ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีนขึ้นเวที G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสามัคคีในหมู่ประชาคมระหว่างประเทศ โดยกล่าวว่าโลกจำเป็นต้องส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุม เป็นประโยชน์ทั่วถึงในระดับสากล และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
บรรดานักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าคำปราศรัยของผู้นำสูงสุดของจีนเป็นแนวทางให้โลกเอาชนะความท้าทายระดับโลก รวมถึงวิกฤตการณ์ด้านอาหารและพลังงาน เมื่อหลายประเทศทั่วโลกตกอยู่ภายใต้การคุกคามของความต้องการแข่งขันเพื่อเป็นที่หนึ่ง การครอบครองอำนาจฝ่ายเดียว และและการเผชิญหน้าจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สรุป 5 ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ จากสุนทรพจน์ ‘สีจิ้นผิง’ เปิดประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
- บริษัทเทคฯ ชั้นนำระดับโลกมุ่งลงทุนในเวียดนาม หลังจีนไร้วี่แววคลายนโยบาย Zero-COVID
ทั้งนี้ ผู้นำจีนกล่าวว่า การพบกันในครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบศตวรรษ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลสืบเนื่องต่อโลก ต่อยุคสมัย และต่อประวัติศาสตร์ ขณะที่การระบาดใหญ่ของโควิดยังคงยืดเยื้อด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจกำลังเปราะบางมากขึ้น สภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงตึงเครียด ธรรมาภิบาลทั่วโลกยังไม่เพียงพออย่างจริงจัง วิกฤตอาหารและพลังงานยังปะปนกัน โดยทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายที่น่ากลัวต่อการพัฒนาของนานาประเทศทั่้วโลก
ขณะเดียวกัน สีจิ้นผิงกล่าวว่าทุกประเทศควรแทนที่การแตกแยกด้วยความสามัคคี เปลี่ยนการเผชิญหน้าเป็นความร่วมมือ และกำจัดการกีดกันด้วยการไม่แบ่งแยก ทุกประเทศควรร่วมมือกันเพื่อตอบคำถามในปัจจุบัน โดยผู้นำจีนกล่าวว่า โลกขณะนี้มีความผิดปกติ ดังนั้นทั่วโลกต้องร่วมกันหาคำตอบว่า ควรทำอย่างไร เพื่อก้าวข้ามความยากลำบากและสร้างอนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน
Li Haidong ศาสตราจารย์จากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัย China Foreign Affairs กล่าวว่า ความสามัคคีของประชาคมระหว่างประเทศกำลังถูกคุกคามจากบางประเทศที่พยายามแบ่งแยกโลกตามอุดมการณ์ เพื่อแทนที่กฎระหว่างประเทศด้วยกฎที่ต้องการเป็นเจ้าโลก และใช้โลกาภิวัตน์เพื่อรับใช้กลุ่มประเทศมากกว่าชุมชนระหว่างประเทศส่วนใหญ่ รวมถึงมองประเทศที่เห็นต่างเป็นภัยคุกคามมากกว่าที่เป็นพันธมิตรที่หันหน้ามาร่วมมือกัน
ทั้งนี้ การพบปะที่ชื่นมื่นระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ยังส่งผลให้บรรยากาศของตลาดหุ้นจีนกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากเป็นสัญญาณที่ผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจ
โดยดัชนี CSI 300 ซึ่งเป็นหุ้นในกลุ่ม Blue Chip ของจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% ในช่วงเช้าของวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนี Shanghai Composite ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% ส่วนดัชนี Hang Seng เพิ่มขึ้น 3.6% และดัชนี Hang Seng China Enterprises เพิ่มขึ้น 4.3%
ในส่วนยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในตลาดฮ่องกงพุ่งขึ้น 6.8% ส่งผลให้ปัจจุบันดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba, Tencent และ Meituan ปรับตัวพุ่งขึ้นระหว่าง 7.8-11%
สัญญาณเชิงบวกจากการประชุมระดับทวิภาคีระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับจีน เป็นเวลานานร่วม 3 ชั่วโมง บนเวที G20 ที่เกาะบาหลี ซึ่งจบลงด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นว่าจะสื่อสารกันบ่อยขึ้นแม้จะมีความแตกต่างกันมากก็ตาม
อ้างอิง: