“กว่า 40 ปีที่ผ่านมาสยามพิวรรธน์เป็นผู้นำในการยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ด้วยวิสัยทัศน์แต่แรกเริ่มที่จะพัฒนาแบรนด์ไทยและดีไซเนอร์ไทยให้มีความรู้ความสามารถ รวมถึงสร้างธุรกิจเป็นของตนเองได้อย่างแข็งแกร่ง
เราขับเคลื่อนผ่านความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำระดับโลก เพื่อสร้างองค์ความรู้และจัดเวทีในการแสดงผลงาน อีกทั้งยังมีพื้นที่จัดจำหน่ายสินค้าในศูนย์การค้า ทำให้เกิดระบบนิเวศของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยอย่างครบวงจรได้สำเร็จ สามารถแจ้งเกิดแบรนด์ไทยชั้นนำตั้งแต่ดีไซเนอร์ไทยระดับบนไปจนถึงดีไซเนอร์รุ่นใหม่หลายร้อยแบรนด์
อีกทั้งได้ต่อยอดนำความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของเหล่านิสิตหรือนักศึกษาให้เกิดเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาท และมีการเติบโตของผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศของแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยอย่างแข็งแกร่ง
“ในช่วงโควิดจนถึงปีนี้ ยอดขายสินค้าลักชัวรีแบรนด์ที่มีแฟลกชิปสโตร์ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอนและไอคอนสยาม มียอดขายเติบโตหลายเท่าตัวและเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศยุทธศาสตร์สำคัญที่เหล่าลักชัวรีแบรนด์มุ่งเน้นที่จะขยายพื้นที่ร้านเพิ่มขึ้น”
ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ กล่าวในงาน WWD x SIAM PIWAT GLOBAL FASHION SPOTLIGHT ซึ่งจัดขึ้นโดยสยามพิวรรธน์จับมือกับ WWD สื่อแฟชั่นชั้นนำระดับโลก และพันธมิตรอย่างธนาคารกสิกรไทย และ SC Asset ในวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน
งานครั้งนี้เปลี่ยนเวทีแฟชั่นสู่การเป็นเวทีทอล์กที่รวบรวมผู้นำทางความคิด ดีไซเนอร์ชื่อดัง และผู้ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมแฟชั่นและลักชัวรีระดับโลกไว้ด้วยกัน โดยจัดขึ้นภายใต้ธีม SOUTHEAST ASIA – LUXURY’S NEW FUTURE ซึ่งกลุ่มสยามพิวรรธน์มองเห็นโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมแฟชั่นและลักชัวรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นจุดหมายสำคัญบนเวทีแฟชั่นระดับโลก การพูดคุยบนเวทีแบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยมีไฮไลต์ที่โดดเด่น ดังนี้
Building Brands for a Global Consumer: สร้างแบรนด์ให้ยั่งยืน ต้องยึดมั่นในจุดยืน
ช่วงแรกของการเปิดเวทีเป็นการพูดคุยในหัวข้อ Building Brands for a Global Consumer เจาะลึกแนวคิดสร้างแบรนด์สู่ตลาดโลก โดยใน Panel นี้จะชี้ให้เห็นถึงทิศทางและความเป็นไปได้ในการสร้างแบรนด์ระดับเอเชียให้ไปไกลสู่เวทีโลก
“BOYY เริ่มต้นในช่วงที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียและการตลาดแบบอินฟลูเอ็นเซอร์ การนำพา BOYY สู่แบรนด์ระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการเรียนรู้และการปรับตัวอย่างมาก แต่สิ่งที่ต้องยึดมั่นคือเอกลักษณ์ของแบรนด์และเรื่องราวที่อยากส่งต่อ”
วรรณศิริ คงมั่น Co-founder and Co-creative Director ของ BOYY เล่าถึงจุดเริ่มต้นและจุดยืนของ BOYY
“แม้ว่า SHANGHAI TANG จะมีประวัติยาวนานกว่า 30 ปี และยอดขายอาจขึ้นลงตามสถานการณ์ แต่สิ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจหลักของแบรนด์คือการไม่ละทิ้งความเป็นเอเชีย โดยดีไซน์ของแบรนด์ยังคงสะท้อนความเป็นจีนสมัยใหม่ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังคงต้องรักษาไว้”
Octo Cheung Yan Yu, Vice President จากแบรนด์แฟชั่นสุดหรูที่ก่อตั้งในฮ่องกงอย่าง SHANGHAI TANG กล่าวเสริมเรื่องการคงเอกลักษณ์ของแบรนด์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างแบรนด์ วรรณศิริเล่าถึงประเด็นนี้ว่า BOYY ต้องการนำเสนอแบรนด์ผ่านคนที่รักในตัว BOYY จริงๆ ส่วนด้าน Octo Cheung Yan Yu เห็นว่าโซเชียลมีเดียมีประโยชน์มาก เพราะเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้แบรนด์ได้นำเสนอความงดงามออกไปสู่สายตาชาวโลกในวงกว้าง
ในช่วงท้ายของ Panel แรกมีการพูดคุยถึงเรื่องโอกาสของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ Lie Sang Bong ดีไซเนอร์ชื่อดังจากเกาหลีใต้ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ LIE SANGBONG และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาแฟชั่นดีไซเนอร์คนแรกของเกาหลีใต้ มองว่าปัจจุบันโลกแคบลงและเอเชียเริ่มเป็นหมุดหมายใหม่ในวงการนี้ โดยเล่าว่า
“LIE SANGBONG เริ่มก่อตั้งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ในช่วงนั้นแบรนด์เกาหลียังไม่ได้รับการยอมรับและต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างมาก แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป โดยเริ่มเห็นโอกาสการผลักดันแบรนด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่อุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก”
สำหรับเรื่องการเปิดรับนักลงทุนจากต่างชาติ วรรณศิริและ Lie Sang Bong มีความเห็นตรงกันว่าปัจจุบันยังไม่เปิดรับนักลงทุน เนื่องจากอยากรักษาจุดยืนของแบรนด์ไว้ 100% และต้องการให้การออกแบบเป็นไปตามที่ชอบจริงๆ ด้าน Octo Cheung Yan Yu เห็นว่าต้องหาจุดกึ่งกลางระหว่างนักลงทุนกับจุดยืนของแบรนด์และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อการทำงานร่วมกัน
Adapting to the New Luxury Landscape: ตลาดกำลังเปลี่ยนแปลง ถึงเวลาที่แบรนด์ระดับโลกต้องปรับตัว
ใน Panel ที่ 2 เป็นการเสวนาในหัวข้อ Adapting to the New Luxury Landscape การปรับตัวสู่ภูมิทัศน์ใหม่ของตลาดลักชัวรี ซึ่งปัจจุบันตลาดลักชัวรีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แบรนด์ระดับโลกก็จะต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกัน
สุวดี พึ่งบุญพระ Chief Executive Officer จากพีพี กรุ๊ป มองว่า
“นิยามของคำว่า ‘ลักชัวรี’ เปลี่ยนไปจากในอดีตที่คนใช้สินค้าประเภทนี้ต้องเป็นผู้ที่มีรายได้สูงเท่านั้น แต่ปัจจุบันสินค้าลักชัวรีขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่คือเข้าถึงได้มากขึ้น โดยลูกค้าให้ความสำคัญกับความหมายและคุณภาพของสินค้ามากกว่ามูลค่าทางตัวเงิน”
นอกจากคุณภาพของสินค้าแล้ว สิ่งที่ทำให้แบรนด์มีมูลค่ามากขึ้นคือเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของแบรนด์ โดย Emmanuelle Kouakou, Managing Director จาก Piaget Southeast Asia & Oceania แบรนด์เครื่องประดับชั้นนำจากสวิตเซอร์แลนด์ ให้ความเห็นว่า
“สิ่งที่ทำให้ก้าวสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลกได้ต้องประกอบด้วยรากฐานของแบรนด์ที่มั่นคง นอกจากนั้นยังต้องมีทิศทางที่ชัดเจนที่ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนแปลงไป แต่แบรนด์ต้องปรับตัวให้รู้สึกดึงดูดลูกค้าได้อยู่เสมอ”
Roberta Pellacci, Vice President of Marketing and Communications จาก Bvlgari Japan เสริมในประเด็นนี้ว่า
“การสร้างแบรนด์ควรเน้นที่คุณค่า ความเป็นตำนาน และสัมผัสที่เหนือกาลเวลา ที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนของที่ซื้อในวันนี้ต้องสามารถเป็นมรดกที่ส่งต่อให้ลูกหลานได้โดยไม่ตกยุค”
นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยถึงการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ในการนำเสนอตัวตนของแบรนด์ โดย โอฬาร ปุ้ยพันธวงศ์ Chief Operating Officer และ Chief Business Officer จากพีพี กรุ๊ป มีความเห็นว่า
“การเลือกแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่ถูกต้องจะทำให้แบรนด์เจอกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยลูกค้าจะเข้าใจเอกลักษณ์ของแบรนด์มากขึ้นผ่านการนำเสนอของแบรนด์แอมบาสเดอร์”
สำหรับความท้าทายของแบรนด์ในการเข้าสู่ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Roberta Pellacci และโอฬาร มองว่า การนำเสนอแบรนด์ยังต้องคงความเป็นเอกลักษณ์ตัวเอง พร้อมทั้งตอบสนองความต้องการและวัฒนธรรมเฉพาะของแต่ละประเทศอย่างลงตัวเพื่อเข้าสู่ตลาดลักชัวรียุคใหม่
Southeast Asia’s Power of Global Influence: พลังแห่งเอเชียสู่การมีอิทธิพลระดับโลก
Panel สุดท้าย เป็นการพูดคุยในหัวข้อ Southeast Asia’s Power of Global Influence ปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเป็นภูมิภาคที่มีพลังอิทธิพลในวงการแฟชั่นโลก ด้วยศักยภาพและความเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้แบรนด์ลักชัวรีหันมาสนใจและลงทุนมากขึ้น
อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ เฮาส์แอมบาสเดอร์จากแบรนด์ Dior และ Friend of Piaget มองว่า
“การเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์เป็นการสื่อสารตัวตนของแบรนด์ผ่านมุมมองของตัวเองและส่งอิทธิพลในวงการเป็นวงกว้าง”
สำหรับ Heart Evangelista เซเลบชื่อดังจากฟิลิปปินส์ มองว่า
“การเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์มาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อไรก็ตามที่อยู่ในสปอตไลต์ก็ควรทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก โดยพยายามเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะสื่อสารกับคนในคอมมูนิตี้”
อีกประเด็นหนึ่งที่ได้พูดคุยในการเสวนา Panel นี้คือ การส่งพลังแห่งการเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์เอเชียผ่านแบรนด์ระดับโลก โดย ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ เห็นว่า
“การที่มีภูมิหลังเป็นลูกครึ่งทำให้เชื่อมโยงกับกลุ่มคนที่หลากหลาย นอกจากนั้นยังมองว่าประเทศไทยมีบุคลากรที่เก่งมากมาย ซึ่งเชื่อว่าสามารถไปไกลระดับโลกได้”
ด้านณัฐวิญญ์มีความเห็นว่า การได้ทำงานร่วมกับผู้คนจากหลากหลายประเทศทำให้เห็นว่า ‘แฟชั่น’ สามารถเชื่อมโยงกลุ่มคนเอาไว้ได้ โดยทำลายกำแพงภาษา ชาติ และศาสนา สื่อสารออกมาผ่านศิลปะและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของผู้คนในโลกใบนี้
งาน WWD x SIAM PIWAT GLOBAL FASHION SPOTLIGHT ได้สะท้อนถึงการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมทั้งลักชัวรีแบรนด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กำลังเป็นหมุดหมายสำคัญในการขยายตลาดของแบรนด์ระดับโลก การขับเคลื่อนของสยามพิวรรธน์ในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำบทบาทของไทยในฐานะผู้นำด้านแฟชั่น และเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะเติบโตไปยังวงการระดับโลกอย่างยั่งยืน