คณะทำงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ลงพื้นที่เมืองอู่ฮั่นของจีนเพื่อตรวจสอบต้นตอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบุว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่ปรากฏในคนจะมาจากสัตว์ และสมมติฐานที่ว่าเชื้อไวรัสหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการนั้น ‘ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง’
โดยในการแถลงข่าวปฏิบัติการร่วมระหว่างคณะทำงานของจีนและองค์การอนามัยโลกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ปีเตอร์ เบน เอมบาเรค หัวหน้าคณะทำงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าการสอบสวนที่กินเวลายาวนานกว่า 1 เดือนไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ของการระบาดมากนัก แต่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น โดยเขากล่าวว่า ผลจากงานที่ระบุต้นกำเนิดของไวรัสนั้นชี้ไปยังแหล่งรังโรคตามธรรมชาติในค้างคาว แต่ไม่น่าเป็นไปได้ที่ค้างคาวเหล่านี้จะอยู่ในอู่ฮั่น นอกจากนี้ เส้นทางการแพร่เชื้อที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ การติดต่อจากค้างคาวสู่สัตว์อื่นแล้วมาสู่มนุษย์ ส่วนการติดต่อโดยตรงจากค้างคาวสู่มนุษย์ หรือผ่านการซื้อขายอาหารแช่แข็งในตลาดก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งกรณีนี้ทีมงานได้ระบุผู้ขายในตลาดที่ขายผลิตภัณฑ์จากสัตว์แช่แข็งรวมถึงสัตว์ป่าในฟาร์ม จึงเป็นไปได้ที่จะมีการศึกษาตามเส้นทางนี้ รวมถึงศึกษาไปยังห่วงโซ่อุปทานและตัวสัตว์ที่ถูกส่งเข้าสู่ตลาดด้วย
ส่วนมาริออน คูปแมนส์ นักไวรัสวิทยาชาวดัตช์ในคณะดังกล่าว ก็ระบุว่าสัตว์บางชนิดในตลาดนั้นอ่อนไหวง่าย หรืออาจจะอ่อนไหวง่ายกับเชื้อไวรัส เช่น กระต่ายหรือหนูอ้น และสัตว์บางส่วนก็อาจแกะรอยกลับไปได้ถึงฟาร์มหรือผู้ซื้อขายในภูมิภาค ที่เป็นแหล่งของค้างคาวที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสที่เกี่ยวข้องใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ได้ โดยคูปแมนส์ชี้ว่าขั้นต่อไปควรเป็นการตรวจสอบที่ฟาร์มอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
สำหรับสมมติฐานเกี่ยวกับการเริ่มติดเชื้อในมนุษย์จากการที่ไวรัสหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการนั้น เอมบาเรคระบุว่าไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง เขาระบุเหตุผลว่ากรณีที่จะมีเชื้อไวรัสหลุดออกจากห้องปฏิบัติการโดยอุบัติเหตุนั้นหาได้ยากมาก และจากการตรวจสอบการปฏิบัติการของห้องปฏิบัติการโดยคณะทำงาน ก็ชี้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีสิ่งใดหลุดรอดออกมาได้ เขายังบอกว่าไม่มีรายงานว่ามีเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการใดเลยก่อนการระบาดใหญ่ สอดคล้องกับ เหลียง ว่านเหนียน หัวหน้าคณะในฝั่งจีน ที่บอกว่าไม่มีการเก็บตัวอย่างไวรัสก่อโรคโควิด-19 ไว้ในสถาบันดังกล่าว ซึ่งสมมติฐานเกี่ยวกับการหลุดออกนอกห้องปฏิบัติการของไวรัสนี้มาจากการที่สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นมีการเก็บตัวอย่างของไวรัสจำนวนมาก นำไปสู่ข้อกล่าวหาที่ว่านี่เป็นอาจเป็นต้นตอของการระบาดไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือโดยไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
ทว่าที่ผ่านมาทางการจีนปฏิเสธความเป็นไปได้ของเรื่องนี้มาโดยตลอด และสนับสนุนสมมติฐานอื่นๆ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญคณะนี้ก็ระบุว่าไม่แนะนำประเด็นนี้ให้เป็นลู่ทางของการศึกษาในอนาคตเช่นกัน
นอกจากนี้ คณะทำงานชุดดังกล่าวยังไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่าโรคนี้มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างมาก่อนการแพร่ระบาดครั้งแรกในอู่ฮั่นในช่วงหลังของเดือนธันวาคมปี 2019 แต่ว่านเหนียนก็บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจมีการติดเชื้อในภูมิภาคอื่นมาก่อนจะถูกตรวจพบในอู่ฮั่น และยังคงมีการศึกษาสมมติฐานที่บอกว่ามีการติดเชื้อในตลาดจากบุคคลที่ติดเชื้อมาก่อนด้วย
ทั้งนี้ คณะทำงานขององค์การอนามัยโลกเดินทางถึงอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา หลังการเจรจากับทางการจีนเป็นเวลาหลายเดือน และหลังจากการกักตัวสองสัปดาห์ คณะทำงานก็ได้ไปตรวจสอบเกี่ยวกับต้นตอของไวรัสในหลายสถานที่ เช่น ตลาดอาหารทะเลหัวหนาน ที่เป็นคลัสเตอร์ของการระบาดเมื่อปลายปี 2019 และสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ซึ่งตกเป็นสถานที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นแหล่งที่มาของเชื้อไวรัสดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ BBC รายงานว่าการเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ของคณะผู้เชี่ยวชาญถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากทางการ แต่หนึ่งในสมาชิกของคณะจากองค์การอนามัยโลกยืนยันกับสำนักข่าว AP เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า พอใจกับความเปิดกว้างในการตรวจสอบ และยังสามารถเข้าถึงทุกบุคคลและสถานที่ตามที่ร้องขอได้อีกด้วย
อนึ่ง เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว วัคซีนของ Sinovac ได้รับการอนุมัติจากทางการให้ใช้เป็นการทั่วไปในจีนแล้ว นับเป็นวัคซีนชนิดที่สองของประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ใช้
งานเป็นการทั่วไป
ภาพ: Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/world-asia-china-55996728
- https://apnews.com/article/who-virus-unlikley-leaked-china-lab-7a739e01f0713ebcc031d7ca81c51345
- https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-who-china/who-team-to-brief-media-on-wuhan-findings-on-tuesday-idUSKBN2A90BW
- https://www.theguardian.com/world/2021/feb/09/wuhan-laboratory-leak-covid-origin-theory-unlikely-says-who-team
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-02-06/china-gives-conditional-approval-for-sinovac-vaccine