องค์การการค้าโลก (WTO) ตัดสินอนุญาตให้สหรัฐฯ เดินหน้าเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) มูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ สืบเนื่องจากปมขัดแย้งทางการค้านาน 15 ปีที่สหรัฐฯ กล่าวหา EU ว่าจ่ายเงินอุดหนุนเครื่องบินของ Airbus ซึ่งเป็นค่ายผู้ผลิตอากาศยานจากยุโรปและคู่แข่งสำคัญของ Boeing อย่างไม่เป็นธรรม
การตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของ WTO ครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯ สามารถบังคับใช้มาตรการภาษีกับสินค้านำเข้าอย่างชีส ต้นมะกอก และเสื้อถักไหมพรมจาก EU ได้ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคมเป็นต้นไป
การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันและบรัสเซลส์ยิ่งร้าวฉานหนักขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันก็สร้างความวิตกกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างสองเขตเศรษฐกิจจากสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกอาจขยายวงกว้าง โดยที่ EU ได้ประกาศเตรียมตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยมาตรการทางภาษีเช่นกัน
EU ระบุในแถลงการณ์ว่าหากสหรัฐฯ ตัดสินใจใช้มาตรการภาษีที่ได้รับอนุญาตจาก WTO ทางสหภาพยุโรปก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกเสียจากการตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกัน
ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมายกย่องการตัดสินของ WTO ครั้งนี้ โดยระบุว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ และอ้างว่าตัวเขามีบทบาทสำคัญที่ทำให้คดีความที่ต่อสู้กันมานาน 15 ปีมีข้อยุติในที่สุด
คดีดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2004 โดยสหรัฐฯ กล่าวหาว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน ได้จ่ายเงินอุดหนุนอย่างผิดกฎหมายเพื่อสนับสนุนสายการผลิตเครื่องบินของ Airbus
ขณะที่ EU ได้ยื่นฟ้องสหรัฐฯ กลับในปี 2005 ด้วยข้อกล่าวหาว่า Boeing ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้รับเงินอุดหนุนจำนวน 1.91 หมื่นล้านดอลลาร์ จากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างปี 1989-2006
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: