×

4 ฉากทัศน์ชี้อนาคตเมียนมา กับบทบาทไทยและอาเซียนในการคลี่คลายวิกฤตการเมือง

31.03.2021
  • LOADING...
4 ฉากทัศน์ชี้อนาคตเมียนมา

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • เมียนมากำลังเข้าสู่ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) ที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เวลานี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และคณะรัฐประหารอยู่ในสภาวะรัฐล้มเหลวที่ไม่สามารถบริหารจัดการประเทศและประชาชนเมียนมาได้ 
  • ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดนี้นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีการใช้อาวุธหนักเข้าปราบปรามประชาชนที่ประท้วงอย่างสันติด้วยวิธีการอันโหดร้าย คร่าชีวิต และย่ำยีความเป็นมนุษย์
  • ดูเหมือนว่าผู้นำกองทัพอยู่ในสภาวะเข้าตาจน ขึ้นขี่หลังเสือ หาทางลงไม่ได้ และสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่ในที่สุดจะเกิดการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาจากกองกำลังต่างชาติในนาม ‘กองกำลังรักษาสันติภาพ’ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ หากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติ
  • มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันที่นายทหารในกองทัพจำนวนหนึ่งอาจไม่พอใจกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และนำไปสู่การ ‘รัฐประหารซ้อน’ เพราะเราเห็นรอยร้าวในกองทัพเมียนมามาแล้วก่อนหน้านี้

ถ้าเราจะสรุปสถานการณ์ในเมียนมา ณ ปัจจุบัน หลายๆ คนใช้คำว่า สงครามกลางเมือง, รัฐล้มเหลว, กลียุค, ย่ำยีบีฑาประชาชน ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับทุกๆ คำที่หลายภาคส่วนใช้ แต่ถ้าให้ผู้เขียนสรุปออกมาเป็นคำคำเดียวเพื่อบ่งบอกสถานการณ์และคาดการณ์อนาคตของเมียนมา ผู้เขียนจะขอใช้คำว่า ‘ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario)’ 

 

เพราะเราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในขณะนี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และคณะรัฐประหารในนาม State Administration Council (SAC) อยู่ในสภาวะรัฐล้มเหลวที่ไม่สามารถบริหารจัดการประเทศและประชาชนเมียนมาได้ การใช้อาวุธหนักเข้าปราบปรามประชาชนผู้ต่อต้านอย่างสันติด้วยวิธีการอันโหดร้าย คร่าชีวิต และย่ำยีความเป็นมนุษย์ (De-Humanisation อาทิ การเผาศพผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตโดยไม่ให้มีโอกาสประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ) เกิดขึ้นในทุกเมืองใหญ่ของประเทศ ผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และมีผู้บาดเจ็บหลายพันคน ประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มเดินทางออกนอกประเทศ ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธ เข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมือง

 

 

และฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดนี้นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะดูเหมือนว่าผู้นำกองทัพอยู่ในสภาวะเข้าตาจน ขึ้นขี่หลังเสือ หาทางลงไม่ได้ และสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่ในที่สุดจะเกิดการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาจากกองกำลังต่างชาติในนาม ‘กองกำลังรักษาสันติภาพ’ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติ 

 

4 ฉากทัศน์ชี้อนาคตเมียนมา

 

ซึ่งจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอดีตในกรณีที่คล้ายคลึงกับซีเรีย อัฟกานิสถาน ลิเบีย สิ่งที่เราจะได้เห็นได้แม้ไม่มีใครอยากเห็น นั่นคือหลังการโค่นล้มระบบในเมียนมา ทรัพยากรธรรมชาติของเมียนมาอาจถูกรุมทึ้งโดยมหาอำนาจในรูปแบบของบำเหน็จสงคราม ประชาชนเมียนมาจำนวนมากอาจอพยพหลบหนีออกนอกประเทศ ประเทศที่ถึงแม้จะไม่อยู่ในอุ้งมือของผู้นำกองทัพ แต่ก็ไม่ได้สงบสันติสุข

 

และถ้าเราใช้คำว่าฉากทัศน์ หรือ Scenario นั่นหมายความว่า ทางออกที่เป็นไปได้สำหรับอนาคตของเมียนมาในประชาคมอาเซียนน่าจะมีมากกว่า 1 ฉากทัศน์ และสำหรับตัวผู้เขียน ผู้เขียนพิจารณาแนวทางการดำเนินการต่อไปในอนาคตของเมียนมาไว้ 4 ฉากทัศน์ ซึ่งถ้าไม่มีใครทำอะไร ปล่อยให้การย่ำยีบีฑาประชาชนเกิดขึ้นต่อไป ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่ 1 ก็จะยิ่งเกิดขึ้นและทวีความรุนแรง

 

 

ในขณะที่ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด (Best Case Scenario) หรือฉากทัศน์ที่ 2 คือทหารกลับเข้ากรมกอง เลิกยุ่งกับการเมือง ยอมรับผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ที่คะแนนเสียงสนับสนุนพรรค NLD ซึ่งนำโดย ออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นสมัยที่ 2 และมีการดำเนินคดีกับผู้นำกองทัพ เพื่อชดใช้และรับโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเข่นฆ่าประชาชน แน่นอนว่านี่คือสิ่งที่ทุกฝ่ายทั่วทั้งเมียนมา ไทย ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก อยากเห็นมากที่สุด แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็แทบจะไม่มี

 

นั่นจึงนำมาสู่ฉากทัศน์ที่ 3 ซึ่งถือเป็นฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ (Plausible Scenario) ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนเองมองว่าเมื่อ มิน อ่อง หล่าย เลือดเข้าตา ขึ้นขี่หลังเสือ และหาทางลงไม่ได้ เช่นในปัจจุบัน ในที่สุดนายทหารในกองทัพจำนวนหนึ่งจะไม่พอใจกับสถานการณ์ และนำไปสู่การ ‘รัฐประหารซ้อน’ 

 

 

ซึ่งมีความเป็นไปได้ เนื่องจากเราเห็นรอยร้าวในกองทัพเมียนมา หรือ Tatmadaw มาแล้วก่อนหน้านี้ เช่น ในช่วงกลางปี 2020 นายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย แต่งตั้งนายทหารรุ่นใหม่ให้มีตำแหน่งระดับนายพล และมีหน้าที่คุมกำลังและคุมอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะตำแหน่งที่หลายฝ่ายจับตาคือ ตำแหน่งของ จอ ซาร์ ลิน ซึ่งถือเป็นนายพลที่อายุน้อยที่สุดในกองทัพ ด้วยวัยเพียง 49 ปี และยังเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 35 ซึ่งถือว่าเด็กมาก และเป็นการแต่งตั้งข้ามหัวรุ่นพี่จำนวนมาก เพราะตำแหน่งในระดับนี้ปกติน่าจะเป็นตำแหน่งของนายพลที่เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 24-27 ไม่ใช่ข้ามมารุ่น 35 แต่แน่นอนว่า จอ ซาร์ ลิน คือเด็กสร้างของ มิน อ่อง หล่าย ที่จะทำให้เขาแน่ใจว่า หลังจากที่เขาเกษียณอายุ เขาจะไม่ถูกเช็กบิลแน่ๆ 

 

เราเห็นรอยร้าวชัดเจนในกองทัพ หากแต่รอยร้าวนี้ยังถูกกดทับเอาไว้ เพราะนายทหารกลุ่มที่ถูกข้ามหัวยังไม่มีแรงสนับสนุนให้ออกมาเคลื่อนไหว หรือไม่ก็การแบ่งผลประโยชน์ก็ยังลงตัวอยู่ หากแต่ในภาวะวิกฤต การแบ่งผลประโยชน์ระหว่างนายทหารรุ่นต่างๆ เริ่มไม่ลงตัว เช่นเดียวกับที่แรงสนับสนุนจากภาคประชาชนที่ไม่เอา มิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 19 ก็รุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มนายทหารระดับสูงในกองทัพ (กลุ่มนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 24-27 ที่ถูกข้ามหัว) อาจจะรวบรวมกำลังกันและทำรัฐประหารซ้อน

 

ซึ่งเรื่องเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ของเมียนมา นายพล เน วิน ผู้นำการรัฐประหารในปี 1962 และควบคุมบริหารประเทศในนาม Union Revolutionary Council ก็พบกับจุดจบจากการลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์วันที่ 8 สิงหาคม 1988 (เหตุการณ์ 8-8-88) แต่ชัยชนะกลับไม่ใช่ของประชาชน หากแต่เป็นนายทหารกลุ่มใหม่ ซึ่งนำโดย นายพล ซอ หม่อง และคณะในนาม State Law and Order Restoration Council (SLORC) ซึ่งเขาอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน เพราะในปี 1992 การรัฐประหารซ้อนอีกรอบของอีกรอบ โดยคณะนายทหารอีกกลุ่มในนาม State Peace and Development Council (SPDC) ซึ่งนำโดย นายพล ตาน ฉ่วย ซึ่งเป็นเบอร์ 2 รองจาก ซอ หม่อง เองก็เกิดขึ้น

 

แม้แต่ในช่วงเวลาของ SPDC ภายใต้การนำของ ตาน ฉ่วย ระดับรองๆ ที่ทำหน้าที่หัวหน้ารัฐบาลอย่างชุดของ ขิ่น ยุ่น, โซ วิน และ หม่อง เอ ก็เคยถูกปลดกลางอากาศ และเปลี่ยนมือให้กับนายพลอีกคนคือ เต็ง เส่ง มาแล้ว 

 

ดังนั้นการรัฐประหารซ้อนรัฐประหารโดยนายทหารอีกกลุ่มที่ไม่พอใจการจัดสรรผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว โดยนายทหารที่เพิ่งจะทำรัฐประหารไปก่อนหน้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ในเมียนมา

 

4 ฉากทัศน์ชี้อนาคตเมียนมา

 

แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ แล้วผลลัพธ์ของการทำรัฐประหารซ้อนจะออกมาในรูปแบบไหน ซึ่งผู้เขียนพิจารณาว่า มีความเป็นไปได้ 2 ทาง นั่นคือ 3.1 นายทหารกลุ่มใหม่ที่เข้ามา ก็มีแนวคิดเช่นเดิม นั่นคือถือผลประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่ต้องการเดินหน้าประเทศไปในทิศทางประชาธิปไตย และนั่นทำให้ฉากทัศน์ที่ 3.1 อาจจะกลายร่างไปเป็นฉากทัศน์ที่ 1 ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดได้อีกครั้ง

 

หรือในทางตรงกันข้าม หากนายทหารกลุ่มใหม่ที่เข้ามาเป็น ‘เลือดใหม่’ ที่ต้องการเห็นประเทศเดินหน้าไปได้ในเวทีประชาคมโลก นำพาเมียนมาเข้าสู่ฉากทัศน์ที่ 3.2 นั่นคือ ปฏิรูปกองทัพควบคู่กับการปฏิรูปการเมือง เดินหน้าประเทศเมียนมาไปสู่อนาคตที่ทำเพื่อประชาชน นายทหารกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นนายทหารที่ประชาชนเมียนมาอยากจะสร้างอนุสาวรีย์ให้

 

และทั้งสามฉากทัศน์ที่กล่าวถึงข้างต้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นฉากทัศน์ที่ไทย ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก เฝ้าดูโดยไม่ลงมือทำอะไรเลย 

 

แต่หากไทยและประชาคมอาเซียนไม่นิ่งดูดาย ไม่ปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ เราอาจจะได้เห็นฉากทัศน์ที่ 4 ที่อาจนำความเปลี่ยนแปลงทางด้านบวกสู่เมียนมาและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรูปแบบที่มีความเป็นไปได้ และระงับยับยั้งไม่ให้สงครามกลางเมืองและการเข้าแทรกแซงของมหาอำนาจเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันประชาชนเมียนมาและประชาชนอาเซียนก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างสง่างาม

 

 

ในฉากทัศน์ที่ 4 นี้ ไทยและประชาคมอาเซียนต้องเร่งดำเนินการอะไรบางอย่าง (ASEAN Constructive Engagement Scenario) โดย 4 เรื่องที่ต้องดำเนินการ คือ

 

1. สำคัญที่สุดและเร่งด่วนที่สุดคือการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะกับประชาชนเมียนมาที่หนีภัยความรุนแรงเข้ามาบริเวณชายแดนของประเทศไทย (ปัจจุบันมากกว่า 3,000 คนแล้ว) อย่างไรก็ตาม การรับผู้อพยพเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเปราะบางมาก เพราะหากให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาบริหารจัดการ ไทยอาจจะไม่มีภาระมากนักในเรื่องงบประมาณ แต่นั่นเท่ากับการบังคับใช้กฎหมายไทยในบริเวณที่เป็นค่ายผู้อพยพที่อยู่ในประเทศไทยก็จะทำไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งบางครั้งอาจถูกตีความได้ว่า เราสูญเสียอำนาจอธิปไตยในบางระดับ

 

ในทางตรงกันข้าม หากประเทศไทยเป็นตัวตั้งตัวตีออกหน้ารับผู้อพยพโดยไทยดำเนินการเองทั้งหมด ความเปราะบางด้านความมั่นคงในบริเวณชายแดนก็จะเกิดขึ้น เพราะกองทัพเมียนมาก็จะไม่พอใจประเทศไทย ต้องอย่าลืมว่าความสัมพันธ์ที่ดีของกองทัพที่อยู่คนละฝั่งของชายแดนมีความสำคัญมาก และเป็นเรื่องในระยะยาวที่เราต้องรักษาเสถียรภาพและความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้ 

 

Hotline ที่ผู้นำกองทัพมีความสนิทสนมในระดับที่สามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนข่าวสารด้านความมั่นคงระหว่างกัน ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือความเข้าใจผิดบริเวณชายแดน ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายและเปราะบางมากยิ่งขึ้นหากพิจารณาถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคงแบบองค์รวม (Comprehensive Security) 

 

เราไม่อยากให้อุบัติเหตุหรือความเข้าใจผิดบริเวณชายแดนเหล่านี้ขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ต้องใช้กองกำลังเข้าโจมตีซึ่งกันและกัน ดังนั้นการกระทำอันใดที่เป็นการถนอมน้ำใจ รักษาความสัมพันธ์ในระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังนั้นหากประเทศไทยจะเปิดตนเองเป็น Asylum ให้กับกลุ่มคนที่กองทัพเมียนมามองว่าเป็นภัยคุกคามด้วยตนเองคงไม่ดีแน่

 

ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือใช้กลไกของอาเซียน ใช้มติของอาเซียนที่ผ่านการประชุมด่วนในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภายใต้สภาวะฉุกเฉิน ที่ไทยเราสมควรเข้าร่วม และผลักดันให้มีมติให้ใช้ประโยชน์จากกลไกของอาเซียนในการช่วยเหลือผู้อพยพเมียนมาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ไทยสามารถดำเนินการได้ และในขณะเดียวกันก็ให้ผู้นำกองทัพของไทยและเมียนมา ซึ่งน่าจะสามารถติดต่อกันได้ชี้แจงว่า ไทยต้องดำเนินการ เพราะนี่คือมติของอาเซียน และไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน เราจึงต้องรับหน้าที่เช่นนั้นเช่นนี้ในภารกิจนี้

 

โดยกลไกสำคัญของอาเซียนที่ไทยสามารถผลักดันได้ทันทีคือ ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management (AHA Centre) หรือศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมทรัพยากรจากทุกประเทศสมาชิกเพื่อช่วยเหลือคนเมียนมา โดยชุดปฏิบัติการที่จะลงไปในพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือกับประชาชนเมียนมาคือ One ASEAN One Response ซึ่งสามารถส่งทีมลงพื้นที่ได้ทันทีภายใต้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเป็นหนึ่งเดียวกันด้านการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม 

 

ในขณะที่อุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้วตั้งแต่สมัยที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 นั่นคือ เต็นท์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ห้องน้ำและระบบสาธารณสุขเคลื่อนที่ ตลอดจนเครื่องมือช่วยเหลือต่างๆ ที่เราเก็บเอาไว้ในคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่จังหวัดชัยนาท ภายใต้โครงการระบบโลจิสติกส์ฉุกเฉินสำหรับใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติของอาเซียน (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA) รวมทั้งการให้การสนับสนุนด้านบุคลากรทางการแพทย์จากศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM) ซึ่งมีกรมการแพทย์ทหารบกของไทยเป็นกำลังสำคัญ เพราะต้องอย่าลืมว่าขณะนี้ทั้งไทยและเมียนมาก็ยังอยู่ในภาวะเปราะบางต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือและคัดกรองผู้ป่วยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

ฝ่ายไทยเราเองก็ต้องให้กองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เข้ามาทำหน้าที่ในลักษณะผู้ช่วยกับกลไกของอาเซียนนี้ โดยต้องคำนึงถึงมิติในด้านรัฐศาสตร์มากกว่ามิติด้านนิติศาสตร์ เน้นการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

4 ฉากทัศน์ชี้อนาคตเมียนมา

 

2. ร่วมกันผลักดันกับประเทศสมาชิกให้ดำเนินการ Targeted Sanction ต้องเป็นการทำแบบเน้นเป้าหมาย ไม่ใช่การคว่ำบาตรหรือการลงโทษแบบเหมารวมที่จะทำให้คนเมียนมาเดือดร้อน แต่เน้นเป้าหมายการหยุดและตัดท่อน้ำเลี้ยง เส้นทางการเข้าถึงและการใช้เงินของผู้นำกองทัพของเมียนมา ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของเหล่าผู้นำกองทัพเมียนมาและเครือข่าย รวมทั้งเงินฝากมีอยู่ในทั่วโลก (สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ต่างยุติเส้นทางทางการเงินไปแล้ว) และในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเทศไทยและสิงคโปร์ ดังนั้นการผลักดันเรื่องนี้ในเวทีอาเซียนเพื่อให้ได้มติจากส่วนรวม แล้วจึงให้แต่ละสมาชิกไปดำเนินการ จะเกิดขึ้นได้คงต้องผ่านการดำเนินการในทางลับ คุยกันนอกรอบ ไม่เป็นทางการระหว่างไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย 

 

โดยในที่สุดอินโดนีเซียในฐานะประเทศใหญ่ และไม่มีพรมแดนติดกับเมียนมา ไม่มีความสุ่มเสี่ยงที่กองทัพจะผิดใจซึ่งกันและกัน ต้องเป็นผู้เสนอเรื่องนี้สู่ที่ประชุมอาเซียน โดยไทยคงต้องล็อบบี้สิงคโปร์ว่าถ้าจะมีมติแบบนี้ สิงคโปร์จะดำเนินการหรือไม่ เพราะการฝากเงินในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก มีประเด็นในเรื่องของการปกปิดข้อมูลผู้ฝากเงิน และการยับยั้งการเข้าถึงบัญชี ก็มีกฎระเบียบที่ซับซ้อน ดังนั้นถ้าต้องการสันติภาพและนำเมียนมาเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในภูมิภาค การตัดท่อส่งเงินของผู้นำกองทัพเมียนมาต้องได้รับความร่วมมือจากสิงคโปร์ด้วย และถ้าขนาดสิงคโปร์ยังเอาด้วย ไทยเราเองก็พร้อมที่จะทำตาม เพราะนี่คือมติของอาเซียน

 

3. ไทยต้องร่วมผลักดันให้การประชุมอาเซียนในระดับรัฐมนตรีและระดับสุดยอดผู้นำอาเซียนเกิดขึ้นในวาระเร่งด่วน และร่วมกันออกแถลงการณ์ไปยังประเทศคู่เจรจาหลักของอาเซียน (Dialogue Partners) ทั้ง 10 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ให้ยุติการขายอาวุธและการให้ความร่วมมือทางการทหารกับเมียนมา แน่นอนว่าเราต้องการพุ่งเป้าไปที่ 3 ประเทศสำคัญ คือ รัสเซีย จีน และอินเดีย แต่การชี้นิ้วไปแค่ 3 ประเทศนี้ก็คงไม่เหมาะ ดังนั้นต้องแสดงท่าทีต่อทุกคน เขาจะปฏิบัติตามหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา แต่อาเซียนได้แสดงจุดยืนไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และในขณะเดียวกันอาเซียนที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาก็ต้องควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายอาวุธจากประเทศของตนเข้าไปในเมียนมาด้วย

 

4. ไทยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่าการค้าขายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าชายแดน เพื่อส่งสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปในเมียนมายังต้องทำได้อย่างปกติ เพราะหากสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถส่งเข้าไปค้าขายในเมียนมาได้ คนที่เดือดร้อนไม่ใช่ผู้นำกองทัพเมียนมา หากแต่เป็นประชาชน แน่นอนถึงแม้ปัจจุบันราคาสินค้าบางอย่างในเมียนมาจะปรับสูงขึ้นแล้ว เช่น น้ำมันพืชราคาเพิ่มขึ้นกว่า 20% แต่ผู้ผลิตและผู้ค้าชาวไทยต้องเร่งส่งสินค้าเหล่านี้ และเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายไทยคงต้องดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้สินค้าเหล่านี้ออกไปถึงมือประชาชนเมียนมาได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด (หยุดการเก็บผลประโยชน์เข้าตัวเถอะครับ ในเวลาที่ประชาชนเมียนมาเขาเดือดร้อนเช่นนี้ อย่าให้ต้นทุนสินค้ามันสูงขึ้นไปอีกเลย) เราต้องการให้ประชาชนเมียนมาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่เดือดร้อนจนเกินไป เข้าถึงสินค้าและบริการได้ เพราะในเมียนมา นอกจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้ว วิกฤตทางการเมืองยิ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างเป็นอัมพาต หากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสินค้าในการดำรงชีพได้ นั่นเท่ากับเรายิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ในเมียนมาให้เลวร้ายลงกว่าเดิม

 

ภาพ: Getty Images

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X