ช่วงวันที่ 14-18 เมษายน หลายท่านคงจะได้เห็นภาพสุดชื่นมื่นของผู้นำจีน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในการเดินทางไปเยือน 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ซึ่งถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของสีจิ้นผิงในปีนี้ด้วย การเดินทางเยือนอาเซียนของผู้นำจีน เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามภาษี และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ในยุคทรัมป์ป่วนโลกอย่างหนัก ทำไมสีจิ้นผิงเลือกไปเยือน 3 ประเทศนี้ในกลุ่มอาเซียน การขยับของจีนครั้งนี้สะท้อนอะไร เหตุผลสำคัญในการเลือกเดินทางมาอาเซียนของสีจิ้นผิง คงไม่ได้มีแค่คำอธิบายในภาษาทางการที่เผยแพร่กันทั่วไป เช่น
- ไปเวียดนาม เพราะจะไปฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์จีน-เวียดนาม และเวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนในอาเซียน
- ไปมาเลเซีย เพราะปีนี้ มาเลเซียเป็นประธานอาเซียน และจีนลงทุนมหาศาลในมาเลเซีย
- ไปกัมพูชา เพราะเป็นพันธมิตรในสังกัดจีน และเอียงข้างจีนมานาน ฯลฯ
แล้วอะไรที่น่าจะเป็นเหตุผลเบื้องลึกมากกว่าสิ่งที่พูดกันทั่วไป บทความนี้จะมาไล่เรียงรายประเทศ ดังนี้
ประเทศแรกที่สีจิ้นผิงไปเยือน คือ เวียดนาม
ในยุคสีจิ้นผิง รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับเวียดนามอย่างยิ่งยวด สองสหายคอมมิวนิสต์มีความแนบแน่นกันมานาน และก้าวข้ามความขัดแย้งเพื่ออนาคต
เมื่อมาถึงยุคทรัมป์ขึ้นภาษีมหาโหดกับเวียดนาม เพื่อความอยู่รอด เวียดนามจำเป็นต้องยอมหมอบให้สหรัฐฯ (เช่น รีบเสนอลดภาษีเหลือ 0 ให้สหรัฐฯ) ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจเวียดนามจะถูกกระทบหนัก เพราะเวียดนามพึ่งพารายได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนที่สูงมาก
ดังนั้น ในมุมจีน เพื่อไม่ให้เวียดนามเอนเอียงหรือยอมหมอบให้สหรัฐฯ ไปมากกว่านี้ สีจิ้นผิงจึงต้องการย้ำความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับสหายเวียดนาม และตอกย้ำความมีภราดรภาพ (brotherhood) กับสหายร่วมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เราจึงเห็นภาพความใกล้ชิดชื่นมื่นระหว่างโตเลิม ผู้นำสูงสุดของเวียดนาม และสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีน รวมทั้งการปลุกกระแสความรักชาติยิ่งชีพ ไม่ยอมให้ใครมาย่ำยี มีการกล่าวตอกย้ำประสบการณ์ในการลุกฮือเพื่อต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม (Colonialism) และจักรวรรดินิยม (Imperialism)
ทั้งนี้ ลึกๆ แล้ว จีนก็อาจจะแอบกังวลว่า ท่าทีของเวียดนามในยุคโตเลิมเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญ (priority) หรือเทใจมาทางจีนมากเหมือนยุคของอดีตเลขาฯ เหงียนฝู่จ่อง ที่เพิ่งเสียชีวิตไป
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และอิลอน มัสก์ ก็มีผลประโยชน์ทางธุรกิจในเวียดนาม ครอบครัวทรัมป์โดย Trump Organization มีโครงการลงทุนมหาศาลกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างสนามกอล์ฟและโรงแรมรีสอร์ตในเมืองบ้านเกิดของโตเลิม และยังมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักธุรกิจใหญ่ในเวียดนาม (เช่น นางเหวียน เจ้าของสายการบิน Vietjet)
ดังนั้น การไปเยือนเวียดนามรอบนี้ ฝ่ายจีนจึงเร่งรุกขยายความร่วมมือกับเวียดนาม และลงนามความร่วมมือระหว่างกันมากถึง 45 ฉบับ
ประเทศที่สองที่สีจิ้นผิงไปเยือน คือ มาเลเซีย
ในยุคนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม มาเลเซียมีท่าทีเชิงบวกและมีใจให้กับจีน และมาเลเซียยังเป็นประเทศมุสลิมที่มีท่าทีแข็งกร้าวกับชาติตะวันตก (ยิว) อย่างชัดเจน จีนจึงมองเห็นศักยภาพของมาเลเซียที่จะมีบทบาทในกลุ่มโลกขั้วใต้ (Global South) ร่วมกับจีน เพื่อร่วมกันคานอำนาจบาตรใหญ่ของมหาอำนาจสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจึงใช้จังหวะเวลานี้ไปเยือนมาเลเซีย เพื่อซื้อใจมาเลเซียที่เป็นประเทศมุสลิมสายแข็ง กล้าแข็งกร้าวกับชาติตะวันตกในประเด็นอิสราเอล-ฮามาส
ที่สำคัญ มาเลเซียมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ในการเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานขั้วใหม่ จีนจึงต้องการดึงมาเลเซียมาเป็นพรรคพวกในกลุ่มโลกขั้วใต้ โดยเฉพาะการผลักดันให้มาเลเซียกลายเป็นสมาชิก BRICS แบบ Full Member ต่อไป
นอกจากนี้ มาเลเซียยุคอันวาร์ ยังได้ให้การต้อนรับและส่งเสริมโครงการลงทุนของจีนจำนวนมาก เช่น โครงการรถไฟ ECRL เชื่อมมาเลเซียฝั่งตะวันออก และมีบริษัทจีนชั้นนำหลายแห่งไปลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์บนเกาะปีนังในมาเลเซีย ค่ายรถ Geely ของจีน ไปช่วยลงทุนในค่ายรถ Proton ของมาเลเซียที่ขาดทุนหนัก รวมทั้งกลุ่มทุนใหญ่ของจีนยังได้ไปช่วยพยุงกองทุน 1MDB ของมาเลเซียที่มีปัญหาทางการเงิน (ในขณะที่บางประเทศในอาเซียนมีกระแสต่อต้านทุนจีนอย่างหนัก)
ประเทศสุดท้ายที่สีจิ้นผิงไปเยือน คือ กัมพูชา
ในยุคนายกรัฐมนตรีฮุนมาเนต ท่าทีของกัมพูชาต่อจีนก็อาจจะไม่จงรักภักดีมากเท่ากับในยุคพ่อ คือ สมเด็จฯ ฮุนเซน เพราะฮุนมาเนตเป็นผู้นำหัวสมัยใหม่ รับการศึกษาและหล่อหลอมทางความคิดมาจากโลกตะวันตก จึงอาจจะปรับท่าที เพื่อไม่เอียงข้างจีนมากเกินไป (เหมือนยุคพ่อ) และแสวงหาความร่วมมือกับชาติตะวันตกมากขึ้น
ล่าสุด ผู้บริหาร SpaceX ของอิลอน มัสก์ เพิ่งไปพบนายกฯ ฮุนมาเนต เพื่อหารือความร่วมมือในการให้บริการ Starlink และอื่นๆ
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจึงเลือกแวะไปกัมพูชาเป็นประเทศสุดท้ายในทริปนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับกัมพูชา โดยเฉพาะด้านความมั่นคง และเพื่อตอกย้ำให้กัมพูชายังคงอยู่ฝั่งจีนอย่างเหนียวแน่นต่อไป
สำหรับคำถามที่พูดกันมากว่า “ทำไมสีจิ้นผิงไม่มาไทย” หากอ่านใจสีจิ้นผิงในกรณีของไทย การแวะมาไทยไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้น สีจิ้นผิงจึงใช้เวลาอันจำกัดไปทางอื่นดีกว่า จีนเลือกวิธีเก็บไทยไว้เป็นเพื่อนแบบที่เป็นอยู่ดีกว่า พูดกับไทยไม่ยาก จีนตระหนักดีจากท่าทีของรัฐบาลไทยชุดนี้ว่า ยังไงก็ไม่กล้าเอาใจออกห่างจากจีน
ขอให้ตั้งใจไล่เรียงอ่านเหตุผลเบื้องลึกในการเยือน 3 ประเทศนี้ แล้วท่านก็จะพบคำตอบระหว่างบรรทัดอย่างชัดเจนแล้วว่า ทำไมไม่มาไทย
โดยสรุป เหตุผลสำคัญที่สีจิ้นผิงเลือกเยือน 3 ประเทศนี้ในอาเซียน ก็เพราะจีนต้องการสร้างพลังต่อรองกับคู่ชกหลัก คือ สหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจีนต้องการที่จะรักษาและทำให้มั่นใจว่าพันธมิตรทางการเมืองระหว่างประเทศของจีนจะแน่นแฟ้นและช่วยรักษาผลประโยชน์ของจีนได้นั่นเอง
ภาพ: Vincent Thian / Pool via REUTERS