สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า บรรดานายธนาคารทั้งหลายทั่วประเทศจีนต่างได้รับคำเตือนให้ปรับปรุงพฤติกรรม แก้ไขกรอบแนวคิด และจัดการกับไลฟ์สไตล์ ‘รักสนุกฟุ้งเฟ้อ’ รวมทั้งให้เลิกลอกเลียนวิถีชีวิตแบบตะวันตก
รายงานระบุว่า คำเตือนชี้แนะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกเขียนอธิบายลงในแถลงการณ์ของหน่วยงานเฝ้าระวังเพื่อต่อต้านการรับสินบนล่าสุดของจีน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นอีกหนึ่งสัญญาณล่าสุดที่รัฐบาลภายใต้การกุมบังเหียนของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในการพยายามกำกับดูแลระบบการเงินของประเทศให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ‘รุ่งเรืองร่วมกัน’ ของผู้นำจีน
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน หรือ National People’s Congress จะเริ่มขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยนักวิเคราะห์มองว่า สีจะเดินหน้ารวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง รื้อฟื้นการจัดตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจ เพื่อประสานงานด้านเศรษฐกิจและนโยบายทางการเงิน จัดตั้งพันธมิตรใกล้ชิดเพื่อดูแลกิจการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้สีกลายเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง
ก่อนหน้านี้ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา มีรายงานการกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชันครั้งใหญ่ในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ
คำเตือนดังกล่าวยังสอดคล้องกับแถลงการณ์ของคณะกรรมการกลางด้านวินัยของจีนที่มีขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งการตรวจสอบระบุว่า บรรดานายธนาคารทั้งหลายควรละทิ้งแนวคิดที่มองว่าตนเองเป็นผู้สูงศักดิ์กระเป๋าหนัก (Financial Elite) ได้แล้ว
เสิ่นเหมิง ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการลงทุน Chanson & Co. ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวทั้งหมดเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนพร้อมแล้วที่จะเข้าไปกับกำกับดูแลในกิจการทุกอย่าง รวมถึงงานด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยนอกจากจะแปลได้ว่า รัฐบาลจีนจะให้ความสำคัญกับการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจจีนอย่างเต็มที่แล้ว ยังตีความได้ว่าทางการจีนกำลังวางอุตสาหกรรมการเงินให้เป็นตัวโดนกล่าวโทษหลักกรณีที่เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
หลายฝ่ายมองว่า ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญสำหรับประธานาธิบดีสี เพราะหากพยายามควบคุมตลาดการเงินมูลค่า 60 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐมากเกินไป ก็จะกระทบต่อการเร่งฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ เพราะทำให้นักลงทุนแห่ขนเงินหนีจีน ขณะเดียวกันการปล่อยปละละเลยเกินไปก็จะส่งผลต่อความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำในหมู่ประชาชน ซึ่งตรงกับแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของสีที่ต้องการเห็นทุกฝ่ายได้รับความเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าโดยทั่วหน้ากัน
ทั้งนี้ สภาประชาชนแห่งชาติจีนคือการประชุมที่เหล่าผู้นำระดับสูงของประเทศจะมาร่วมกันประเมินผลงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการพิจารณารับรองร่างนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม สำหรับ 1 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้นักวิเคราะห์ประเมินอีกว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของประธานาธิบดีสีที่จะปฏิรูปพลิกโฉมสถาบันของรัฐในการดำรงตำแหน่งผู้นำจีนเป็นสมัยที่ 3
ที่ผ่านมาบรรดาผู้นำระดับสูงของจีนมักใช้การประชุมสภาจัดระเบียบภายในพรรคคอมมิวนิสต์ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2018 สีได้ดำเนินการยกเครื่องการบริหารและกำกับดูแลภายในพรรคครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งทำให้เจ้าตัวมีอำนาจในการควบคุมดูแลที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า ความพยายามดังกล่าวของ สีจิ้นผิง อาจส่งผลกระทบต่อความพยายามเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบรรดาธนาคารข้ามชาติ เข้ามาลงทุนในจีน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สรุป 5 ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ จากสุนทรพจน์ ‘สีจิ้นผิง’ เปิดประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
- ส่องรายชื่อ ‘5 แคนดิเดต’ ที่จะก้าวขึ้นมากุมบังเหียนเศรษฐกิจของพญามังกรในยุค ‘สี 3.0’
- จีนยกแผน GDI ของ ‘สีจิ้นผิง’ ขึ้นหิ้งตัวอย่างการมีส่วนร่วมรับมือความท้าทายระดับโลก
อ้างอิง: