“Think with Your Head, Decide with Your Heart เวลาเราต้องวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย จง use your head แต่เวลาต้องตัดสินใจ จง use your heart แต่การจะ use your heart ก็ไม่ได้แปลว่า ต้องเลือกทางนี้โดยไม่สนใจอะไรเลย เราต้องชั่งน้ำหนักในกรณีที่ตัวเลือกดีทั้งคู่ จะเอาอะไรมาตัดสินใจ มันก็ต้องถามใจตัวเองแล้วล่ะ”
เมื่อกวาดตาดูบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกวันนี้ เราเชื่อว่า หลายบริษัทพยายามสร้างความแตกต่าง เพื่อเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค เพราะการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สักแห่ง เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของผู้บริโภค แต่เอาเข้าจริง ในความแตกต่างของบริษัทเหล่านั้น เรามองเห็นอะไรบ้าง นั่นคือคำถามวันที่เราเดินทางไปพบ คุณวู้ดดี้-ธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ เราเองก็มีคำถามนี้ในใจเช่นกัน
ในที่สุด หนึ่งในความแตกต่างที่เราค้นพบก็คือ โปรเจกต์ Worst of the Best ที่โกลเด้นแลนด์อยากจะสื่อสารในประเด็นที่ว่า ทุกเส้นทางของการประสบความสำเร็จ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ จึงไม่ต้องการให้คนรุ่นใหม่หรือใครก็ตาม มองแต่ด้านที่สวยงามของอาชีพนั้น เขาและทีมงานช่วยกันคิดโปรเจกต์ที่เชิญชวนนักพูดระดับแนวหน้า มาพูดคุยถึงชีวิตการทำงานในแง่มุมที่ยากเย็นที่สุดของอาชีพนั้น เพราะเชื่อว่าปัญหาที่ทำให้คนเราไปไม่ไกลในชีวิตคือไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร รู้แต่ละอย่างก็ไม่ครบทุกด้าน และมีความอดทนน้อย
อยากทราบที่มาของโครงการนี้ก่อน
เริ่มจากตัวโกลเด้นแลนด์ก่อน โกลเด้นแลนด์เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 ผมเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารที่เข้าไปเทกโอเวอร์บริษัทเก่า ซึ่งอยู่ในตลาดมานาน เราเข้ามาปรับโครงสร้างของบริษัทเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพื่อสร้างทิศทางที่ชัดเจนว่าเราอยากจะทำอะไรกันแน่ เพราะคิดว่าถ้าหากทำอะไรหลายอย่าง มันจะไม่มีโฟกัสที่ชัดเจน เราจึงเข้ามาปรับโครงสร้างใหม่ เน้นธุรกิจ 2 ส่วน คือ โครงการเชิงพาณิชยกรรม คือ การบริหารตึกออฟฟิศและมิกซ์ยูสต่างๆ และโครงการที่พักอาศัย โดยทำบ้านแนวราบ ตอนนี้ทำไปประมาณ 40 โครงการแล้ว
ทำให้ยอดขายเดิมราวๆ หนึ่งพันล้านบาท เติบโตจนปีที่ผ่านมายอดขยับไปเป็นหนึ่งหมื่นล้านบาท และจากที่ก่อนหน้านี้ขาดทุนอยู่หลายร้อยล้านบาท กลายมาเป็นบริษัทที่มีกำไรประมาณหนึ่งพันล้านบาทในปีที่ผ่านมา ก่อนปรับโครงสร้าง ตอนนั้นมีพนักงานอยู่ 80 คน วันนี้มีคนเพิ่มเป็น 600 คน เพราะฉะนั้นถือว่าเราปรับตัวกันค่อนข้างมาก ในแง่ของการพัฒนาบริษัท เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัท รวมทั้งการคิดว่าจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร เพื่อให้คนเชื่อมั่น มองไปทางเดียวกัน และทำงานด้วยกันได้ เพราะทีมงานของเรามาจากหลากหลายที่ และล้วนแต่เป็นคนที่เก่งทั้งนั้น จึงพบว่า คนเราจะทำงานได้ต้องมีความสุขกับการทำงาน และมีความภูมิใจในการทำงาน ภูมิใจในบริษัท เขาถึงจะทำได้ดี มันก็เลยส่งผลจากยอดขายและรายได้ของบริษัทที่เราเห็นอยู่
กลับมาที่โฟกัสของการทำงาน ในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะขยับขยายไปทำอย่างอื่น แต่ทุกอย่างที่ทำ เราจะทำอย่างดีที่สุด หรือ Developing the Best ซึ่งมันก็เหมือนเป็น Tagline ของบริษัท และเราก็จะทำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทีนี้เมื่อทำงานมา 5 ปีเต็มๆ ในตลาด ก็คิดว่า เราพร้อมแล้วที่จะทำในสิ่งที่ตอบแทนสังคม แต่ก็ไม่อยากทำอีเวนต์ที่มันไม่ยั่งยืน จึงมองว่า ถ้าเราอยากพัฒนาให้ดีที่สุด เราจะพัฒนาอะไรได้บ้าง เราคุยกันจนได้คำตอบแล้วว่า เราน่าจะพัฒนาที่คน เพื่อให้เขามีแนวคิดที่ดี เพื่อให้เขาไปพัฒนาอย่างอื่นต่อได้ พอได้ประเด็นว่าจะเป็นการเริ่มต้นที่คน ซึ่งก็คือเด็กรุ่นใหม่ ก็เลยมองเด็กในช่วงมัธยมปลายจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เพราะเขาน่าจะต้องการแนวทางการใช้ชีวิต เราศึกษาข้อมูลจนพบว่า เด็กมัธยมปลายส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าจะไปทิศทางไหน ไม่รู้จะเรียนอะไร เขาเหมือน Lost ไปเลย จริงๆ เราก็ไม่คิดว่าเป็นเรื่องแปลกนะ เพราะคนทำงานบางคนก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองต้องการอะไร (หัวเราะ) แล้วก็มีประเภทที่เรียนๆ ไปแล้วค้นพบว่า ตัวเองชอบทำอย่างอื่นที่ไม่ตรงสายกับสิ่งที่เรียนเลย เช่น เรียนบัญชี แต่ชอบแฟชั่น ก็เลยคิดว่า ทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้สามารถรู้ได้เร็วว่า ตัวเองชอบอะไร ก็น่าจะดี หรืออย่างน้อยที่สุด ถึงจะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แต่ได้รู้ว่าตัวเองไม่ชอบอะไรบ้างก็ดีแล้ว มันคือการตัดตัวเลือกออกไปนั่นเอง ทีนี้ นอกจากเราจะเจอปัญหาที่เด็กไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรปัญหาต่อมาก็คือ รู้ไม่ครบ วันนี้เราจะเห็นคนที่ประสบความสำเร็จมาเปิดพื้นที่ทอล์กให้แรงบันดาลใจต่างๆ มากมาย หรือการที่เด็กๆ มีเน็ตไอดอลตามโซเชียลมีเดีย ที่พวกเขาต่างก็โพสต์แต่ด้านดีๆ เพราะคงไม่มีใครโพสต์ด้านแย่ๆ ของตัวเองออกมาหรอก เพราะฉะนั้นเด็กก็เลยรู้สึกว่า ฉันอยากจะเป็นเชฟมือทอง อยากจะเป็นบาริสตา อยากจะเป็นผู้กำกับหนัง ฯลฯ และผมเชื่อว่าต่อไปจะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกเยอะตามยุคดิจิทัล แต่ประเด็นคือเด็กรู้ไม่ครบว่า กว่าคนที่ประสบความสำเร็จเขาจะเป็นอย่างนั้นได้ เขาก็ต้องเจอเรื่องที่แย่ เจอสิ่งที่เลวร้ายในชีวิตของเขามาก่อนทั้งนั้น แต่คนไม่ค่อยเอามาพูดกัน จะไปโฟกัสแต่สิ่งที่ดี หรือเวลาเราเชิญคนพวกนี้ไปพูด เขาก็จะพูดในด้านดีๆ แต่คนไม่รู้หรอกว่ากระบวนการกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ มันอาจจะยากเย็น หรืออาจจะมีภาวะที่เขาแทบจะผ่านไปไม่ได้ด้วยซ้ำ และหลายคนก็อาจไม่อยากพูดถึงมัน แต่เมื่อเราเชิญพวกเขามาพูดในงานของเราแล้ว เราก็อยากให้เขาแชร์ประสบการณ์ เพื่อให้เด็กๆ ได้ฟัง และรู้ว่าอย่างน้อยที่สุด ในอาชีพนั้นๆ เขาจะเผชิญกับอะไร
และปัญหาหลักอีกอย่างของเด็กสมัยนี้คือ เรื่องของการไม่อดทน ทำอะไรแต่ละอย่างก็แค่แตะๆ พอลำบากนิดหน่อยก็พร้อมจะทิ้งแล้ว ก็เลยทำอะไรได้ไม่ดีสักอย่าง หรือรู้อย่างละนิดละหน่อย ซึ่งผมอยากจะชวนให้คิดว่า เวลาจะลองทำอะไร บางทีต้องลองให้ถึงที่สุด ถ้าคิดว่ามันใช่ พูดง่ายๆ ถ้าสิ่งนี้เราคิดว่าทำได้ เราชอบจริงๆ ก็ต้อง Developing the Best ทำในสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ให้มันออกมาดีที่สุด
อยากเชื่อมโยงประเด็นนี้กับประสบการณ์ของคุณเอง มีประสบการณ์ตัดตัวเลือกออกไปจากชีวิตบ้างไหม
ถ้าเอาจริงๆ ที่ผ่านมามันก็มีตัวเลือกเข้ามาเยอะมากแต่ด้วยจังหวะและปัจจัยหลายๆ อย่าง มันก็มีผลให้เราตัดสินใจไปในทางที่เราไม่คิดว่าจะทำ คือผมอาจจะโชคดีที่บางทีเราก็ไม่ได้คิดอะไรลึกมาก เพราะทางเลือกต่างๆ มันก็มาตามจังหวะของมัน แต่ด้วยความที่ผมเรียนมาทางวิศวกรรม หลายครั้งเวลาต้องตัดสินใจยากๆ เรามักจะมาตีตารางแยกเป็นสองฝั่งแบ่งครึ่ง Pros and Cons ดูข้อดี-ข้อเสียกันเลย ซึ่งที่ผ่านมามันก็เป็นหลักให้เราคิดได้ แต่เวลาที่เราต้องตัดสินใจจริงๆ เราต้องถามใจตัวเองก่อนว่า ตัวเองอยากทำอะไร เหมือนที่เขาบอกว่า เวลาเราต้องวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย จง use your head แต่เวลาต้องตัดสินใจ จง use your heart แต่การจะ use your heart ก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องเลือกทางนี้โดยไม่สนใจอะไรเลย เราต้องชั่งน้ำหนัก ในกรณีที่ตัวเลือกดีทั้งคู่ จะเอาอะไรมาตัดสินใจ มันก็ต้องถามใจตัวเองแล้วล่ะ ผมว่าหลายครั้งที่เมื่อคนเจอทางเลือกประเภทที่ว่า ไอ้นั่นก็ดี ไอ้นี่ก็ดี นี่แหละที่ยาก เพราะเรื่องที่ขาวกับดำ คนมันตัดสินใจง่ายกว่า ที่ยากคือตรงเทาๆ นี่ล่ะ ที่ตัดสินใจยาก ถ้ามองกลับไป การตัดสินใจของผม บางทีก็ต้องใช้ความรู้สึกมาช่วย
เคยไหมที่เวลานั่งคิดข้อดี-ข้อเสีย หา Pros and Cons แล้วเห็นข้อเสียเยอะมาก แต่ก็ยังทำ
มี สมัยตอนเรียนจบมาใหม่ๆ ผมเป็นคนผลการเรียนดีมาโดยตลอด ผมไปสมัครงาน ได้งานการตลาดที่บริษัทต่างชาติ บริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง สมัครไปแป๊บเดียวเขาก็รับเลย แล้วก็มีอีกบริษัทหนึ่งเป็นบริษัทเล็กๆ โนเนม แต่ผมอาจจะมีโอกาสได้ทำรายละเอียดทั้งหมด ขณะที่บริษัทใหญ่ เราจะได้เรียนรู้เฉพาะด้าน ถ้าถามทั้งสองบริษัท ใครก็ต้องเลือกบริษัทข้ามชาติ เพราะทุกอย่างดีกว่า ไม่ว่าจะเงินหรืออะไร แต่ตอนนั้นผมเลือกบริษัทเล็ก เพราะใจมันเหมือนอยากจะลอง ซึ่งตอนนั้นถ้าเลือกบริษัทใหญ่ไป ชีวิตวันนี้ก็คงเป็นไปอีกแบบเหมือนกัน แต่พอไปทำบริษัทเล็ก มันก็ได้นั่งถาม นั่งตอบตัวเองว่า ตกลงมันใช่ไหม ซึ่งในที่สุดก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ เพราะทำไปแล้วมันไม่ออกดอกออกผลอย่างที่คิด พูดง่ายๆ ก็คือ เราก็เฟลได้ พลาดได้ แต่ในที่สุดมันก็ทำให้เราเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนมาถึงทุกวันนี้ ดังนั้นผมมองว่า ทุกอย่างมันก็มีเหตุปัจจัย แต่เมื่อจะตัดสินใจ อาจต้องถามตัวเองดีๆ ว่าเราอยากทำไหม สอง เราต้องยอมรับว่าตัดสินใจไปแล้ว เราอาจจะผิดได้นะ ตอนนั้นล่ะ ให้ใช้ your head ใหม่อีกครั้ง แล้วค่อยใช้ your heart ต่อ คือไม่ได้หมายความว่า ตัดสินใจผิดแล้วมันจะผิดไปเลย คุณก็ต้องกลับมาคิดว่า มันผิดเพราะอะไร เราไม่ได้เหมาะกับสิ่งนี้หรือเปล่า สุดท้ายมันต้องใช้เหตุผลประกอบกับ passion จะใช้ความรัก ความชอบ ลุยไปเลย แบบที่เรียกว่าดันทุรัง มันก็ไม่ถูก เพราะ passion อย่างเดียวมันไม่ได้ตอบโจทย์ว่าคุณจะประสบความสำเร็จได้ เพราะเมื่อมี passion แล้ว คุณต้องมีทักษะและความสามารถด้วย ซึ่งคุณก็ต้องฝึก ไม่ใช่อยากเปิดร้านกาแฟเพียงเพราะชอบกินกาแฟ แต่คุณจะต้องรู้ด้วยว่าการตลาดคืออะไร กำไรขาดทุนเป็นอย่างไร บริหารคนอย่างไร สต็อกของแบบไหน เพราะถ้าไม่รู้เรื่องอะไรเลย ยังไงก็เจ๊ง
ใครๆ ก็อยากไปถึงจุดสูงสุด อยากเห็นวิวสูงสุด แต่ทำอย่างไรให้ไปอยู่บนนั้นได้โดยไม่หวั่นไหว
สำหรับตัวเอง สิ่งที่ช่วยคือ การพัฒนาจิต ฝึกจิต ซึ่งได้จากการบวชเรียน ปฏิบัติธรรม ผมว่าตรงนี้คือหลักในการทำงาน เพราะมันไม่มีอะไรไม่หวั่นไหวหรอก มันมีปัจจัยภายนอกมากระทบตลอดเวลา มีอารมณ์ต่างๆ คุณหวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบได้ แต่คุณต้องรับรู้ได้เร็ว และต้องนิ่งให้ทันกับสิ่งที่เข้ามาด้วย บางทีจุดที่สูงสุดลมมันก็แรงนะ เราต้องหาวิธีไปกับลมได้ และนิ่งด้วย มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เพราะบางทีการลู่ตามลมก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีจุดยืน เพราะต้นไม้ที่แข็งเกินไป เจอลมแรงๆ มันก็หักโค่นได้ แต่การที่เรารู้ว่าตอนไหนควรลู่ ตอนไหนควรอยู่ตรงจุดนั้นอย่างไม่หวั่นไหว นั่นคือจุดที่ทำให้ต่าง เพราะบางครั้งเราก็ต้องลู่ไปก่อน แล้วค่อยเด้งกลับมาในจุดยืนของเรา แต่ถ้าเราไม่มีจุดยืนเลย ลู่ไปจนสุดเลย มันก็หลุด แล้วในที่สุด มันก็ไม่ใช่ตัวคุณเอง เพราะมันไปถอนรากในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ
Worst of the Best งานทอล์กที่เหล่า The Best จะมาเล่าอีกด้านของเส้นทางสู่ความสำเร็จ
พบกับ
- คุณด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค ชายที่ทำมากกว่างานสถาปัตย์ เจ้าของบริษัทสถาปนิก
ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด, Jam Factory และ Warehouse 30
- คุณเต้-วรัตต์ วิจิตรวาทการ เจ้าของธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟ ร้าน Roast, Roots Coffee, theCOMMONS
- คุณโอ๊ต-ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี ช่างภาพที่ติดอันดับโลก (Wedding and Non Wedding Photography แห่ง PAAP Production)
- คุณท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ และ คุณพาย- ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี เจ้าของเว็บ Fungjai เว็บเพลงอินดี้ที่ป๊อปที่สุดในยุคนี้
- คุณสายใย สระกวี Head of Communications and Public Affairs จากบริษัท Google Thailand
- คุณหมอหมู-มานพ พิทักษ์ภากร คุณหมอที่ควบงานรักษาคนไข้และวิจัยยาแห่งอนาคต (โรงพยาบาลศิริราช)
โดยงานจะจัดขึ้นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560
เวลา 12.00-16.00 น. ที่สนามมวยไทยไลฟ์ เอเชียทีค
สำรองที่นั่งฟรี www.worstofthebest.net