×

นักอนุรักษ์พบผึ้งพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลกอีกครั้ง หลังไม่พบนาน 38 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
22.02.2019
  • LOADING...

ใครๆ ก็คิดว่า ‘ผึ้ง’ เป็นแมลงที่พบเห็นได้ง่ายดายเสียเหลือเกิน แค่ออกไปร้านขายขนมหวานก็เจอพวกมันบินกันให้ว่อนแล้ว แต่คงไม่ใช่กับผึ้งพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างผึ้งยักษ์วอลเลซ (Wallace’s Giant Bee) แน่ เพราะผึ้งพันธุ์นี้ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Megachile pluto ถูกค้นพบเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1981 หรือเมื่อ 38 ปีมาแล้ว จนใครๆ ก็คิดว่าพวกมันอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว

 

แต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โลกได้พบกับข่าวใหญ่ที่น่ายินดี เมื่อทีมนักอนุรักษ์ได้ค้นพบผึ้งยักษ์วอลเลซอีกครั้งบนเกาะมาลูกูเหนือของอินโดนีเซีย

 

กลุ่ม Global Wildlife Conservation ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งค้นหาสัตว์หายากหรือสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ได้ประกาศข่าวดีนี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยเคย์ โบลต์ ช่างภาพที่ถ่ายรูปผึ้งดังกล่าวเป็นคนแรกเปิดเผยความรู้สึกว่า “นี่ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของเราที่ได้มีโอกาสค้นพบผึ้งยักษ์วอลเลซ เพราะเราแทบไม่คิดเลยว่าพวกมันจะยังมีหลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้

 

“ความฝันของผมในตอนนี้ คือการยกผึ้งยักษ์วอลเลซเป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์บนเกาะมาลูกูเหนือของอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองที่นี่”

 

รายงานระบุว่า ผึ้งตัวที่ถูกพบมีขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือของผู้ใหญ่ โดยมีระยะห่างระหว่างปลายปีกทั้ง 2 ข้างอยู่ที่ 2.5 นิ้ว ซึ่งใหญ่กว่าผึ้งยุโรปถึง 4 เท่า โดยคณะสำรวจกลุ่มดังกล่าวได้พบกับผึ้งตัวเมียที่อาศัยอยู่ในรังปลวกข้างต้นไม้ ซึ่งโดยปกติแล้วผึ้งยักษ์วอลเลซจะใช้ยางไม้และกิ่งไม้ในการสร้างโพรงและห้องต่างๆ เพื่อเป็นพื้นที่อาศัยแยกกับพวกปลวกในรังนั่นเอง

 

ด้าน The IUCN Red List of Threatened Species หรือบัญชีชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ระบุว่า ผึ้งชนิดนี้อยู่ในสถานะ ‘สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์’ เพราะถึงแม้ผึ้งยักษ์วอลเลซอาจจะยังมีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่การที่สัตว์ชนิดนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลนั้น ก็ทำให้การศึกษาสายพันธุ์เป็นไปได้ยาก และก่อนหน้านี้ก็เคยมีคณะเดินทางที่พยายามไปเสาะหาผึ้งพันธุ์ดังกล่าวในอินโดนีเซียมาแล้ว แต่ก็คว้าน้ำเหลวกลับมา

 

ทั้งนี้ อินโดนีเซียถือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์หายากหลายชนิด แต่หลายฝ่ายต่างก็วิตกกังวลเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์และแมลง เนื่องจากมีการตัดต้นไม้เพื่อการเกษตร ส่งผลให้สัตว์หลายพันธุ์ขาดแคลนที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

 

อิลี ไวย์แมน นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งร่วมเดินทางไปอินโดนีเซียในทริปครั้งนี้ เปิดเผยว่า “ผมคิดว่าการค้นพบครั้งนี้จะช่วยจุดประกายการค้นคว้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจถึงวิถีชีวิตของผึ้งยักษ์วอลเลซ และได้ค้นพบแนวทางที่จะปกป้องพวกมันจากการสูญพันธุ์”

 

ภาพ: CQUniversity / Twitter

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising