×

WTA ยุติการแบนจีน-การเลือกที่ไร้ทางเลือก

17.04.2023
  • LOADING...

เป็นระยะเวลาราว 16 เดือนที่ WTA จัดการแบนจีนออกจากสารบบในการจัดการแข่งขันขององค์กรเทนนิสหญิงโลก แต่ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การแบนดังกล่าวก็เป็นอันสิ้นสุดลง หลังจากที่ สตีฟ ไซมอน หัวหน้าผู้บริหารของ WTA ออกมายืนยันการยุติการแบนประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 13 เมษายน

 

“เราใช้เวลากว่า 16 เดือน และเราเชื่อว่าถึงจุดนี้ข้อเรียกร้องของเราจะไม่ได้รับการตอบสนอง” แถลงการณ์ของไซมอนระบุ “เราคิดว่าไม่สมเหตุสมผลที่จะเดินหน้าด้วยกลยุทธ์นี้ต่อไป และจำเป็นต้องลองวิธีการอื่น หวังว่าการกลับไปแข่งขันที่จีนจะช่วยให้เรามีความคืบหน้าในเรื่องนี้มากขึ้น”

 

 

แถลงการณ์ดังกล่าวของไซมอนถือเป็นการกลืนน้ำลายตัวเองอึกใหญ่ หลังจากที่เขานี่แหละเป็นคนที่เดินหน้าเรื่องการแบนจีนจากการจัดการแข่งขันเทนนิสหญิงทุกรายการภายใต้ WTA ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2021 หลังจากเกิดปัญหากรณีการล่วงละเมิด เผิงไซว่ อดีตนักเทนนิสหญิงประเภทคู่ผสมหมายเลขหนึ่งของโลก

 

ในตอนนั้นเผิงไซว่ออกมาเปิดโปงถึงปัญหาชีวิตด้วยการโพสต์บน Weibo ว่าเคยถูก จางเกาลี่ อดีตรองนายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งเป็นบุคคลระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน บีบบังคับให้ร่วมหลับนอนด้วยเมื่อ 10 ปีก่อน ก่อนจะถูกบีบบังคับอีกครั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยมีภริยา คังเจี๋ย รู้เห็นเป็นใจให้ยอมรับสภาพเป็นคู่หลับนอนอีกคน

 

นอกจากนี้ เผิงยังเล่าถึงความสัมพันธ์กับจางเกาลี่หลังจากนั้นอย่างละเอียด โดยตัดพ้อถึงการเป็นผู้ถูกกระทำแต่เพียงผู้เดียว แต่โพสต์ดังกล่าวถูกลบภายใน 30 นาที และถูกรัฐบาลจีนเซ็นเซอร์ไม่ให้มีการสืบค้นข้อมูลของเผิงไซว่ และแบนไม่ให้มีการส่งภาพถ่ายของโพสต์บน Weibo โซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของจีนด้วย

 

เหตุการณ์ดัง​กล่าวกลายเป็นที่มาของแฮชแท็ก #WhereIsPengShuai ติดเทรนด์ในโลกออนไลน์ โดยหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ทางการจีนรับรองความปลอดภัยของเผิง และสืบหาความจริงในเรื่องดังกล่าวให้ถึงที่สุด โดยในการติดแฮชแท็กนั้น มีนักเทนนิสดังหลายคนร่วมแสดงออก และ WTA ก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการพยายามทวงความเป็นธรรมให้เผิงด้วย

 

ต่อมาแม้ว่าจะมีภาพของเผิงไซว่ปรากฏตัวทำกิจกรรมในประเทศจีน มีการโพสต์ข้อความยืนยันว่าสบายดี และขอให้ทุกฝ่ายเลิกสนใจเรื่องนี้ รวมถึงมีการวิดีโอคอลกับ โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) แล้ว แต่ทางด้าน WTA ยังไม่เชื่ออย่างสนิทใจว่าเธอปลอดภัยและมีอิสระอย่างแท้จริง รวมถึงไม่มีการดำเนินการสอบสวนใดๆ ต่อเรื่องนี้ด้วย

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนำมาสู่การตัดสินใจแบนการจัดการแข่งขันเทนนิสทุกรายการในประเทศจีนรวมถึงฮ่องกง เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อรัฐบาลจีนที่นิ่งเฉยต่อกรณีดังกล่าวในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2021 ซึ่งในตอนนั้น สตีฟ ไซมอน ออกมายืนยันอย่างชัดเจนว่า สาเหตุที่ตัดสินใจแบบนั้นเป็นเพราะเหตุผลด้านมนุษยธรรม

 

ไซมอนกล่าวในตอนนั้นว่า “ในด้านมนุษยธรรมแล้ว ผมไม่คิดว่าผมจะขอให้นักกีฬาของเราลงแข่งขันที่นั่นได้ ตราบใดที่เผิงไซว่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อสื่อสารได้อย่างอิสระ และยิ่งดูเหมือนจะถูกกดดันให้ยอมรับการที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ

 

“จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ผมมีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับความเสี่ยงของนักกีฬาและสตาฟฟ์ของเราที่จะต้องเผชิญหากเราจัดการแข่งขันในประเทศจีนในปี 2022”

 

หลังจากผ่านมา 16 เดือน WTA ก็ต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับจีนอีกครั้ง แม้ทาง สตีฟ ไซมอน จะยืนยันว่าที่ผ่านมาพวกเขาไม่เสียใจกับการตัดสินใจสั่งแบนจีน และการกลับไปในครั้งนี้พวกเขาก็สามารถกดดันจีนได้ด้วยหนทางอื่น อย่างที่ปรากฏในแถลงการณ์ว่า

 

“แม้ว่าเราจะไม่เสียใจกับการตัดสินใจของเราในการแบนที่เกิดขึ้น แต่สมาชิกของเรารู้สึกว่าตอนนี้เป็นเวลาที่จะต้องกลับไปจัดการแข่งขันที่ประเทศจีน เราหวังว่าการกลับมาจะทำให้มีความคืบหน้ามากขึ้น สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมครั้งใหม่ของเราในประเทศจีน จะมอบความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องให้กับเผิงและนักกีฬาหญิงทุกคนที่จะได้รับประโยชน์จากการกลับมาแข่งขันอีกครั้ง และโอกาสที่เทนนิสมอบให้ ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องได้ยินเสียงของผู้หญิงทุกคนเมื่อเธอพูดออกไป”

 

แต่ก็เป็นอันรู้กันดีว่าปัจจุบัน WTA กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนถึงขั้นต้องขายหุ้นราว 20% ให้กับ CVC Capital Partners แลกกับเงินสนับสนุน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5,260 ล้านบาท

 

ดีลดังกล่าวจบลงด้วยการที่ WTA กับ CVC จะจับมือสร้างบริษัทใหม่ในชื่อ WTA Avengers เพื่อง่ายต่อการดูแลและจัดการแข่งขัน รวมไปถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ และแม้จะเสียหุ้นไป 20% แต่ทาง WTA จะยังคงมีอำนาจเต็มในด้านกฎระเบียบและการจัดแข่งขันกีฬาชนิดนี้อย่างเต็มที่เหมือนเดิม

 

และแม้จะมี CVC เข้ามาสนับสนุนเงินก้อนโตเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปณิธานของ WTA กับไซมอน ในการผลักดันให้เทนนิสอาชีพหญิงได้รับเงินรางวัลในการแข่งขันอาชีพเท่ากับเทนนิสอาชีพชายยังถือเป็นเรื่องที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาไม่ได้ไปจัดการแข่งขันที่ประเทศจีน

 

ตัวเลขที่ชัดเจนเปิดเผยว่า จีนเป็นตลาดสำคัญมากสำหรับ WTA โดยในปี 2019 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่เทนนิสอาชีพหญิงสามารถไปจัดการแข่งขันในจีนได้ครบทุกรายการ พวกเขาทำรายได้สุทธิมากถึง 109,733,686 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,770 ล้านบาท

 

แต่ในปีต่อมาที่มีการระบาดของโควิด ทำให้ WTA ตัดสินใจยกเลิกการแข่งขันที่จีนในทุกรายการ รายได้ของ WTA ลดลงมาเหลือเพียงแค่ 37,666,082 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,300 ล้านบาทเท่านั้น

 

แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะการแข่งขันหลายสนามห้ามคนดูเข้าชมการแข่งขันเพราะการแพร่ระบาดของโควิด จนส่งผลกระทบต่อรายได้ และอีกหลายรายการก็ต้องยกเลิกไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขาดตลาดจีนไป ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรายได้ของ WTA อย่างมีนัย

 

อีกตัวอย่างที่ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดหลังจากที่ WTA ไม่ได้จัดการแข่งขันที่ประเทศจีน คือตัวเลขเงินรางวัลของรายการ WTA Finals 

 

โดยในปี 2018 WTA จัดการเซ็นสัญญากับสมาคมเทนนิสจีน ในการจัดการแข่งขัน WTA Finals ที่เมืองเซินเจิ้น เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยจีนมีการปรับเงินรางวัลรวม จากเดิมที่อยู่ราว 5-7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาเป็น 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ดังนั้นการแข่งขัน WTA Finals 2019 จึงกลายเป็นการแข่งขันปิดฉากฤดูกาลครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่เงินรางวัลในการแข่งขันจาก WTA ได้รับมากกว่า ATP ในรายการระดับเดียวกันหรือเทียบเท่า โดยในปีนั้นเงินรางวัลรวมของการแข่งขันสูงถึง 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ แอชลีย์ บาร์ตี ที่คว้าแชมป์ในปีนั้น ได้ส่วนแบ่งเงินรางวัลเป็นประวัติการณ์ถึง 4.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

 

ขณะที่ในปีเดียวกันนั้น ATP Finals แม้จะมีเงินรางวัลมากที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน แต่เงินรางวัลรวมก็อยู่ที่ 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่แชมป์​อย่าง สเตฟานอส ซิตซิปาส แชมป์ในรายการนี้เมื่อปีนั้น ได้ส่วนแบ่งไป 2.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าบาร์ตีกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

 

แต่หลังจากนั้น WTA Finals ก็ไม่สามารถทำเงินรางวัลมากกว่า ATP Finals ได้อีกเลย หลังปี 2020 การแข่งขันรายการนี้ต้องถูกยกเลิกเนื่องจากโควิด ขณะที่ในปี 2021 และ 2022 ก็ย้ายไปจัดที่กัวดาลาฮารา ประเทศเม็กซิโก และฟอร์ตเวิร์ธ เมืองซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ โดยทั้ง 2 ครั้งที่ว่า เงินรางวัลรวมอยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

 

ดังนั้น หากการแบนจีนยังดำเนินต่อไป เจตนารมณ์ของไซมอนและ WTA ที่ต้องการให้เงินรางวัลในการแข่งขันเทนนิสอาชีพหญิงเท่าเทียมกับประเภทชายยิ่งห่างออกไปเช่นกัน

 

นอกจากนี้ การยุติการแบนจีนจะไม่ได้ส่งผลแค่ในเรื่องของเงินรางวัลในรายการ Year’s End อย่างเดียวเท่านั้น แต่ WTA จะได้รับเงินจำนวนมหาศาลกลับเข้ามาในองค์กรพวกเขาอีกครั้ง เนื่องจากมีการแข่งขันรายการอื่นๆ อีกหลายรายการนอกจากรายการ WTA Finals ที่เซินเจิ้น ไล่ตั้งแต่ เจิ้งโจวโอเพน, เจียงซีโอเพน, กว่างโจวโอเพน, อู่ฮั่นโอเพน, ไชนาโอเพน, เทียนจินโอเพน และ WTA Elite Trophy รายการรองสุดท้ายของฤดูกาล ที่เปิดโอกาสให้นักเทนนิสที่ไม่ได้ไปเล่นใน WTA Finals มาเล่นกันด้วย โดยรายการนี้ก็จัดที่จีนเช่นกัน

 

นั่นหมายความว่า WTA จะได้รายการที่จัดในจีนกลับมาถึง 8 รายการ โดยครึ่งหนึ่ง หรือ 4 รายการ เป็นรายการระดับสูง นั่นคือ WTA 1000 หรือสูงกว่านั้น (WTA Finals, WTA Elite Trophy, ไชนาโอเพน และอู่ฮั่นโอเพน) 

 

ซึ่งหมายถึงเงินสนับสนุนจำนวนมหาศาลจะกลับมาสู่ WTA และทำให้พวกเขาจะได้รับโอกาสในการผลักดันเทนนิสอาชีพหญิงให้สู้กับ ATP ได้อีกครั้งนั่นเอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising