สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ออกแถลงการณ์เตือนไปยังประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีข้อกังขาถึงประสิทธิภาพของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ Zero-COVID ท่ามกลางความไม่พอใจอย่างหนักของประชาชน หลังจากที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เมืองที่เข้มงวดบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงตามมา
ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีประธานาธิบดีสีเป็นประธานนั้น บรรดาเจ้าหน้าที่ได้ปฏิญาณว่า “จะยึดมั่นในนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างแน่วแน่ และพร้อมต่อสู้กับคำกล่าวอ้างหรือการกระทำใดๆ ที่บิดเบือน มีข้อกังขา หรือปฏิเสธนโยบายป้องกันโรคระบาดของจีน”
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับการต่อสู้กับโควิดในจีน หลังจากที่ประชาชนเริ่มแสดงท่าทีโกรธแค้นที่รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในเซี่ยงไฮ้
สมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมืองทั้ง 7 ราย ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า “การกำหนดกลยุทธ์การป้องกันและควบคุมโรคของจีนเป็นไปตามความมุ่งหมายของพรรคคอมมิวนิสต์ นโยบายของเรานั้นจะเป็นที่ยอมรับแม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม ขณะที่มาตรการของเราก็กำหนดขึ้นโดยอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ
“เราเคยชนะในศึกที่เมืองอู่ฮั่น และเรามั่นใจว่าจะสามารถเอาชนะโรคระบาดที่เกิดขึ้นในเซี่ยงไฮ้ได้อย่างแน่นอน”
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังเรียกร้องให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายป้องกันโรคของจีน ‘ให้ลึกซึ้ง สมบูรณ์ และครอบคลุม’ อีกด้วย
“เราจะต้องเอาชนะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดความตระหนักรู้ การไม่เตรียมความพร้อมให้มากพอ หรือการไม่ลงมือปฏิบัติงานให้แข็งขัน และที่สำคัญคือต้องเอาชนะความคิดของตัวเองให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูหมิ่น การไม่เอาใจใส่ และอัตตาในตัวเอง”
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนโยบายของจีนมองว่า การออกคำเตือนที่เฉียบขาดของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เป็นการส่งสัญญาณว่าอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในพรรคเกี่ยวกับนโยบาย Zero-COVID
เดวิด บันดูร์สกี ผู้อำนวยการร่วมของ China Media Project กล่าวว่า “ภาษาในคำเตือนของผู้นำจีนสามารถตีความได้ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการตำหนิผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในระดับท้องถิ่นที่ตั้งคำถามต่อนโยบายจากรัฐบาลกลาง หรือผู้นำที่ไม่สามารถนำนโยบายดังกล่าวมาปรับใช้ในพื้นที่การปกครองของตัวเองได้ดีพอ” ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการโจมตีบรรดาผู้นำของนครเซี่ยงไฮ้ด้วย
อนึ่ง ในช่วงเวลาราว 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวเซี่ยงไฮ้หลายคนได้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการขอความช่วยเหลือและระบายความโกรธแค้นของพวกเขา เนื่องจากขณะนี้เซี่ยงไฮ้เผชิญปัญหาสต๊อกอาหารขาดแคลนและไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ ขณะที่บางคนออกมาตะโกนกรีดร้องนอกหน้าต่าง ทุบหม้อและกระทะเพื่อระบายอารมณ์ความเครียดของตัวเอง ส่วนผู้ที่ทนไม่ไหวก็ยอมออกไปปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ประจำอยู่ตามท้องถนน ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมากในจีน เนื่องจากผู้บังคับใช้กฎหมายมักใช้วิธีปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วยอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม
นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจที่พังเสียหายหนักจากนโยบายปิดเมืองยังทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจเกิดความวิตกกังวล เนื่องจากเซี่ยงไฮ้มีบทบาทในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของประเทศ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการผลิตและการขนส่ง โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาคบริการจีนหดตัวลงรุนแรงที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากภาคบริการจีนมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั้งประเทศ และมีอัตราการจ้างงานมากกว่า 40% ส่วนภาคการผลิตก็ปรับตัวลงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ พื้นที่อื่นๆ ของประเทศก็พบการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนด้วยเช่นกัน ซึ่งทางการจีนก็ได้เลือกใช้การล็อกดาวน์เมืองแม้จะพบผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มาก ส่วนในกรุงปักกิ่งซึ่งพบผู้ติดเชื้อกว่า 500 ราย นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนนั้น ประชาชนต่างกำลังวิตกกังวลว่าทางการจะใช้กลยุทธ์การล็อกดาวน์เฉกเช่นเดียวกับเซี่ยงไฮ้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อู๋เฉียง นักวิเคราะห์ด้านการเมืองจีน เคยได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางที่รัฐบาลจีนจะใช้จัดการกับโรคระบาดครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ หลังจากที่กรณีการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่นได้กลายมาเป็น ‘ข้อขัดแย้ง’ ที่เกิดขึ้นในภายในพรรค
“ประการแรก พรรคคอมมิวนิสต์ประสบปัญหาว่าจะเลือกแนวทางไหนในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด ระหว่างนโยบาย Zero-COVID และแนวทางที่มีความยืดหยุ่นกว่า ส่วนประการที่สองนั้น จีนต้องตัดสินใจว่าจะเลือกควบคุมโควิดให้ได้หรือยึดการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ”
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ล่าสุดจากผู้นำจีนนั้นก็แสดงให้เห็นกระจ่างชัดว่า ผู้นำจีนจะไม่ยอมให้ใครตั้งคำถามหรือหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับนโยบาย Zero-COVID ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จึงมองว่าจีนคงไม่ยอมดำเนินการแบบยืดหยุ่นอย่างแน่นอน
ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images
อ้างอิง: