×

ถอดรหัสวางตัวขุนพลข้างกาย สีจิ้นผิง กุมอำนาจทหารเบ็ดเสร็จ สานเป้าหมายความมั่นคง-พัฒนากองทัพจีนให้ทันสมัย

07.11.2022
  • LOADING...
สีจิ้นผิง

เมื่อประเด็นจีน-ไต้หวันยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นการเมืองระหว่างประเทศที่มีการพูดถึงอยู่ตลอด โดยเฉพาะช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเราได้เห็น สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งรับตำแหน่งสมัยที่ 3 ได้เน้นย้ำจุดยืน ‘จีนเดียว’ พร้อมกับชี้ว่า การแก้ไขประเด็นไต้หวันเป็นเรื่องที่คนจีนจะจัดการเองตามแนวทางสันติวิธี แต่จีนก็พร้อมที่จะใช้กำลังและมาตรการจำเป็นตอบโต้ หากมีกองกำลังภายนอกหรือใครก็ตามแต่มาแทรกแซงกิจการภายในของจีน

 

ด้วยการแสดงจุดยืนข้างต้น ทำให้แม้การประชุมจะจบลงไปแล้ว แต่ยังคงมีการวิเคราะห์และถกประเด็นนี้ในวงกว้างว่า จีนจะเดินไปในทิศทางใดต่อ จะใช้สันติวิธีจริงหรือไม่? หรือจีนจะพร้อมใช้กำลังจริงๆ ไม่ใช่แค่การขู่? หรือสงครามจะเกิดเหมือนกับกรณีรัสเซีย-ยูเครน? ทำให้หลายฝ่ายเริ่มจับตามองไปยัง ‘นโยบายด้านความมั่นคงและทางการทหาร’ ของจีน

 

สีจิ้นผิง

 

ในรายงานที่ สีจิ้นผิง นำเสนอในการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 20 ในนามของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 มีการกล่าวถึงคำว่า ‘ความมั่นคง’ ราว 80 ครั้ง มากกว่าการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ เมื่อ 5 ปีก่อนหน้า 

 

โดย ‘ความมั่นคงของชาติ’ (National Security) ถูกนำไปผูกกับการเป็น ‘รากฐานสำคัญของการฟื้นฟูชาติ’ (Bedrock of National Rejuvenation) ซึ่งเป็นความมั่นคงแบบองค์รวมทุกด้าน ไม่ใช่แค่หมายถึงความมั่นคงทางอธิปไตยหรือทางการทหาร แต่หมายรวมถึงความมั่นคงอื่นๆ เช่น ความมั่นคงทางด้านพลังงาน ความมั่นคงทางทรัพยากร แต่จากการวิเคราะห์ก็ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า นัยของคำว่า Security ที่ถูกกล่าวถึงนั้น โดยส่วนใหญ่ไปในแนวทางของความมั่นคงของชาติที่เกี่ยวเนื่องกับการทหาร

 

โดย Military หรือ ‘ทหาร’ ถูกกล่าวถึงมากกว่า 50 ครั้ง ซึ่งน่าสังเกตว่าถูกกล่าวถึงมากกว่าคำว่า National Defense หรือ ‘การป้องกันประเทศ’ โดยตรง ในสัดส่วน 4 ต่อ 1 เลยทีเดียว เนื่องจาก ‘การทหาร’ ของจีน ถูกแทรกอยู่ในหัวข้อส่วนใหญ่ของรายงาน ดังที่เราได้รับทราบแล้วว่าการทหารหรือกองทัพในจีนถือเป็นแกนหลักของประเทศและพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

 

ซึ่งเมื่อจีนกล่าวถึงปัญหาความมั่นคงของประเทศตนจะชี้ให้เห็นว่า “ระบบรักษาความมั่นคงของชาติไม่เพียงพอ (ความมั่นคงทุกด้าน ไม่ใช่แค่ด้านอธิปไตยตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น)” โดยจีนกระตุ้นการยึดมั่นในพรรคคอมมิวนิสต์และแนวคิดสังคมนิยม รวมถึงการรักชาติ โดยชูประเด็นจีนเดียวภายใต้ 1 ประเทศ 2 ระบบ ที่จีนชี้ว่าเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพในการปกครองฮ่องกงและมาเก๊า และเดินหน้าสร้างระบบดังกล่าวในไต้หวัน 

 

เราจึงได้เห็นเป้าหมาย ‘สร้างการทหารทันสมัยแบบจีน’ เคียงคู่ไปกับ ‘สังคมนิยมทันสมัยแบบจีน’ โดยเริ่มจากการบรรลุเป้าหมาย 100 ปีของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army: PLA) ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกสั้นๆ ว่า ‘กองทัพจีน’ ในปี 2027 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า โดยการสร้างความมั่นคงและสร้างจีนสงบสุข เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่จีนวางไว้ในปี 2035 ที่ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบความมั่นคง บรรลุความทันสมัยขั้นพื้นฐานของการป้องกันประเทศและกองกำลังของตน และบรรลุการมีกองทัพระดับเวิลด์คลาส (World Class Military) ในปี 2050

  

สีจิ้นผิง

 

ในการรายงานการทำงานที่ผ่านการพิจารณาแล้วจากการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 7 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 โดยมี สีจิ้นผิง เป็นตัวแทนส่งและกล่าวรายงาน ระบุไว้ชัดเจนถึงการสร้างกลไกทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความแข็งแกร่งและอยู่เหนือกองทัพ อันรวมไปถึงการขจัดทุจริตและปราบคอร์รัปชันในกองทัพ ดังประโยค ‘คอร์รัปชันเป็นดังมะเร็งร้ายที่กัดกินพรรคคอมมิวนิสต์จีน’ ที่ สีจิ้นผิง กล่าวในรายงานการทำงาน โดยความพยายามกวาดล้างการทุจริตและคอร์รัปชันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภายในพรรคเท่านั้น แต่รวมถึงในกองทัพด้วย 

 

พร้อมทั้งเน้นย้ำผู้รับผิดชอบและมีอำนาจสูงสุดของกองทัพและกองกำลังทั้งหมดในจีนคือ ประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง (Central Military Commission: CMC) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งผู้รับตำแหน่งปัจจุบันยังคงเป็น สีจิ้นผิง

 

นอกจาก สีจิ้นผิง ที่ได้รับเลือกเป็นทั้งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีนอีกหนึ่งสมัยแล้ว ตำแหน่งที่ทำให้เห็นถึงทิศทางของกองทัพจีนในอนาคตคือ ตำแหน่งรองประธานทั้งสองและคณะกรรมการอีก 4 คน โดยทั้งหมดล้วนเป็นระดับ ‘นายพล’ ของกองทัพจีน 

 

ไปดูกันว่า ‘ขุนพลแห่งความมั่นคงของชาติ’ ของสีจิ้นผิง มีใครบ้าง

 

นายพล จางโย่วเสีย  

นายพลวัย 72 ปี ผู้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในคนที่ สีจิ้นผิง เชื่อใจมากที่สุด และเป็นเสมือนพี่ชายร่วมสาบานของผู้นำสูงสุดของจีน โดยมีความใกล้ชิดตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยพ่อของทั้งคู่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยเหตุนี้เองทำให้วิเคราะห์ได้ว่า หนึ่งในเหตุผลหลักที่นายพลจางได้รับเลือกให้มาสู่คณะกรรมาธิการทหารกลางอีกครั้ง และขยับจากรองประธานลำดับที่ 2 เป็นรองประธานลำดับที่ 1 ในครั้งนี้ เป็นเพราะ สีจิ้นผิง ต้องการคนที่ไว้ใจและใกล้ชิดเขาอยู่เคียงข้าง 

 

และเป็นอีกครั้งที่ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของพรรค เนื่องจากโดยปกติผู้ที่อายุถึง 68 ปี จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำระดับสูงของพรรคและของประเทศ แต่กลายเป็นว่าในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 ของ สีจิ้นผิง มีการก้าวข้ามออกจากระเบียบนี้ ทั้งในการแต่งตั้งคณะกรรมการประจำโปลิตบูโร (กรมการเมือง) และคณะกรรมาธิการทหารกลาง

 

นอกจากความใกล้ชิดและเป็นคนที่ สีจิ้นผิง ไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่งแล้ว อีกสาเหตุที่เป็นไปได้คือ สีจิ้นผิง ต้องการคนสานต่อเป้าหมายการทหารที่ทันสมัยแบบจีน โดยเฉพาะในด้านยุทโธปกรณ์และนวัตกรรมต่างๆ

 

โดย จางโย่วเสีย เป็นอดีตผู้กุมบังเหียนกองบัญชาการใหญ่ยุทโธปกรณ์ (General Armaments Department) ซึ่งดำรงตำแหน่งในสมัยที่ สีจิ้นผิง ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนวาระแรก 

 

โครงการสำรวจดวงจันทร์ โครงการอวกาศ และโครงการบูรณาการและพัฒนานวัตกรรมทางการทหารอื่นๆ ของจีน ก็อยู่ภายใต้การดูแลของ จางโย่วเสีย ในขณะนั้นซึ่งอาจกล่าวได้ว่านายพลจางผู้นี้เป็นคนขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปทางการทหารของ สีจิ้นผิง และเมื่อใกล้ถึงเป้าหมายแรกของหมุดหมาย ‘100 ปี กองทัพจีน’ ในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงมีเหตุผลเพียงพอให้นายพลจางต้องอยู่ต่อไป ทั้งสานต่อการปฏิรูปกองทัพและถ่ายทอดประสบการณ์ของเขา ในฐานะเป็นพี่เลี้ยงให้กับสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางทหารรุ่นใหม่ 

 

นายพล เหอเหว่ยตง 

พลเอกแห่งกองทัพจีนวัย 65 ปี ก้าวสู่สมาชิกโปลิตบูโรและคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีนเป็นครั้งแรก และได้รับตำแหน่งรองประธานลำดับที่ 2 ต่อจากนายพล จางโย่วเสีย 

 

นายพลเหอเป็นคีย์แมนสำคัญในหลายต่อหลายครั้งที่จีนมีข้อพิพาทกับสหรัฐอเมริกาและไต้หวัน อย่างกรณีล่าสุด แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน ท่ามกลางการคัดค้านของจีน ก็มีข่าวออกมาว่า นายพลเหอ อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการภาคตะวันออกของกองทัพจีน เป็นผู้เตรียมการแผนซ้อมรบรอบไต้หวันเพื่อกดดัน 

 

ไม่ใช่แค่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการดำเนินยุทธศาสตร์ของกองทัพจีนในประเด็นไต้หวัน ในฐานะของอดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการตะวันออกที่มีขอบเขตพื้นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันโดยตรง เขายังเป็นชาวมณฑลฝูเจี้ยน มณฑลด่านหน้าในการประจันหน้าไต้หวันของจีน และอยู่ในหมู่กองทัพที่ 31 (31st Group Army โดยปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหมู่กองทัพที่ 73-73rd Group Army) ประจำการอยู่ที่ฝูเจี้ยน รับผิดชอบภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน โดยประสบการณ์ทางด้านการทหารและพื้นที่ด่านหน้าจีน-ไต้หวันเลยทำให้ถูกมองว่า การที่ สีจิ้นผิง มีพลเอก เหอเหว่ยตง เป็นรองประธานฯ เป็นการขยับเพื่อเตรียมใช้ไม้แข็งกับไต้หวัน 

 

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์รายงานของ สีจิ้นผิง ในการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าคือสัญญาณการชักธงรบ เพราะในรายงานเป็นการตั้งเป้าหมายปฏิรูปและพัฒนาต่อเนื่องจากเดิมเสียมากกว่า แต่มีโทนของการเน้นสร้างความมั่นคงและย้ำอธิปไตยของจีน ความเป็นจีนเดียว ซึ่งตรงนี้มองข้ามไม่ได้

 

ทั้งนี้ จากการทำงานในหมู่กองทัพที่ 31 หน่วยงานทางทหารจากมณฑลฝูเจี้ยนที่มีนายพลก้าวเท้าสู่คณะกรรมาธิการทหารกลางจำนวนมาก ทำให้เขาถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงกับ สีจิ้นผิง เหมือนกับคนส่วนใหญ่ที่ถูกเลือกเข้ามาเป็นคณะกรรมการประจำโปลิตบูโร (6 ผู้นำพรรคเคียงข้าง สีจิ้นผิง) และสมาชิกกรมการเมืองชุดใหม่นี้ก็มีสายสัมพันธ์กับ สีจิ้นผิง ทั้งส่วนตัวและการทำงานในฝูเจี้ยนและเจ้อเจียง สองมณฑลหลักที่ สีจิ้นผิง เคยดูแลมาก่อน 

 

นายพล หลี่ซางฟู่

นายพลหลี่ ผู้อยู่ในการอุปถัมภ์ค้ำชูของนายพล จางโย่วเสีย เขามีภูมิหลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกลาโหมแห่งชาติจีน และระดับปริญญาโทด้านระบบอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยฉงชิ่ง หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน ทำให้เขาทำงานในกองทัพจีนทางสายเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยก่อนที่เขาจะได้รับเลือกมาเป็นสมาชิกใหม่ของคณะกรรมาธิการทหารกลาง เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกรมพัฒนายุทโธปกรณ์ของคณะกรรมาธิการทหารกลาง หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นผู้ที่ดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาสรรพอาวุธใหม่ๆ ให้กับกองทัพจีน โดยอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมาธิการทหารกลางที่มี สีจิ้นผิง เป็นประธานโดยตรง

 

โดยนายพลหลี่ยังมีประสบการณ์การทำงานที่ศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชางเป็นเวลานาน โดยเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านกิจการอวกาศของจีน

 

จากภูมิหลังด้านการศึกษาและประวัติการณ์การทำงาน พิจารณาได้ว่า นายพลหลี่น่าจะตรงความตั้งใจของ สีจิ้นผิง ในการปฏิรูปกองทัพ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายกองทัพที่ทันสมัยตามเป้าหมายแรกอีก 5 ปีข้างหน้า จากนั้นในปี 2035 ก็ไปสู่การเป็นกองทัพระดับโลกในปี 2050 ซึ่งทุกเป้าหมายล้วนขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและระบบอัจฉริยะทางการทหาร ถูกกล่าวถึงในรายงานการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 20 ด้วย

 

นายพลหลี่ไม่เพียงแต่โดดเด่นในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหาร ทว่าชื่อของเขาได้รับการพูดถึงจากสื่อจีนและต่างประเทศเป็นอย่างมากในปี 2018 เมื่อเขาและกรมพัฒนายุทโธปกรณ์ที่เขาดูแลถูกอเมริกา ‘คว่ำบาตร’ หลังจากนายพลหลี่ต่อต้านการคว่ำบาตรที่อเมริกามีต่อรัสเซียด้วยการสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ และจรวดแบบพื้นสู่อากาศ (Surface-to-Air Missile) จากรัสเซีย 

 

ในการคว่ำบาตรของอเมริกากลับเป็นผลดีต่อนายพลหลี่ 1 ปีต่อมาหลังถูกคว่ำบาตร นายพลหลี่ได้รับการเลื่อนยศจากพลโทเป็นพลเอก ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า นายพลหลี่ได้รับการโปรโมตมาจากประวัติการศึกษาอันโดดเด่น มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีประสบการณ์การทำงานในการสนับสนุนเชิงกลยุทธ์ดิจิทัลสำหรับกองทัพจีน และความเชี่ยวชาญพิเศษในเทคโนโลยีจรวดมิสไซล์ ล้วนอยู่ในความสนใจและเป้าหมายในการปฏิรูปสู่ความสมัยและระดับโลกของกองทัพ

 

หลังก้าวเข้าสู่คณะกรรมาธิการทหารกลาง นายพลหลี่ถูกจับตามองในฐานะ ‘ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม’ คนต่อไป แม้ว่าในความเป็นจริงผู้มีอำนาจทางการทหารที่แท้จริงในจีนคือประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง แต่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็สำคัญ เพราะทำหน้าที่ด้านการทูตและประสานงานระหว่างประเทศ จึงเกิดคำถามตามมาว่า หากนายพลหลี่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะประสานงานและพูดคุยกับกระทรวงกลาโหมของอเมริกาอย่างไร? 

 

แม้สหรัฐอเมริกาจะมีประเด็นกับจีนมาตลอด แต่การวางท่าทีของจีนก็เน้นย้ำมาตลอดเหมือนกันว่าต้องการร่วมมือในทุกมิติ ซึ่งก็ทำให้การประสานงานเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นจริงๆ การเจรจากลายเป็นสิ่งจำเป็น แต่สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงหรือไม่? นี่คือคำถามของคนนอกที่มองเข้าไป  

 

ตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน การถูกอเมริกาคว่ำบาตรไม่น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่นายพลหลี่จะเจรจาหรือดำเนินการทางการทูตทหารกับอเมริกาไม่ได้ โดยฝั่งจีนชูแนวทางสันติวิธี ต่อต้านการแบ่งฝักฝ่าย และเน้นแนวทางการร่วมมือเป็นหลัก  

 

นายพล หลิวเจิ้นลี่ 

ก่อนหน้าจะมีการประกาศรายชื่อคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีนออกมาอย่างเป็นทางการในวันเดียวกันกับที่ประกาศรายชื่อกรรมการประจำโปลิตบูโรนั้น นายพล หลิวเจิ้นลี่ นายพลระดับสูงที่มีอายุน้อยที่สุดของกองทัพจีน ถือเป็นตัวเต็งคนสำคัญที่จะได้รับเลือก และผลก็ออกมาเป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยนายพลหลิวมีประสบการณ์การรบจริง ซึ่งถือว่าเป็นนายพลส่วนน้อยของจีนที่มีประสบการณ์ในสนามรบ ซึ่งอาจสะท้อนได้จากการที่สื่อต่างชาติ โดยเฉพาะตะวันตก ปรามาสจีนมาตลอดว่า กลุ่มผู้นำทางทหารไม่มีประสบการณ์การทำสงคราม (นายพล จางโย่วเสีย มีประสบการณ์ในสงครามจีน-เวียดนามเช่นกัน)

 

นายพลหลิวเคยรบในสงครามจีน-เวียดนาม เมื่อปี 1986 โดยเขาและเหล่าทหารประสบความสำเร็จในการต้านทานกองกำลังเวียดนามถึง 36 ครั้ง เขาได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติในฐานะฮีโร่ของจีน โดยมีประสบการณ์ทั้งคุมกองทัพบกของกองทัพจีน และตำรวจติดอาวุธ 

 

ประสบการณ์ดังกล่าวของนายพลหลิวทั้งรบในสนามรบ มีประสบการณ์ในการเป็นผู้บัญชาการระดับสูง รู้เรื่องการเมืองการทหาร และการต่อต้านการก่อร้ายเมื่อครั้งคุมกองตำรวจติดอาวุธจีน น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เขาเข้ามาอยู่ในคณะกรรมาธิการทหารชุดนี้ และได้รับการวางตัวให้สืบทอดตำแหน่งเสนาธิการหน่วยงานเสนาธิการร่วม (Joint General Staff Department) หน่วยงานสายบริหารในกำกับของคณะกรรมาธิการทหารกลาง ต่อจากนายพล หลี่จั้วเฉิง ที่กำลังจะเกษียณอายุ เนื่องจากอายุ 68 ปีแล้ว โดยนายพลหลี่เป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพบกเฉกเช่นนายพลหลิว

 

พลเรือเอก เหมียวหัว 

พลเรือเอก เหมียวหัว วัย 66 ปี เป็นหนึ่งในสองสมาชิกของคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีนชุดเดิม เขายังมีอายุไม่ถึง 68 ปี และยังคงได้รับความไว้วางใจจาก สีจิ้นผิง พวกเขามีความสนิทสนมเป็นอย่างดี ตั้งแต่เมื่อครั้งนายพลเหมียวดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองของหมู่กองทัพที่ 31 โดยขณะนั้น สีจิ้นผิง เป็นผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยน 

 

นายพลเหมียวเป็นอีกหนึ่งนายพลในผู้นำระดับสูงของการทหารส่วนกลางชุดใหม่ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์กับไต้หวัน และมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเมืองในกองทัพ โดยก่อนหน้าจะดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการทหารกลางเป็นครั้งแรกในปี 2017 เขาเป็นผู้ตรวจการทางการเมืองประจำกองทัพเรือจีน  

 

ปัจจุบันนายพลเหมียวเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองของคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางของจีน และคาดว่าจะได้รับตำแหน่งนี้ต่อไป

 

พลเอก จางเซิงหมิน 

พลเอก จางเซิงหมิน วัย 64 ปี เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีนชุดเดิมและมีเส้นทางการทำงานในสายการเมืองในกองทัพจีนเช่นเดียวกับพลเรือเอก เหมียวหัว โดย พลเอก จางเซิงหมิน เคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการทางการเมืองประจำกองบัญชาการปืนใหญ่ที่ 2 (Second Artillery Force) ซึ่งเมื่อครั้ง สีจิ้นผิง ปฏิรูปกองทัพจีนครั้งใหญ่ ได้ปรับเปลี่ยนเป็นกองกำลังจรวดแห่งกองทัพจีน (PLA Rocket Force)

 

เมื่อครั้งที่ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมาธิการทหารกลาง เขายังครองยศเพียงพลโท ซึ่งปกติแล้วผู้ที่ได้รับเลือกจะเป็นยศพลเอก ซึ่งหลังจากเข้ามาเป็นได้ไม่นาน นายพลจางก็ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอกจาก สีจิ้นผิง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง

 

ตั้งแต่ต้นปี 2017 เขาเข้ามานั่งตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยคณะกรรมาธิการกลางการทหาร (Commission for Discipline Inspection of the Central Military Commission: CMCCDI) แทนที่นายพล ตู้จินฉาย ที่เกษียณจากตำแหน่ง แต่คาดกันว่าสาเหตุที่แท้จริงอาจมาจากนายพลตู้มีความใกล้ชิดกับสองนายพลที่ถูกจับในข้อหาคอร์รัปชัน ได้แก่ นายพล กัวป๋อสง และนายพล สวีไฉโฮ่ว สองอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางสมัยที่ หูจิ่นเทา เป็นเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง 

 

สองคดีคอร์รัปชันของอดีตสองผู้นำระดับสูงในคณะกรรมาธิการทหารกลางเกิดขึ้นตามแนวทาง ‘จับเสือ ตีแมลงวัน’ (Crack Down on Tigers and Flies) ของ สีจิ้นผิง คือกวาดล้างคอร์รัปชันแบบเด็ดขาดไม่ว่าจะตำแหน่งใหญ่หรือเล็ก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการปฏิรูปทหารครั้งใหญ่ โดยในปี 2015 สีจิ้นผิง ปรับโครงสร้างกองทัพ เปลี่ยนสำนักงานใหญ่ 4 สำนัก ได้แก่ สำนักฝ่ายบุคลากรทหาร ฝ่ายการเมือง ฝ่ายโลจิสติกส์ (ขนส่ง) และยุทโธปกรณ์ แตกเป็นหน่วยงานที่เล็กกว่า 15 หน่วย ซึ่งเอื้อต่อการบังคับบัญชาและควบคุมจากคณะกรรมาธิการกลางได้มากกว่าเดิม

 

หลัง จางเซิงหมิน ได้รับเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการทหารกลางอีกครั้ง เขาได้รับหน้าที่มือปราบคอร์รัปชันฝ่ายทหาร ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยคณะกรรมาธิการกลางการทหาร และอยู่ในทีมรองเลขาธิการของคณะกรรมการตรวจสอบวินัยส่วนกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ (Central Commission for Discipline Inspection: CCDI) ซึ่งทั้งสองตำแหน่งเป็นตำแหน่งเดิมที่เขาได้รับก่อนหน้านี้

 

สีจิ้นผิง

 

บทสรุป: จากรายชื่อขุนพลข้างกาย สีจิ้นผิง สะท้อนอะไร กองทัพจะเดินไปในทิศทางไหน

1. สีจิ้นผิง ยังคงต้องการกระชับอำนาจและรวบเป็นหนึ่งในกิจการด้านการทหารในแนวทางเดียวกับที่ปรากฏในคณะผู้นำระดับสูงของพรรค ซึ่งล้วนแต่เป็นคนที่เขารู้จัก เคยทำงานร่วมกัน และไว้เนื้อเชื่อใจ 

 

2. แม้การปรับคณะกรรมาธิการทหารกลางชุดใหม่ที่มีสมาชิกใหม่เข้ามาถึง 4 คน จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นไปตามแนวทางวางตัวคนใกล้ชิดและภักดีไว้ข้างกาย แต่หากพิจารณาลงถึงรายละเอียดภูมิหลัง ความสามารถ ประวัติการทำงาน รวมถึงผลงานของนายพลแต่ละคนแล้ว จะพบว่ามีการเชื่อมโยงของหลักการวางคนให้ถูกกับงาน ดูได้จากการวางตัวนายพลที่มีประสบการณ์การรบจริงและประสบการณ์ในพื้นที่ไต้หวัน ซึ่งดูเหมือนเป็นการส่งสารบางอย่างไปถึง ‘กองกำลังภายนอก’ (ต่างชาติ) ที่จีนมักกล่าวถึงเวลาเกิดประเด็นไต้หวันขึ้นมา 

 

3. การปฏิรูปของกองทัพจีนไม่ได้จบแค่ในช่วงปี 2014-2017 ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเพิ่ม-ลด-โยก-ย้าย ปรับโครงสร้างของกองทัพ ให้ประสานตรงกับคณะกรรมาธิการทหารกลางให้มากที่สุด แต่ในปัจจุบันยังคงมีการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ได้เด่นชัด ทว่าก็มีการเปลี่ยนจากการปรับโครงสร้างภาพใหญ่มาเป็นการปรับกลยุทธ์และลงรายละเอียดตามแต่ละนโยบายและเป้าหมายที่วางไว้ กล่าวคือ 5 ปีนับจากนี้จะเป็นช่วงลงรายละเอียด และจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ว่าเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ โดยเฉพาะเป้าหมายการสร้างระบบความมั่นคงของชาติให้มากขึ้น และมุ่งสู่การเป็นกองทัพจีนสมัยใหม่แบบจีน ควบคู่ไปกับสังคมนิยมสมัยใหม่ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะแบบจีน

 

ภาพ: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising