×

สีจิ้นผิงกับอำนาจล้นฟ้า จะส่งผลอย่างไรต่อโลกนี้

26.10.2022
  • LOADING...

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปิดฉากไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (23 ตุลาคม) สะท้อนถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนของ สีจิ้นผิง หลังได้รับเลือกให้สานต่ออำนาจเลขาธิการพรรคเป็นสมัยที่ 3 ปูทางไปสู่การเป็นประธานาธิบดีต่อเนื่องรวม 15 ปี หรืออาจยาวนานกว่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องวาระดำรงตำแหน่งได้ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี 2018

 

การกระชับอำนาจของสีปรากฏชัดเจนในรายชื่อคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ชุดใหม่ทั้ง 7 คน ล้วนแวดล้อมไปด้วยพันธมิตรและคนใกล้ชิด

 

โดยวงในที่จงรักภักดีไม่เพียงแต่เสริมความแข็งแกร่งให้กับอำนาจของสีเท่านั้น แต่ยังกระชับการยึดครองอนาคตของจีนไว้ด้วย วิถีทางของประเทศถูกกำหนดจากวิสัยทัศน์และความทะเยอทะยานของชายเพียงคนเดียวในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และแทบไม่มีพื้นที่เหลือ สำหรับความไม่ลงรอยหรือการปรับเปลี่ยนใดๆ ในตำแหน่งระดับสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์

 

ในสายตาของสี จีนเข้าใกล้ความฝันที่จะ ‘ฟื้นฟูชาติ’ และขึ้นแท่นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก แต่เส้นทางข้างหน้ายังคงเผชิญความท้าทายอีกมาก ทั้งจากสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ตึงเครียดและซับซ้อน ตลอดจนความพยายามภายนอกที่ต้องการปราบปรามและควบคุมจีน

 

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า คำตอบของสีในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้คือ การกระชับอำนาจ เพื่อป้องกันผลประโยชน์และความมั่นคงของจีนจากภัยคุกคามทั้งหมด

 

“สีมีแนวโน้มที่จะควบคุมอย่างเข้มงวด และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายต่างประเทศที่สำคัญทั้งหมด การรวมกันของผู้นำระดับสูงของจีนกับผู้ภักดีจะช่วยให้เขาควบคุมและใช้อิทธิพลได้ดีขึ้น” บอนนี ลิน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ (CSIS) กล่าว

 

โดยสิ่งที่สีในวัย 69 ปีตัดสินใจจะทำ และแนวทางที่เขาจะทำหลังจากนี้ ถูกมองว่าจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อโลกนี้ ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงไทยด้วยเช่นกัน

 

ความสัมพันธ์จีน-ชาติตะวันตก

ยุคถัดไปของสีถูกจับจ้องว่า อาจเผชิญกับภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศที่แตกต่างไปจาก 2 สมัยที่ผ่านมา 

 

โดยความสัมพันธ์ระหว่างจีนและชาติตะวันตกนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากความสัมพันธ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ปะทุขึ้นทั้งในกรณีของสงครามการค้าและเทคโนโลยี ความขัดแย้งกับไต้หวัน วิกฤตโควิด ตลอดจนประเด็นสิทธิมนุษยชนของปักกิ่ง และการปฏิเสธที่จะประณามการก่อสงครามบุกยูเครนของรัสเซีย

 

ในรายงานแผนปฏิบัติการ 5 ปีที่สีอ่านต่อที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ เขาได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิทัศน์ระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงความพยายามภายนอกในการแบล็กเมล กักขัง ปิดกั้น และเพิ่มแรงกดดันสูงสุดต่อจีน

 

แอนดรูว์ สมอลล์ ผู้เขียนหนังสือ No Limits: The Inside Story of China’s War with the West กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าสีเห็นว่าจีนกำลังเข้าสู่ช่วงแห่งการต่อสู้ดิ้นรนบนเวทีระหว่างประเทศ มากกว่าที่จะเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาส

 

“ความคาดหวังว่าความสัมพันธ์จะแย่ลงไปอีก ส่งผลให้จีนมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยมากขึ้นในการแข่งขันกับชาติตะวันตกอย่างเป็นระบบ มีความแน่วแน่มากขึ้น ท่าทีที่เป็นปรปักษ์อย่างเปิดเผยมากขึ้น และความพยายามที่จะสร้างกองกำลังต่อต้านของตนเองมากขึ้น ตลอดจนการผลักดันที่มากขึ้น เพื่อรักษาที่มั่นของจีนในประเทศกำลังพัฒนา” สมอลล์กล่าว

 

แรงกดดันเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างปักกิ่งกับมอสโก ในขณะที่จีนพยายามจะแสดงตัวเป็นกลางในสงครามในยูเครน แต่ก็ยืนกรานปฏิเสธที่จะประณามการรุกรานของรัสเซีย อีกทั้งยังตำหนิชาติตะวันตกว่าเป็นต้นตอของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

 

ท่าทีคุกคามไต้หวัน

ในการเปิดประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา สีได้รับเสียงปรบมือที่ดังกึกก้องและยาวนานจากผู้แทนสมาชิกพรรคกว่า 2,300 คนที่ไปร่วมประชุมภายในมหาศาลาประชาชน ณ กรุงปักกิ่ง หลังจากที่เขาประกาศคำมั่นว่าจะ ‘รวมชาติ’ ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน ซึ่งที่ผ่านมาจีนยืนยันว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน

 

โดยสีกล่าวว่า จีนจะพยายามดำเนินการรวมชาติอย่างสันติ แต่ในขณะเดียวกันก็เตือนว่า รัฐบาลปักกิ่งไม่เคยสัญญาว่าจะไม่ใช้กำลัง

 

“กงล้อแห่งประวัติศาสตร์กำลังเคลื่อนไปสู่การรวมชาติของจีนและการฟื้นฟูชาติจีน จะต้องทำให้ประเทศของเรากลับมารวมกันได้อย่างสมบูรณ์” สีประกาศท่ามกลางเสียงปรบมือดังสนั่นทั่วห้องประชุม

 

ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารของสี จีนได้เพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อไต้หวัน โดยส่งเครื่องบินรบและฝึกซ้อมทางทหารใกล้กับเกาะไต้หวัน

 

และหลังจากที่จีนแสดงออกถึงการสนับสนุนรัสเซียแบบเงียบๆ ภายหลังเปิดฉากสงครามยูเครน ยิ่งทำให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแผนการของปักกิ่งสำหรับกรณีของไต้หวัน

 

ในรายงานของสีไม่มีการเปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ในนโยบายของปักกิ่งที่มีต่อไต้หวัน แต่การสับเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำในกองทัพจีนอาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงความปรารถนาของสีที่ต้องการให้เกิด ‘ความก้าวหน้า’ ในการรวมชาติกับไต้หวัน

 

โดย เหอเว่ยตง อดีตผู้บัญชาการ กองบัญชาการยุทธบริเวณภาคตะวันออกของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People’s Liberation Army’s Eastern Theater Command) ซึ่งดูแลช่องแคบไต้หวัน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการทหารกลางโดยไม่คาดคิด แม้จะไม่เคยทำหน้าที่ในหน่วยงานนี้มาก่อน

 

“สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า สีกำลังจริงจังกับความเป็นไปได้ของวิกฤตทางทหารหรือความขัดแย้ง และต้องการให้แน่ใจว่า PLA พร้อมแล้ว ฉันไม่เชื่อว่าสีจะใช้กำลังอย่างรุนแรงกับไต้หวัน แต่เขากำลังดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมที่จะทำเช่นนั้น” บอนนี ลิน ผู้อำนวยการ CSIS กล่าว

 

ขณะที่รายงานของสียังแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานที่ต้องการให้กองทัพจีนเชี่ยวชาญมากขึ้นในการส่งกำลังทหารออกปฏิบัติภารกิจเป็นประจำ และเป็นไปในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้จีนสามารถชนะในสงครามท้องถิ่นเช่นการบุกยึดไต้หวัน

 

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญมองว่า ยังมีความเสี่ยงที่สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันอาจตึงเครียดมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 

 

นอกจากนี้ยังมีอีกคำถามสำคัญของจีนคือ การที่กองทัพไม่เคยเผชิญบททดสอบในสงครามจริงมาหลายทศวรรษ ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงการเตรียมความพร้อมในการรบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งยังไม่แน่ว่าจีนจะทำได้หรือไม่

 

วาระเศรษฐกิจ

ในการกล่าวสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์เมื่อวันอาทิตย์ หลังประกาศรายชื่อคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ สีให้คำมั่นว่าประตูสู่โลกของจีนจะมีแต่ ‘กว้างขึ้น’ และการพัฒนาของประเทศจะ ‘สร้างโอกาสให้กับโลกมากขึ้น’

 

“จีนไม่สามารถพัฒนาโดยโดดเดี่ยวจากโลกได้ และโลกก็ต้องการจีนเพื่อการพัฒนาเช่นกัน” เขากล่าว

 

อย่างไรก็ตาม จีนในทุกวันนี้มีการปิดกั้นต่อโลกภายนอกมากกว่าที่เคยเป็นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งสียังคงสนับสนุนนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ Zero-COVID ซึ่งส่งผลให้มีการปิดพรมแดนหรือล็อกดาวน์เมืองต่างๆ อย่างเข้มงวด และทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนั้นถดถอยลง 

 

โดยคำสัญญาในนโยบายเศรษฐกิจของสีดูเหมือนจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้ไม่มากนัก ซึ่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ตุลาคม) ตลาดหุ้นฮ่องกงที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนหลายบริษัทจดทะเบียนอยู่ ต้องเผชิญสถานการณ์เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008 หลังหุ้นของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และ Tencent ร่วงลงหนักกว่า 11% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดที่สูญหายไปกว่า 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เดิมพันสำหรับจีนในการเอาชนะความท้าทายทางเศรษฐกิจ ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกนั้นถือว่าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกเริ่มปรากฏขึ้น

 

วิกเตอร์ ชิห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโก ชี้ว่า “ความสนใจของสีในการบูรณาการความมั่นคงทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศยังสามารถแปลเป็นนโยบายต่างๆ เช่น การคว่ำบาตรบริษัทต่างชาติ การเพิ่มกฎระเบียบและขั้นตอนราชการ (Red Tape) มากขึ้น สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศในบริษัทเทคของจีน”

 

และในขณะที่สีบอกว่า “การส่งเสริมจุดยืนและอิทธิพลของจีนในระดับนานาชาติ รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาระดับโลก เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของเขาในช่วงวาระ 5 ปีข้างหน้า” แต่ปักกิ่งอาจไม่สามารถพึ่งพาการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจในระดับเช่นนี้ได้อีกต่อไปท่ามกลางภาวะที่โลกเกิดความแบ่งแยกมากขึ้น

 

ภาพ: Photo by Lintao Zhang / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X