×

‘สีจิ้นผิง’ เผชิญบททดสอบใหญ่ รับมือกระแสม็อบต้านนโยบาย Zero-COVID ทั่วประเทศ

29.11.2022
  • LOADING...

เพียงหนึ่งเดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศต่อในสมัยที่ 3 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนก็เผชิญกับบททดสอบที่สั่นคลอนเสถียรภาพความมั่นคง เพราะต้องรับมือกับกระแสคลื่นของมวลชนชาวจีนที่ลุกฮือขึ้นประท้วงแสดงความไม่พอใจกับการบังคับใช้นโยบาย Zero-COVID อย่างเข้มงวดของภาครัฐ ทำให้หลายเมืองทั่วประเทศต้องเจอกับการล็อกดาวน์หลายระลอก 

 

ทั้งนี้ บรรดาผู้ประท้วงชาวจีนต่างหากันมารวมตัวและหลั่งไหลไปตามท้องถนนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในเมืองต่างๆ รวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงปักกิ่ง เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างนครเซี่ยงไฮ้ ตลอดจนเมืองใหญ่อย่างอู่ฮั่น เฉิงตู ซีอาน และนานกิง เพื่อประท้วงต่อการที่รัฐบาลยังคงล็อกดาวน์เมืองต่างๆ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


นอกจากนี้ ประชาชนแสดงความไม่พอใจที่เกิดเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตถึง 10 รายจากเหตุเพลิงไหม้ในอาคารแห่งหนึ่งที่เมืองอุรุมชี ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล จนนำไปสู่การเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงลาออกจากตำแหน่ง

 

สำนักข่าว AP รายงานว่า กลุ่มผู้ประท้วงส่วนใหญ่ออกมาวิจารณ์นโยบาย Zero-COVID ซึ่งใช้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว และขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้มาตรการดังกล่าว โดยล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน ผู้ชุมนุมชาวจีนอีกส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันในเมืองกึ่งปกครองตนเองทางตอนใต้ของฮ่องกง ที่ซึ่งขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตยถูกปราบปรามอย่างรุนแรงหลังการเดินขบวนที่ยาวนานหลายเดือนซึ่งเริ่มในปี 2019

 

การลุกฮือประท้วงทั่วประเทศจีนในครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปราบกลุ่มนักศึกษาอย่างรุนแรงในปี 1989 ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของกรุงปักกิ่ง 

 

ทั้งนี้ ทางการจีนยังคงใช้มาตรการรับมืออย่างเข้มงวดเช่นเคย โดยมีรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังกลาดล้างกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นที่เซี่ยงไฮ้ ตำรวจได้ใช้สเปรย์พริกไทยขับไล่ผู้ชุมนุม และอีกหลายสิบคนถูกควบคุมตัว

 

AP รายงานว่า ความเป็นไปได้ของการประท้วงเพิ่มเติมนั้นไม่ชัดเจน มีการเซ็นเซอร์ในการเข้าถึงข้อมูลในพื้นที่ ขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า หากไม่มีการแตกแยกเกิดขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนน่าจะสามารถยับยั้งผู้เห็นต่างได้

 

ในขณะที่พรรครัฐบาลกล่าวว่า มาตรการต่อต้านโควิด ควร ‘ตรงเป้าหมายและแม่นยำ’ และทำให้ชีวิตผู้คนหยุดชะงักน้อยที่สุด แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ถูกขู่ว่าจะตกงานหรือถูกลงโทษอื่นๆ หากมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น ทำให้ทางการท้องถิ่นหลายแห่งบังคับใช้มาตรการกักกันและข้อจำกัดอื่นๆ ที่ผู้ประท้วงบอกว่าเกินกว่าที่รัฐบาลกลางอนุญาต

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ทางการจีนได้ผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด โดยหวังที่จะลดกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่ลุกลามไปทั่วประเทศ แต่รัฐบาลยังไม่มีแนวโน้มที่จะยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ในอนาคตอันใกล้

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การท้าทายอำนาจของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนจะยังคงสามารถควบคุมสถานการณ์ และเหตุการณ์ประท้วงจะไม่ลุกลามเหมือนกับวิกฤตการณ์เทียนอันเหมินในปี 1989 และหลายรายเชื่อว่าจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์การประท้วงได้ในไม่ช้า 

 

Hung Ho-fung แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ กล่าวว่า การที่จะเกิดเหตุการณ์ประท้วงวุ่นวายถึงขั้นเทียนอันเหมินในปี 1989 จำเป็นต้องเกิดความแตกแยกอย่างเห็นได้ชัดในคณะผู้ปกครองของจีน ซึ่งสีจิ้นผิงจัดการกำจัดภัยคุกคามต่อการครองอำนาจของตนในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเจ้าตัวได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำพรรคและประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 พร้อมกับเปิดตัว 7 ผู้นำในคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ชุดใหม่ ซึ่งมีความภักดีต่อสีจิ้นผิงอย่างมาก 

 

Hung Ho-fung สรุปว่า หากไม่มีสัญญาณความแตกแยกที่ชัดเจนของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ การประท้วงที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้ไม่นาน และเป็นเรื่องยากที่จะคิดว่าประธานาธิบดีสีจะยอมอ่อนข้อ ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์มีประสบการณ์และบทเรียนมาหลายครั้งแล้วในการรับมือกับการชุมนุมประท้วง

 

ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามในการค้นหาสมดุลใหม่ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ซึ่งกระบวนการนี้อาจสั่นคลอนเสถียรภาพของจีนบ้าง แต่ไม่น่าจะลุกลามรุนแรง 

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising