×

จับตาประชุมสองสภาจีน รับรองสีจิ้นผิงเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย แต่งตั้งนายกฯ ใหม่

03.03.2023
  • LOADING...
สีจิ้นผิง

สุดสัปดาห์นี้การประชุมสองสภาประจำปีของจีนจะเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่สำคัญที่สุดในปฏิทินการเมืองจีน เนื่องจากจะมีการรายงานและประเมินผลงานของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา การแถลงนโยบายปฏิรูปครั้งสำคัญ ตลอดจนการกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมของจีน และการโยกย้ายหรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล 

 

เหนือสิ่งอื่นใด ประเด็นที่ทั่วโลกจับจ้องมากที่สุดสำหรับการประชุมครั้งนี้คือ การประกาศรับรองสีจิ้นผิงนั่งเก้าอี้ผู้นำจีนเป็นสมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการด้วย หลังจากที่เขาได้รับเลือกให้สานต่อตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการประชุมสมัชชาใหญ่ที่ปิดฉากลงไปเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2022

 

ก่อนที่การประชุมสองสภาจะเปิดฉากขึ้นนั้น THE STANDARD ขออุ่นเครื่องด้วยการสรุปให้เข้าใจกันก่อนว่าการประชุมสองสภาจีนคืออะไร สำคัญอย่างไร และคาดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในการประชุมครั้งนี้

  • การประชุมสองสภาคืออะไร

เหตุที่เรียกการประชุมนี้ว่าเป็นการประชุม ‘สองสภา’ เนื่องจากระบบการเมืองจีนจะมีการจัดประชุมแยกกันคือ การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) และการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ (CPPCC) โดยจะจัดขึ้นในเวลาเดียวกัน เริ่มจากวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2023 จะเป็นการประชุมของ CPPCC หรือหากเทียบเคียงให้เข้าใจง่ายขึ้นคือมีลักษณะคล้ายกับวุฒิสภาของบ้านเรา และต่อมาในวันที่ 5 มีนาคมจะเป็นการประชุมของ NPC ซึ่งเปรียบเป็นสภาผู้แทนราษฎร

 

สภาประชาชนแห่งชาติจีน หรือ NPC เป็นกลไกนิติบัญญัติสูงสุดของรัฐ แต่ถึงเช่นนั้นก็มักจะถูกต่างชาติปรามาสว่าเป็นเพียงสภาตรายางที่คอยประทับตราอนุมัตินโยบายหรือกฎหมายต่างๆ ที่ผลักดันโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ โดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือการโหวตคัดค้านแต่อย่างใด

 

แต่ในทางเทคนิคแล้วสภาแห่งนี้ถือเป็นองค์กรรัฐที่มีอำนาจสูงสุดตามรัฐธรรมนูญของจีน ประกอบด้วยผู้แทนประชาชนจากทั่วประเทศประมาณ 3,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ละคนจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยในปีที่ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีกำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งนั้น สมาชิก NPC จะโหวตเลือกประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย 

 

ส่วนสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ หรือ CPPCC เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา โดยสมาชิก CPPCC จะเป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชาชีพที่จะให้คำปรึกษาแก่พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และสังคม ความพิเศษของสภาแห่งนี้คือมีบุคคลมีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจ กีฬา และบันเทิง เป็นสมาชิกอยู่ด้วย อย่างเช่นล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 กุมภาพันธ์) สื่อของจีนได้รายงานว่าหนึ่งในนักบินเครื่องบินรบหญิงคนแรกของประเทศก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนด้วย

  • จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในการประชุมครั้งนี้

สมาชิกหลายพันคนของทั้งสองสภาจะเดินทางมาประชุมที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เพื่อให้สัตยาบันหรือโหวตรับรองนโยบาย กฎหมาย งบประมาณ รวมถึงการโยกย้ายหรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ซึ่งปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ด้วยกัน

 

การประชุมสองสภาที่จะเกิดขึ้นนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด หลังจากที่ทางการจีนได้ยกเลิกมาตรการสกัดโควิดที่เข้มงวดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งหากย้อนกลับไปดูการประชุมสองสภาในปี 2020 จะพบว่าในปีดังกล่าวการประชุมถูกเลื่อนออกไปนานหลายเดือน ขณะที่การประชุมสองสภาในปี 2021 และ 2022 ระยะเวลาในการหารือก็หดสั้นลงเหลือเพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม นักข่าวที่จะเข้าร่วมทำข่าวในการประชุมที่กรุงปักกิ่งปลายสัปดาห์นี้จะต้องถูกกักตัวในโรงแรมที่ภาครัฐจัดหาไว้ให้ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันศุกร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทางการก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดอยู่บ้าง

 

ต่อมาในวันเสาร์ (4 มีนาคม) คาดว่าสีจิ้นผิงจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เพื่อเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่จะกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลจีนในปีต่อไป อย่างไรก็ตาม ต่างชาติมองว่าการแถลงของสีจิ้นผิงนั้น ‘เป็นไปตามพิธีการ’ เพราะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนระดับอาวุโสล้วนได้พบปะกันเพื่อสรุปและอนุมัติรายละเอียดส่วนใหญ่มาก่อนแล้ว

 

แต่ถึงเช่นนั้นการประชุมสองสภาก็ยังเป็นที่น่าจับตา เนื่องจากเป็นอีเวนต์ที่เราจะได้เห็นการประกาศนโยบายที่สำคัญ เช่น ในปี 2021 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกเครื่องระบบการเลือกตั้งของฮ่องกง เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีเพียง ‘ผู้รักชาติ’ เท่านั้นที่จะได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการปกครอง ท่ามกลางความพยายามที่จะกีดกันไม่ให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนประชาธิปไตยหรือเห็นต่างเข้ามามีส่วนร่วมในแวดวงการเมืองของฮ่องกงในขณะนั้น หรืออย่างในปี 2020 การประชุมสองสภาก็มีการผลักดันการออกกฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง ซึ่งเจอกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อปราบปรามผู้ที่คิดต่างทางการเมือง

 

และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการประชุมสองสภาในปี 2018 ซึ่งที่ประชุม NPC มีมติเกือบเป็นเอกฉันท์ รับรองให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกบทบัญญัติที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนไม่เกิน 2 สมัย เพื่อเปิดทางให้สีจิ้นผิงสามารถครองอำนาจผู้นำประเทศจีนไปได้อีกหลายสมัย จนกว่าสีจิ้นผิงจะสละตำแหน่ง หรือเป็นไปตลอดชีวิตก็อาจเป็นได้ หากประมุขของประเทศต้องการ

  • ทำไมการประชุมปีนี้จึงน่าจับตาเป็นพิเศษ

การประชุมสองสภาในปีนี้ถือเป็นปีแรกของคณะผู้นำชุดใหม่จากพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะบริหารประเทศไปอีก 5 ปี โดยในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สีจิ้นผิงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรง 2 ตำแหน่งสำคัญด้วยกัน ได้แก่ ประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 ซึ่งปูทางสู่ตำแหน่งต่อมานั่นคือ ‘ประธานาธิบดีสมัยที่ 3’ ที่จะประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมสองสภาที่จวนเจียนจะเปิดฉากขึ้นนี้

 

นอกจากนี้ ในการประชุมเมื่อเดือนตุลาคมเรายังได้เห็นความพยายามในการกระชับอำนาจไว้ในมืออย่างเด็ดขาดของสีจิ้นผิง โดยในวันที่จีนประกาศรายชื่อ 7 คีย์แมนในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง หรือ โปลิตบูโร จะเห็นได้ว่าสมาชิกที่รายล้อมสีจิ้นผิงตั้งแต่เบอร์ 2 ถึงเบอร์ 7 ล้วนแล้วแต่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดหรือคนสนิทของตนเองทั้งสิ้น ฉะนั้นนักวิเคราะห์จึงมองว่าการประชุมสองสภาก็น่าจะมีบรรยากาศที่ไม่แตกต่างกัน หรือก็คือสีจิ้นผิงจะยังคงเดินหน้าสร้างเครือข่ายผู้ที่สนับสนุนตนเอง เพื่อกระชับอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในช่วงอย่างน้อย 5 ปีนับจากนี้ 

 

ประเด็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิดที่สุดในวาระการประชุมสองสภาปีนี้คือ การเปลี่ยนแปลงโยกย้ายตำแหน่งผู้นำในสถาบันสำคัญของรัฐ โดยวานนี้ (1 มีนาคม) สื่อท้องถิ่นของจีนรายงานว่า ที่ประชุมได้ยืนยันรายชื่อแคนดิเดตที่จะเข้ามานั่งเก้าอี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางจีน

 

สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นที่คาดหมายกันว่า หลี่เฉียง จะเป็นผู้ที่ก้าวขึ้นมารับหน้าที่อันสำคัญนี้ต่อจาก หลี่เค่อเฉียง ที่กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่ง เนื่องจากเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคีย์แมนเบอร์ 2 ในโปลิตบูโร เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งเบอร์ 2 หรือเบอร์ 3 ในกลุ่มผู้นำพรรคที่มีอยู่ 7 คน จะได้ก้าวสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี 

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจจะตกเป็นของกลุ่มผู้ที่จงรักภักดีของสีจิ้นผิงด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเข้ามาแทนที่เจ้าหน้าที่รุ่นเก่าซึ่งถูกมองว่ามีแนวคิดในเชิงปฏิรูปมากกว่า 

 

สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิดว่า เหอลี่เฟิง (He Lifeng) พันธมิตรที่เหนียวแน่นของสีจิ้นผิง จะก้าวเข้ามานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ จูเหอซิน (Zhu Hexin) คาดว่าจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ แทนที่ อี้กัง (Yi Gang) นอกจากนี้ NPC จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลในตำแหน่งอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น รองประธานาธิบดี, ประธาน NPC, มนตรีแห่งรัฐจีน และประธานศาลสูงสุด

 

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ระดับสูงแล้ว อีกหัวข้อสำคัญในวาระการประชุมสองสภาในแต่ละปีจะเป็นเป้าหมายการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของจีน สิ่งที่ผู้คนรอดูมากที่สุดคือตัวเลขสำคัญอย่างเป้าหมายการขยายตัวของ GDP ย้อนกลับไปในปี 2022 จีนเคยตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ประมาณ 5.5% แต่หลังจากที่เจอหลายอุปสรรคถาโถม ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงสถานการณ์โลก ทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP ไปไม่ถึงเป้า หรืออยู่ที่เพียง 3% แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังสูงกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ส่วนใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี

 

อย่างไรก็ดี หลังช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจีนได้ยกเลิกมาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวด และประกาศชัยชนะเหนือโควิด เศรษฐกิจของจีนก็เริ่มที่จะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากตัวชี้วัดหลายประการ เช่น อัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกิจกรรมในภาคการผลิตที่ขยายตัวขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงคาดการณ์ว่า GDP จีนปีนี้จะโตเหนือระดับ 5% โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ 5.2% เทียบกับเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะโต 2.9%

 

นอกเหนือจาก GDP แล้ว อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจไม่แพ้กันคืองบประมาณด้านกลาโหม หลังจากเมื่อปี 2022 จีนใช้จ่ายงบประมาณทางทหารเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่สหรัฐฯ ค้าอาวุธให้กับไต้หวัน รวมถึงการเปิดฉากภารกิจซ้อมรบในทะเลจีนใต้ และข้อพิพาทด้านพรมแดนกับอินเดีย โดยตัวเลขดังกล่าวจะถือเป็นเครื่องชี้วัดด้วยว่าจีนจะมีความแข็งกร้าวทางทหารขึ้นมากน้อยเพียงใดต่อจากนี้

 

สื่อของจีนรายงานเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า มีแนวโน้มที่ในที่ประชุม NPC จะหารือเกี่ยวกับแผนการของสีจิ้นผิงในประเด็นการปรับโครงสร้างองค์กรของรัฐและพรรคคอมมิวนิสต์อย่าง ‘เข้มข้น’ และ ‘กว้างขวาง’ แต่ก็ไม่ได้ลงลึกว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ขณะที่มีข่าวว่าสมาชิก NPC และ CPPCC หลายคนได้เสนอนโยบายในช่วงไม่กี่วันมานี้ โดยหนึ่งประเด็นร้อนคือปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์ของจีนที่ต่ำเป็นประวัติการณ์

 

ด้านประเด็นอื่นๆ ที่ต้องจับตาดู ครอบคลุมการลงคะแนนในการแก้ไขกฎหมายที่ควบคุมกระบวนการนิติบัญญัติ และระบบตรวจสอบรายงานจากศาลฎีกา อัยการสูงสุด และคณะกรรมการสภานิติบัญญัติสูงสุด นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าจะมีการลงคะแนนเสียงในแผนปรับปรุงสถาบันพรรคและรัฐบาลซึ่งจะมีการหารือกันต่อไป

 

ภาพ: Lintao Zhang / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising