วันนี้ (19 กรกฎาคม) พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงข้อกำหนดล่าสุดที่จะประกาศใช้ในวันพรุ่งนี้ (20 กรกฎาคม) รวมถึงข้อสงสัยในการบริหารสถานการณ์และการจัดหาวัคซีน ที่ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้
คำถาม: การทำงานของสื่อมวลชนในช่วงล็อกดาวน์ และอาสาสมัครช่วยเหลือประชาชนจะสามารถทำงานได้หรือไม่
คำตอบ: สื่อมวลชนสามารถไปทำงานนอกสถานที่ได้ เพราะถือว่ามีความจำเป็น แต่ขอให้ยึดมาตรการป้องกันโรคเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน ในส่วนของอาสาสมัคร ถือเป็นการทำงานในส่วนของอาสาสมัครด้านสาธารณสุข ซึ่งได้รับข้อยกเว้นตามข้อกำหนดแล้ว สามารถทำงานได้
คำถาม: กรณีหากอยู่ต่างจังหวัดและต้องเดินทางมาฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้มีการห้ามบินแล้ว จึงอยากทราบว่าสามารถเดินทางโดยการขับรถเข้ามาได้หรือไม่ ต้องมีเอกสารขอเข้าพื้นที่หรือไม่
คำตอบ: หากเป็นกรณีฉีดวัคซีนก็จะฉีดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เว้นแต่การได้รับนัด ถ้ามีหลักฐานแสดงการนัดก็ขอให้แสดง เป็นข้อยกเว้นตามกำหนด หากการเดินทางสามารถหลีกเลี่ยงได้ ช่วงนี้มีความห่วงใย ไม่อยากให้เดินทางจากพื้นที่ที่มีความเข้มต่ำกว่ามาพื้นที่เข้มข้นกว่า เช่น จากส้มมาแดงเข้ม เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยง
ส่วนหลักฐานคือ ถ้ามีเอกสารก็สามารถนำมาแสดงได้ แต่ถ้าไม่มีหลักฐาน มีวิธีคือเข้าไปที่เว็บไซต์ ‘หยุดเชื้อเพื่อชาติ’ ซึ่งจะเปิดดำเนินการวันนี้ ถ้าหากมีความจำเป็นต้องเดินทางให้เข้าเว็บไซต์ดังกล่าว และกรอกแบบฟอร์ม จะได้รับ QR Code เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ และอาจถูกสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
คำถาม: มาตรการที่ออกมาในช่วงที่นอกเวลาเคอร์ฟิว คือกลางวัน ยังเป็นลักษณะขอความร่วมมือ หรือเป็นคำสั่งห้าม
ตอบ: มีลักษณะการบังคับใช้ 2 ห้วงในห้วงเคอร์ฟิว (21.00-04.00 น.) ใช้คำว่าห้ามเลย แต่หากเป็นช่วงเวลานอกเคอร์ฟิวยังมีความจำเป็นต้องเว้นในบางกิจการ บางกิจกรรม จึงใช้คำว่า ‘ให้งด’ ให้หลีกเลี่ยง เมื่อถึงมาตรการที่เข้มข้นต่อไปอาจจะถึงการใช้คำว่า ‘ห้าม’ เมื่อถึงคำว่า ‘ห้าม’ คงมีกิจการหรือกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นน้อยกว่านี้อีกมาก
คำถาม: ข้อกำหนดระบุว่าเปิดสถานพยาบาลนั้น รวมถึงโรงพยาบาลสัตว์ด้วยหรือไม่
ตอบ: รวมถึงโรงพยาบาลสัตว์ด้วย ในแง่มนุษยธรรม และถือว่าเป็นกิจการด้านบริการสาธารณสุข เพราะปัจจุบันมนุษย์ก็มีสัตว์เลี้ยงในความดูแล คนก็มีความผูกพันกับสัตว์ เพราะฉะนั้นถ้าสัตว์ป่วย สัตว์ไม่สบายก็จำเป็นต้องการเข้ารับการรักษา
คำถาม: มาตรการที่จะมีผลในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ สรุปแล้วพื้นที่สีแดง อะไรเปิดได้ ไม่ได้อย่างไรบ้าง พนักงานส่งอาหารยังทำงานได้หรือไม่ แล้วการขอให้ทำงานนอกสถานที่ในส่วนของภาคเอกชน เป็นแค่การขอความร่วมมือใช่หรือไม่
คำตอบ: เป็นการขอความร่วมมือ ส่วนรายละเอียดนั้น โฆษก ศบค. ได้ชี้แจงรายละเอียดไปแล้ว ก็เป็นไปตามที่โฆษก ศบค. ได้ชี้แจง เพราะฉะนั้นในขั้นนี้ก็เป็นการขอความร่วมมือ
คำถาม: การประเมินสถานการณ์และแนวโน้ม ศบค. เตรียมแผนรองรับไว้แล้วหรือไม่ หากตัวเลขยังไม่ลด โมเดลอู่ฮั่นปิดเมืองคุมเชื้อ แล้วตัวเลขขนาดไหนถึงจะใช้โมเดลนี้
คำตอบ: ความจริงแล้ว ศบค. หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้มีการเตรียมการในทุกสถานการณ์ จะมีการคิดถึงสถานการณ์ขั้นต่อไปอยู่ตลอดเวลา ว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะทำอย่างไร หรือสถานการณ์หากไม่ดีไปกว่านี้จะทำอย่างไร สำหรับโมเดลอู่ฮั่นนั้นเป็นข้อพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเมื่อวานนี้ท่านอธิบดีกรมควบคุมโรคได้พูดถึงกรณีนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลานั้นแล้วก็คงต้องฟังกระทรวงสาธารณสุขว่าจะมีการประเมินอย่างไร จำเป็นต้องใช้ลักษณะโมเดลของอู่ฮั่นหรือไม่ แต่ทาง ศบค. มีความพร้อมในทุกกรณี
คำถาม: จะมีแนวโน้มล็อกดาวน์แบบ Full Lockdown แบบห้ามออกจากบ้านหรือไม่ ตัวเลขติดเชื้อขนาดไหนจึงจะใช้มาตรการนี้
คำตอบ: สำหรับ Full Lockdown นั้น เราไม่ได้มองที่ตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง แต่เรามองหลายปัจจัย อาจจะดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือจำนวนสถานพยาบาลที่มีอยู่ หรือปัจจัยอื่นในแง่ของเศรษฐกิจด้วย เรามองในทุกมิติ ไม่ได้มองด้านใดด้านหนึ่งหรือด้านเดียว
คำถาม: ศบค. ประเมินแล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคิดว่าเอาอยู่หรือไม่
คำตอบ: เราเคยเรียนกับพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนมาหลายครั้งแล้วว่าความสำเร็จในมาตรการการควบคุมโรคนั้นจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือในส่วนของหน่วยงานภาครัฐต้องมีความเข้มข้นจริงจังมีความประณีตในการควบคุมโรค, ในส่วนของภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ให้การสนับสนุนตามมาตรการที่ ศบค. กำหนด และประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและในส่วนที่เอกชนได้กำหนดเพิ่มเติม
นอกจากนี้เมื่อวานนี้ได้เรียนกับพี่น้องสื่อมวลชนว่าส่วนที่ 4 ที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนทำให้มาตรการต่างๆ เป็นประโยชน์ได้และมีประสิทธิภาพได้คือสื่อมวลชนที่จะช่วยทำความเข้าใจกับประชาชน ขยายผลไปจะทำให้มาตรการต่างๆ มีประสิทธิผล เพราะฉะนั้นถ้าทั้ง 4 ส่วนนี้ให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังก็คาดว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้เราจะเอาอยู่ แต่ถ้าลำพัง ศบค. อย่างเดียวต่อให้มีมาตรการที่เข้มงวดเท่าใดก็ตามถ้าอีกสองสามส่วนไม่ให้ความร่วมมือก็คิดว่าไม่น่าจะเอาอยู่
คำถาม: จะมีการปรับปรุงโครงสร้างของ ศบค. จะมีการนำผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เข้ามาร่วมอีกหรือไม่
คำตอบ: ปัจจุบันในโครงสร้างที่เป็นอยู่เราทำงานสอดคล้องกันเป็นอย่างดี บางครั้งอาจจะมีในเรื่องการให้ข้อมูลที่แตกต่างกันบ้าง แต่หลังจากนั้นเราก็มีการพูดคุยกัน เพราะฉะนั้นทีมเดิม โครงสร้างเดิมยังมีประสิทธิภาพอยู่ ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่จะเพิ่มเติมก็ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาหรือนายกรัฐมนตรีที่จะมอบหมาย แต่ถ้าในมุมของตนโครงสร้างที่เราทำงานกันอยู่ในปัจจุบันมีความพร้อมและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำถาม: ศบค. จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเรื่องการจัดหาวัคซีนได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะวัคซีนที่เห็นว่ามีประสิทธิภาพรองรับสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์อื่นๆ
คำตอบ: สำหรับกรณีวัคซีน ส่วนใหญ่จะเป็นการเริ่มต้นจากคณะกรรมการวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณาแล้วเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และคณะกรรมการจะกราบเรียนนายกฯ ผ่าน ศบค. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ในห้วงที่ผ่านมาเท่าที่ได้ติดตามกระทรวงสาธารณสุขก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ อันนี้ก็ต้องถือโอกาสนี้ขอความกรุณาสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนช่วยให้ความเข้าใจและเห็นใจกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ทำงานอย่างประณีต แต่ปัจจัยปัญหาที่เห็นอยู่ 2 อย่าง คือ
- ปัจจัยสภาพแวดล้อมและบริบทของวัคซีนที่แตกต่างกันไป วันหนึ่งวัคซีนชนิดหนึ่งมีความเหมาะสม แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ วัคซีนชนิดหนึ่งอาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์นั้น ก็ต้องปรับรูปแบบกันไป
- คือปริมาณวัคซีนในตลาดมีจำกัด เราไม่สามารถที่จะเลือกได้ว่าจะซื้อยี่ห้อนั้น ยี่ห้อนี้ในเวลาไหน เพราะฉะนั้นกลไกเป็นของผู้ขาย ผู้ซื้อมีความจำเป็นต้องเลือกซื้อหรือดำเนินการจัดหาตามปริมาณที่มีอยู่ในตลาดหรือส่วนที่ผู้ผลิตกำหนด รวมทั้งการที่กำหนดเวลาจัดส่งก็เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนด เราไม่สามารถไปบังคับหรือกำหนดได้เอง มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น
คำถาม: จะมีการพูดคุยหรือแบนการส่งออกวัคซีน AstraZeneca จากประเทศไทยไปต่างประเทศหรือไม่
คำตอบ: เมื่อเช้านายกรัฐมนตรีได้เชิญรองนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตนเอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือในเรื่องนี้ ในการที่จะปรับแผนที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการฉีดเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ หรือว่าปริมาณวัคซีนที่เข้ามาไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุขจะนำไปพิจารณา แล้วก็กลับมากราบเรียนนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
คำถาม: ศบค. มีการแก้ปัญหาผู้ป่วยตกค้างอยู่บ้าน ผู้ป่วยรอเตียงนานที่ยิ่งจะทำให้เขามีอาการหนักมากขึ้นอย่างไรบ้าง
คำตอบ: นายกรัฐมนตรีห่วงใยเรื่องนี้ และได้สอบถามกระทรวงสาธารณสุข กทม. และตนเองว่า เรามีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ในชั้นต้นคือเร่งการตรวจหาผู้คัดกรองให้เป็นระบบ ระบบแรกที่จะนำเข้าไปคือ Home Isolation หรือการแยกกักที่บ้าน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เซ็ตระบบนี้ให้สมบูรณ์โดยเร็ว ในขณะที่ระบบยังไม่สมบูรณ์ให้จัดตั้งศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ โดยเฉพาะ กทม. มี 50 เขต ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 20 เขต เร่งให้ทุกเขตมีศูนย์พักคอยอย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง เพื่อให้ผู้ที่ติดเชื้อหรือทราบว่าตนเองติดเชื้อที่ต้องการสถานพยาบาลหรือเตียง เมื่อไม่สามารถทำ Home Isolation ได้ก็ไปติดต่อศูนย์พักคอย เพื่อการส่งต่อตามอาการที่เป็นอยู่หรือตามจำนวนเตียงที่มีอยู่ ผู้ว่า กทม. รับปากว่าภายในสิ้นเดือนนี้จะต้องมีเขตละ 1 แห่ง
คำถาม: ปัญหาปัจจุบัน Call Center มีหลายเบอร์มาก มีแนวโน้มไหมว่าจะมีเบอร์เดียว รวมคู่สายให้อยู่ที่เดียวแล้วกระจายผู้ป่วยไปจุดต่างๆ
คำตอบ: ต้องขอความเห็นใจ จริงๆ ที่มีแต่ละเบอร์ แต่ละหน่วยงานก็พยายามขยายคู่สาย ก็ต้องขออภัยพี่น้องประชาชน แต่จุดแก้ปัญหาคือขยายไปที่เขต ลงไปที่อำเภอ จำนวนเบอร์เดิม 3 เบอร์ แล้วขยายคู่สายมากขึ้น และยังสามารถติดต่อไปที่เขต 50 เขต และยังมีวิธีในระบบอื่นๆ เพิ่มเติม ก็คาดว่าจะทำให้ปัญหาคลี่คลายมากขึ้น