วิกฤตเศรษฐกิจจีนที่มีจุดศูนย์กลางปัญหาอยู่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เดินทางมาถึงจุดที่รัฐบาลจีนภายการนำของประธานาธิบดี ‘สีจิ้นผิง’ อาจต้องเร่งตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะ ‘ใช้ยาแรง’ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจจีนโดยเร็วหรือไม่
หนึ่งในต้นตอของวิกฤตครั้งนี้เกิดจากบริษัทที่ชื่อว่า China Evergrande Group ผู้พัฒนาอสังหายักษ์ใหญ่ของจีนที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1996 ก่อนจะเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วยการ ‘ก่อหนี้’ ในปริมาณมหาศาล จนล่าสุดมีหนี้สูงกว่า 2.39 ล้านล้านหยวน (3.3 แสนล้านดอลลาร์)
Evergrande เติบโตอย่างต่อเนื่องในยามที่ตลาดอสังหาขยายตัวได้ปกติ แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผัน อาณาจักร Evergrande ก็ล่มสลายอย่างรวดเร็ว
ปลายปี 2021 Evergrande ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้และต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วบริษัทก็เดินมาจนถึงวันที่ถูกศาลฮ่องกงสั่งให้ต้องยุติการดำเนินกิจการ และขายสินทรัพย์เท่าที่เหลืออยู่ราว 1.74 ล้านล้านหยวน เพื่อนำไปคืนหนี้
ส่วนหนึ่งที่ทำให้แผนการฟื้นฟูกิจการของ Evergrande สะดุดลง เป็นเพราะ ฮุยคายัน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการของบริษัทถูกตำรวจควบคุมตัว เพราะต้องสงสัยในการกระทำผิดกฎหมาย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดกับ Evergrande เปรียบเหมือนการ “เดินมาถึงกลางทางของวิกฤต” จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกล่าวว่า “ราคาอสังหาในจีนจะปรับตัวลดลงต่อ และกระทบต่อผู้ประกอบการเจ้าอื่น”
สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ จะมีผู้พัฒนาอสังหารายอื่นที่ต้องยุติกิจการดังเช่น Evergrande อีกมากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาก็มีบริษัทอีกหลายแห่งที่ผิดนัดชำระหนี้ไม่ต่างกัน เช่น Logan Group หรือ Kaisa Group Holdings
ทำไมรัฐบาลจีนไม่เข้ามา ‘อุ้ม’ บริษัทอสังหา
จิติพลมองว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นคล้ายกับวิกฤตต้มยำกุ้งในไทย หรือวิกฤตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอดีต ซึ่งมีต้นตอจากภาคอสังหา
“ไทยฟื้นตัวได้เร็วจากวิกฤตต้มยำกุ้งเพราะมีภาคส่งออกเข้ามาช่วยหลังการลอยตัวค่าเงินบาท แต่หากวิกฤตในจีนไม่มีตัวช่วย เราอาจเห็นเศรษฐกิจจีนซึมยาวนับ 10 ปี แบบที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่น”
จิติพลกล่าวต่อว่า หากจีนจะฟื้นจากวิกฤตได้เร็วเราอาจต้องเห็นรัฐบาลจีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลง 30-50% หรือจากประมาณ 7 หยวนต่อดอลลาร์ ไปอยู่ที่ประมาณ 10 หยวนต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็อาจต้องอัดฉีดเงินปริมาณมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หรือราว 20-30% ของ GDP จีน
ขณะที่ Bloomberg ระบุว่า สาเหตุที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ปล่อยให้วิกฤตอสังหาลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน เพราะมีแนวคิดว่าอสังหามีไว้เพื่ออยู่อาศัย ไม่ได้มีไว้เพื่อเก็งกำไร แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะผ่อนปรนนโยบายให้เก็งกำไรได้มากขึ้นในบางพื้นที่ แต่ก็ยังไม่มากพอ
สีจิ้นผิง เคยบอกไว้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจควรเกิดขึ้นจากสิ่งที่ยั่งยืน เช่น การผลิตสินค้าและบริการ แทนที่จะเป็นการเติบโตจากการสร้าง ‘ป่าคอนกรีต’ ต่อไปเรื่อยๆ
ผลกระทบต่อการลงทุนในจีน
แน่นอนว่าผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นต่อการลงทุนในจีนคือผู้ถือหุ้นกู้และผู้ถือหุ้น Evergrande หลังจากวิกฤตเกิดขึ้นมูลค่าของ Evergrande ที่เคยสูงถึง 4.14 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง เมื่อปี 2017 ปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียง 2.15 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง
ขณะเดียวกัน ดัชนีตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นจีนต่างดิ่งลงเกือบ 30% ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จิติพลเชื่อว่าวิกฤตอสังหาจีนครั้งนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและต้องใช้เวลาแก้ไขนานพอสมควร
“ปัญหาของจีนในตอนนี้คือขาดปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยให้ตลาดฟื้นกลับขึ้นไปได้ แม้ว่าความเสี่ยงที่หุ้นจีนจะลงไปหนักๆ หลังจากนี้อาจจะไม่มากแล้ว”
ในอดีตมีการประเมินกันว่าจีนจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แต่ด้วยภาพนี้ความคาดหวังนั้นอาจหายไปแล้ว และยิ่งสวนทางกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตขึ้นอีกในตอนนี้
“ข่าวร้ายสะท้อนในราคาไปพอสมควรแล้ว และเหมาะสมกับการเติบโตรูปแบบใหม่ของจีนแล้ว ในระยะยาวมีโอกาสที่จีนจะฟื้นตัวกลับมา คำถามคือแค่ช้าหรือเร็ว แต่ในระยะสั้น หากเทียบกับตลาดอย่างญี่ปุ่น อินเดีย ต้องยอมรับว่าน่าสนใจมากกว่าจีน”
ขณะที่รัฐบาลจีนพยายามพยุงการไหลลงของตลาดหุ้น โดยการออกนโยบายสั่งห้ามยืมหุ้นบางส่วนเพื่อขายชอร์ต
ฮีบี เฉิน นักกลยุทธ์ของ IG Markets กล่าวว่า “การจำกัดการขายชอร์ตหุ้นจีนจะช่วยให้หุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตดีอย่างพลังงานรูปแบบใหม่และหุ้น EV มีอนาคตสดใสมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้เป็นเพียงแรงหนุนระยะสั้น สิ่งที่ยังขาดคือยาแรงที่จะเข้ามาช่วยรักษาต้นตอของปัญหา”