก็ยังมีเรื่องความมั่นคงที่ยังร่วมคุยกันได้ เพื่อเชื่อมไปยังประเด็นเศรษฐกิจร่วมกัน โดยมองข้ามความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ไปก่อน

 

ขณะที่ รศ. ดร.ธนนันท์ บุ่นวรรณา อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า จีนเล็งเห็นเวียดนามมีความสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์มานานมากแล้ว เพราะในอดีตจีนมองว่าเวียดนามเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

ในห้วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ เวียดนามยังคงใช้กลยุทธ์อันชาญฉลาดที่เรียกว่า ‘นโยบายไผ่ลู่ลม’ นั่นคือการรักษาสมดุลอำนาจความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐฯ และจีนได้เป็นอย่างดี 

 

ซึ่งนโยบาย ‘ไผ่ลู่ลม’ นี้ รศ. ดร.ธนนันท์ อธิบายว่าเป็นแนวทางที่ประกาศใช้ตั้งแต่สมัย เหงวียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามคนก่อน 

 

เนื่องจากสถานการณ์โลกที่ผันผวนตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ใต้ทรัมป์ 2.0 ก็คาดเดาได้ยาก ดังนั้นการที่เวียดนามไม่เลือกข้าง และเลือกจะเป็นมิตรกับทุกประเทศนั้นก็เป็นการรักษาผลประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเวียดนามในขณะนี้

 

เมื่อถามถึงมุมมองของเวียดนามว่า เวียดนามมอง ‘ความใกล้ชิด’ กับจีนเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือเป็นแรงกดดันทางการเมืองในระยะยาวหรือไม่นั้น รศ. ดร.ธนนันท์ มองว่านี่คือโอกาสทางเศรษฐกิจของเวียดนาม เพราะการที่จีนไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยตรง จีนย่อมต้องมองหาพันธมิตรซึ่งเวียดนามอยู่ใกล้จีนมากสุด ดังนั้น จึงเห็นได้จากการพบกันในครั้งนี้ สีจิ้นผิงได้เร่งรัดโครงการเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะพยายามให้แล้วเสร็จในปีนี้ โดยเป็นเส้นทางรถไฟหล่าวกาย-ฮานอย-หายฟ่อง ผ่านด่านเคอโหว่ มณฑลยูนนาน ติดจังหวัดหล่าวกายของเวียดนามและวิ่งต่อมาถึงฮานอยและต่อไปถึงหายฟ่อง ซึ่งมีแหล่งนิคมอุตสาหกรรมอยู่บริเวณนั้น 

 

เมื่อแล้วเสร็จทางรถไฟนี้จะเป็นเส้นทางที่จีนสามารถขนส่งสินค้าต้นทุนต่ำเพื่อมาผลิตในโรงงานเวียดนามและส่งออกสู่ประตูเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเวียดนามนั่นเอง 

 

มาเลเซีย 1 ในผู้นำโลกมุสลิมแห่งอาเซียน 

 

ถัดจากเวียดนาม หมุดหมายต่อไปของสีจิ้นผิงก็คือกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในการหารือระหว่างสองประเทศ ผู้นำทั้งสองเน้นประเด็นหลักทั้งด้านเศรษฐกิจและการค้า มีการเจรจาเชิงลึกเกี่ยวกับโครงการภายใต้ Belt and Road Initiative (BRI) การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือด้านเทคโนโลยี

 

จีนให้คำมั่นว่าจะลงทุนเพิ่มเติมในโครงการใหม่ๆ พร้อมเปิดประตูให้ภาคเอกชนจีนขยายบทบาทในมาเลเซีย 

 

ส่วนด้านการทูต สีจิ้นผิงเน้นเรื่อง “การเคารพอธิปไตยและไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน” และยังชูแนวคิด “อนาคตของเอเชียต้องนำโดยชาวเอเชีย” เป็นกรอบวิสัยทัศน์ร่วม

 

ด้าน อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเช่นกันว่า มาเลเซียจะยังคง “รักษาความสัมพันธ์ที่สมดุลกับชาติมหาอำนาจ” และย้ำถึงนโยบายความเป็นกลางที่มาเลเซียยึดถือมาโดยตลอด

 

รศ. ดร.ปิติ กล่าวว่า หลายคนมองว่าโลกในปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็น 3 ขั้วคือ สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย แต่ในมุมของอาจารย์มองว่า 3 ขั้วที่ว่านี้คือ สหรัฐฯ และชาติตะวันตก ขั้วที่ 2 คือจีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย ในกลุ่ม BRICS ส่วนขั้วที่ 3 คือโลกมุสลิม ซึ่งในเวทีอาเซียน มีประเทศที่พยายามจะวางบทบาทเป็นผู้นำในโลกมุสลิมด้วยนั่นก็คือมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยประกอบที่สีจิ้นผิง เลือกมาเยือนมาเลเซีย 

 

ด้าน รศ. ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพของมาเลเซียในยุคนายกฯ อันวาร์ ว่ามีท่าทีเชิงบวกและมีใจให้กับจีน และมาเลเซียยังเป็นประเทศมุสลิมที่มีท่าทีแข็งกร้าวกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะต่อชาวยิวอย่างชัดเจน  

 

สีจิ้นผิงจึงมองเห็นศักยภาพของมาเลเซียที่จะมีบทบาทในกลุ่มโลกขั้วใต้ Global South ร่วมกับจีน โดยสามารถร่วมกันคานอำนาจบาตรใหญ่ของมหาอำนาจสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ได้ ซึ่งวาระสำคัญหลังจากนี้คือการผลักดันให้มาเลเซียกลายเป็นสมาชิก BRICS แบบเต็มตัว หรือ Full Member ต่อไป

 

นอกจากบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศแล้ว มาเลเซียยังมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ในการเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรม เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานขั้วใหม่  

 

มาเลเซียในยุคอันวาร์ ยังได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการลงทุนของจีนจำนวนมาก เช่น โครงการรถไฟ ECRL และมีบริษัทจีนชั้นนำหลายแห่งไปลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในมาเลเซีย    

 

นอกจากนี้ค่ายรถ Geely ของจีน ก็ไปช่วยลงทุนในค่ายรถ Proton ของมาเลเซียที่ขาดทุนหนัก และกลุ่มทุนใหญ่ของจีนยังได้ไปช่วยพยุงกองทุน 1MDB ของมาเลเซียที่มีปัญหาทางการเงิน 

 

กัมพูชา พันธมิตรที่มั่นคง

 

ส่วนหมุดหมายสุดท้ายของสีจิ้นผิงก็คือกัมพูชา โดยการเยือนครั้งนี้ถือเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างสีจิ้นผิง กับ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งต่อจากบิดา สมเด็จ ฮุน เซน ผู้นำที่อยู่ในอำนาจมานานเกือบ 4 ทศวรรษ 

 

การเปลี่ยนผ่านผู้นำกัมพูชารุ่นใหม่ อาจเป็นเหตุผลที่สีจิ้นผิงเลือกแวะกัมพูชา ทั้งนี้ก็เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับพนมเปญให้แน่นแฟ้นหรือแนบแน่นยิ่งขึ้น

 

ทำไมกัมพูชาจึงมีความสำคัญต่อจีน?

 

ถ้าพูดถึงประเด็นความภักดีทางการเมือง ก่อนหน้านี้อาจพูดได้เต็มปากว่ากัมพูชามีท่าทีสนับสนุนจีนในเวทีอาเซียนมาโดยตลอด แม้ในประเด็นอ่อนไหว เช่น ทะเลจีนใต้ ซึ่งถือเป็นพันธมิตรที่มีค่าอย่างยิ่งในสายตาปักกิ่ง 

 

แต่ปัจจุบัน รศ. ดร.อักษรศรี อธิบายว่า ท่าทีของกัมพูชาต่อจีนอาจมีลักษณะไม่จงรักภักดีมากเท่ากับในยุคของสมเด็จฯ ฮุนเซน เพราะฮุน มาเนต ลูกชายเป็นผู้นำหัวสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาและหล่อหลอมทางความคิดมาจากโลกตะวันตก ด้วยเหตุนี้จึงอาจปรับท่าที เพื่อไม่เอียงข้างจีนมากเกินไป และแสวงหาความร่วมมือกับชาติตะวันตกมากขึ้น ดังนั้นสีจิ้นผิง จึงต้องมาเยือนกัมพูชาเพื่อกระชับสัมพันธ์ให้แนบแน่นในยุคลูก 

 

ส่วนตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ก็มีนัยสำคัญเช่นกัน เพราะกัมพูชาคือประตูสำคัญสู่อ่าวไทยและภูมิภาคอินโดจีน ฐานทัพเรือเรียม (Ream Naval Base) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ก็ได้รับความช่วยเหลือจากจีน และเป็นจุดที่ถูกจับตาอย่างมากในแง่ของศักยภาพในการใช้งานทั้งพลเรือนและทางทหาร 

 

สำหรับจีน นี่คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะใช้ปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลในภูมิภาคที่ยังถูกครอบงำโดยสหรัฐฯ

 

จากโลกาภิวัตน์สู่การค้าเพื่อความมั่นคง

 

เมื่อดูบริบททางการค้า จากเดิมที่นโยบายการค้าถูกขับเคลื่อนด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ เช่น ต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพแรงงาน และความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เป็นระบบซัพพลายเชนแบบ Just-in-Time คือเน้นลดต้นทุน แต่ปัจจุบัน โลกเข้าสู่ยุค ‘ภูมิเศรษฐศาสตร์’ (Geo-economics) ที่อำนาจทางเศรษฐกิจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและความมั่นคง 

 

รัฐบาลแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหันมาเน้นความมั่นคงของซัพพลายเชนมากกว่าต้นทุน จึงเกิดเป็นแนวคิด Just-in-Case คือลดการพึ่งพาประเทศศัตรู หรือประเทศที่มีความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ 

 

สีจิ้นผิง ไม่แวะไทย มีนัยหรือไม่? 

 

ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามต่อว่าแล้วไทยมองโจทย์นี้ต่อไปอย่างไร ที่สีจิ้นผิงไม่เลือกเยือนไทย ท่ามกลางห้วงเวลาแห่งความตึงเครียดของสงครามภาษีเช่นนี้ 

 

รศ. ดร.ปิติ มองว่าสิ่งนี้อาจเป็นคุณกับไทย โดยอธิบายว่า กรณีภาษีตอบโต้ของทรัมป์ ส่วนหนึ่งอาจพิจารณาจากว่าประเทศไหนมีส่วนเกี่ยวข้องกับจีนมากที่สุด ก็จะถูกปรับอัตราภาษีตอบโต้เยอะสุด ซึ่งถ้าไทยสามารถใช้ช่วงเวลานี้ที่สีจิ้นผิงไม่ได้เลือกมาเยือนไทย เร่งชี้แจงไปยังสหรัฐฯ เพื่อแสดงจุดยืนว่าไทยมีความเป็นอิสระ ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ก็อาจส่งผลดีต่อไทยก็ได้

 

ขณะเดียวกันในช่วงเวลาที่สีจิ้นผิงเยือน 3 ประเทศในอาเซียนนั้น ไทยอาจจำเป็นต้องพิจารณาส่งคณะไปติดตามและพูดคุยกับสีจิ้นผิง เพื่อหารืออย่างใกล้ชิดเพื่อผลประโยชน์ของไทยเอง ในฐานะที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่ง รศ. ดร.ปิติ เสนอว่าไทยอาจทำทั้งสองสิ่งพร้อมกัน แบบเดียวกับนโยบาย ‘ไผ่ลู่ลม’ ของเวียดนาม

 

การเยือนทั้ง 3 ประเทศของสีจิ้นผิงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคระเบียบโลกใหม่ครั้งนี้ คือภาพสะท้อนของเดินหมากรุกที่มีนัยสำคัญ

 

แนวทางของจีนคือการเร่งคว้าโอกาสทองโดยชิงเข้ามาปักธงในอาเซียนก่อนในช่วงที่สหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ 2.0 กำลังสาละวนกับการตอบโต้ประเทศต่างๆ ด้วยกำแพงภาษี ขณะที่อาเซียนเองก็ไม่สามารถรอความชัดเจนจากมหาอำนาจใดได้ ทุกประเทศจำเป็นต้องหาทางเดินที่ “ปลอดภัยที่สุดในความไม่แน่นอน”

 

และภายใต้สถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระดับโลกถูกกำหนดด้วย “ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์” มากกว่ามิตรภาพเฉยๆ การเดินเกมแบบเลือกเยือน-ไม่เยือนไทย ก็อาจกลายเป็น ‘โอกาสซ่อนอยู่’ หากไทยรู้จักเล่นบทที่เหมาะสม คำถามจึงไม่ใช่แค่ว่า “สีจิ้นผิง กำลังทำอะไร?” แต่คือ “ประเทศอื่น โดยเฉพาะสหรัฐฯ กำลังมองไทยอย่างไร ในวันที่เราไม่ได้อยู่ในตารางทัวร์ของผู้นำจีน

 

ภาพ: Agence Kampuchea Press / Handout via Reuters

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising