×

งานวิจัยพบแม่น้ำหลายสายทั่วโลกปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ ชี้เป็นปัญหาระดับโลก

29.05.2019
  • LOADING...
World's rivers are contaminated with antibiotics

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์กในสหราชอาณาจักร วิเคราะห์ตัวอย่างน้ำในแม่น้ำ 72 ประเทศ พบว่า 65% ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะแม่น้ำในเอเชียและแอฟริกา ซึ่งพบยาปฏิชีวนะปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตราย

 

รายงานระบุว่า สารปนเปื้อนถูกตรวจพบในปริมาณมากในแม่น้ำประเทศบังกลาเทศ เคนยา กานา ปากีสถาน และไนจีเรีย โดยกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการตรวจพบยาเมโทรนิดาโซล ซึ่งใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังและปาก เกินระดับความปลอดภัยถึง 300 เท่า นอกจากนี้ยังพบยาไตรเมโทพริม ซึ่งใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินปัสสาวะมากถึง 43% ของแม่น้ำที่เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ

 

ทั้งนี้ระดับความปลอดภัยตามที่กลุ่มบริษัทเภสัชภัณฑ์และเทคโนโลยีชีวภาพ AMR Industry Alliance กำหนดคืออยู่ในช่วง 20,000-32,000 นาโนกรัมต่อลิตร ขึ้นอยู่กับชนิดของยาปฏิชีวนะ

 

งานวิจัยชิ้นนี้มาจากการวิเคราะห์ตัวอย่างที่เก็บจากแม่น้ำสายสำคัญทั่วโลกรวม 711 แห่ง ซึ่งรวมถึงแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง และแม่น้ำไทกริสในเอเชีย แม่น้ำแซน แม่น้ำดานูบ แม่น้ำเทมส์ และแม่น้ำไทเบอร์ในยุโรป โดยยาปฏิชีวนะที่ตรวจหาเป็นยาฆ่าเชื้อที่ใช้กันอย่างแพร่หลายรวม 14 ชนิด

 

นักวิจัยพบว่าสถานที่ที่มีความเสี่ยงปนเปื้อนยาปฏิชีวนะสูงมักจะอยู่ใกล้กับโรงงานบำบัดน้ำเสีย หรือสถานที่ที่มีขยะมาก

 

นอกจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ทีมนักวิจัยยังพบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในระดับที่เป็นอันตรายในภูมิภาคยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ด้วย ซึ่งบ่งชี้ว่าการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาระดับโลก

 

เมื่อเดือนที่แล้วองค์การสหประชาชาติออกมาเตือนถึงวิกฤตระดับโลกจากปัญหาการดื้อยา ทั้งยาจุลชีพ ยาต้านไวรัส ยาต้านเชื้อรา และสารต้านโปรโตซัว โดยข้อมูลจากกลุ่มประสานงานด้านการดื้อยาของสหประชาชาติระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อย 700,000 คนทั่วโลก พร้อมเตือนด้วยว่าหากไม่เร่งดำเนินมาตรการป้องกัน อาจมีผู้เสียชีวิตจากโรคดื้อยามากถึง 10 ล้านคนภายในปี 2030  

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X