ในปี 2006 มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของทีมชาติโมร็อกโก และความน่าอัศจรรย์คือการที่เรื่องราวนั้นสอดคล้องกับความจริงที่เกิดขึ้นในอีก 16 ปีต่อมาได้อย่างน่าประหลาดใจ
ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีชื่อว่า Wake Up Morocco ซึ่งจินตนาการถึงวันที่ทีมชาติโมร็อกโกผ่านเข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก – ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในความเป็นจริงมาก่อน – โดยเป็นการสดุดีถึงผลงานของยอดนักเตะผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตตามยุคสมัยของชาติ จาก ลาร์บี เบนบาเร็ก ถึง ฮิชาม เอล เกร์รูจ และทีมชุดที่ผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลแอฟริกันคัพออฟเนชันส์ ในปี 2004
แต่เส้นเรื่องหลักนั้นอยู่ที่ชีวิตของตัวละครเอกซึ่งพักอาศัยอยู่ในบ้านที่คาซาบลังกา ที่จมอยู่กับความทรงจำและคำถามที่หากเขาไม่เผลอไผลใช้เวลากับหญิงสาวในคืนก่อนจะลงสนาม พวกเขาอาจมีโอกาสได้เป็นแชมป์ ในขณะที่หลานก็เฝ้าฝันถึงการเป็นแชมป์ว่าความรู้สึกจะเป็นอย่างไร
ความน่าอัศจรรย์คือ 16 ปีหลังจาก Wake Up Morocco ออกฉาย พวกเขาก็มาถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลกได้จริงๆ โดยที่หนึ่งในนักเตะที่ได้ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนั้นด้วยอย่าง วาลิด เรกรากุย ก็กลายมาเป็นโค้ชของทีมชุดปัจจุบัน ซึ่งพาทีมเข้ามาถึงด่านนี้ได้เป็นครั้งแรก และเป็นทีมแรกจากแอฟริกาที่มาได้ใกล้เคียงกับการเป็นแชมป์โลกที่สุด
น่าเสียดายที่ในโลกของความจริงพวกเขาก็ยังไปไม่ถึงรอบชิงชนะเลิศอยู่ดี และเป็นดังคำเขาว่า ทุกการเดินทางย่อมมีวันสิ้นสุด ไม่ว่าการเดินทางนั้นจะเป็นการเดินทางที่งดงามขนาดไหนก็ตาม
เรื่องราวของเหล่า ‘สิงโตแอตลาส’ ทีมชาติโมร็อกโก ซึ่งกลายเป็นสิ่งสวยงามที่สุดของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ก็เช่นกัน พวกเขาเดินทางมาได้ไกลแค่รอบรองชนะเลิศเท่านั้น ไม่สามารถจะไปต่อได้เพราะแชมป์โลกอย่างฝรั่งเศสนั้นแกร่งและเฉียบคมกว่า
เดิมโมร็อกโกเป็นรองฝรั่งเศสในทุกกระบวนท่าอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนลงสนาม คู่แข่งของพวกเขานั้นกำลังอยู่ในยุคทองที่อาจกล่าวได้ว่าดีไม่ต่างจากยุคทองครั้งแรกที่มีเหล่ายอดนักเตะอย่าง มาร์กเซล เดอไซญี, ลิลิยอง ตูราม, บิเซนเต ลิซาราซู, ปาทริก วิเอรา, ยูริ จอร์เกฟฟ์, คริสตอฟ ดูการ์รี, เธียร์รี อองรี และศิลปินลูกหนังผู้ยิ่งใหญ่ ซีเนดีน ซีดาน
ยุคนั้นฝรั่งเศสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1998 และต่อด้วยฟุตบอลยูโร 2000 ได้อย่างสง่างาม และแม้ในช่วงปลายยุคสมัยที่มีการผลัดเปลี่ยนสายเลือดในทีมไปมากแล้ว ซีดานก็ยังนำ ‘เลส์ เบลอส์’ เข้าชิงชนะเลิศได้ในฟุตบอลโลก 2006 แม้จะจบลงอย่างน่าเศร้าก็ตาม
ทีมตราไก่ในวันนี้เป็นทีมของคนรุ่นใหม่ที่นำมาโดย คีเลียน เอ็มบัปเป, โอเรลีแย็ง ชูอาเมนี, อุสมาน เดมเบเล, อาเดรียง ราบิโอต์, อิบราฮิมา โกนาเต, ชูลส์ กุนเด รวมถึงตัวสำรองผู้เป็นทายาทของ ลิลิยอง ตูราม อย่าง มาร์คัส ตูราม ผสมผสานด้วยผู้มีประสบการณ์อย่าง อูโก โญริส, โอลิวิเยร์ ชิรูด์ และ อองตวน กรีซมันน์
จากที่มีความน่ากังขาบ้างเพราะแกนหลักหลายคนบาดเจ็บก่อนทัวร์นาเมนต์ รวมถึง คาริม เบนเซมา เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ปีล่าสุด แต่ดูเหมือนเราได้เห็นแล้วว่าฝรั่งเศสชุดนี้ดูลงตัวและน่ากลัวยิ่งกว่าที่ผ่านมามาก ซึ่งเป็นเครดิตของ เดส์ชองส์ ที่สามารถผสมผสานองค์ประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะจังหวะเกมรุกที่วูบวาบอันตรายอย่างยิ่ง และนำไปสู่ความได้เปรียบมหาศาลเมื่อได้ประตูขึ้นนำโมร็อกโกไปก่อนอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นเกมจากการเปิดเกมรุกต่อเนื่อง จากกรีซมันน์ถึงเอ็มบัปเป ก่อนที่ลูกยิงซึ่งแฉลบจะมาเข้าทาง เตโอ เอร์นานเดซ ที่สอดขึ้นมาซ้ำดาบสองด้วยการยิงที่ยากมากเข้าไปได้อย่างยอดเยี่ยม
จะยิงบูนูให้ได้ต้องใช้ท่ายากระดับนี้
ประตูของเตโอชวนให้คิดถึงว่าในทุกความสำเร็จของฝรั่งเศสในฟุตบอลโลกนั้น ผู้เล่นในตำแหน่งฟูลแบ็กจะโผล่มาเป็นคนสำคัญของทีมเสมอ ไม่ว่าจะเป็น ลิลิยอง ตูราม ที่ทำคนเดียว 2 ประตูในรอบรองชนะเลิศกับโครเอเชียเมื่อ 24 ปีก่อน หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เบนจามิน ปาวาร์ เป็นผู้ยิงประตูสุดสวยให้ไล่ตีเสมออาร์เจนตินาได้ก่อนจะส่งทีมของ ลิโอเนล เมสซี ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย
ประตูนี้ยังเป็นการทำลายทำนบอันแข็งแกร่งของทีมจากแอฟริกา ผู้กลายเป็นดังตัวแทนหมู่บ้านของทั้งชาวกาฬทวีปและโลกอาหรับ ซึ่งยังไม่เคยเสียประตูให้คู่ต่อสู้แบบจริงๆ เลยตลอดรายการที่ผ่านมา (มีแค่ลูกยิงแฉลบเข้าไปลูกเดียวเท่านั้น)
ทุกอย่างมันชวนคิดว่าสงสัยแล้วโมร็อกโกน่าจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากโครเอเชียที่เมื่อพลาดท่าเสียประตูก่อนก็ต้องเปิดเกมบุก และสุดท้ายโดนอาร์เจนตินาต้อนไปถึง 3-0
แต่ปรากฏว่าทีมของ วาลิด เรกรากุย ‘เป๊ป กวาร์ดิโอลา แห่งโมร็อกโก’ กลับพิสูจน์ให้เห็นว่าการที่พวกเขาสามารถเดินทางมาได้ไกลขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา หากแต่มาจากความสามารถจริงๆ
สิงโตแอตลาสไม่เพียงแค่แยกเขี้ยวใส่ ยังส่งเสียงคำรามก้องสนาม ค่อยๆ พยายามหาทางต่อกรกับโคตรทีมอย่างฝรั่งเศสได้อย่างน่าชม
มีไม่กี่ทีมในโลกหรอกที่สามารถโต้ตอบกลับฝรั่งเศสแบบตาต่อตาฟันต่อฟันได้แบบนี้ แต่โมร็อกโกทำได้ พวกเขาแสดงให้เห็นถึงการเล่นฟุตบอลอันยอดเยี่ยมทั้งในเรื่องของเกมรุกที่ทำทุกอย่างอย่างมีแบบแผน เล่นด้วยจินตนาการ แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญที่จะลุยเข้าใส่แบบไม่มีคำว่าเกรงใจแชมป์โลก
ในขณะที่เกมรับนั้นถึงจะต้องเจอกับของระดับพรีเมียมอย่างเดมเบเล, กรีซมันน์, ชิรูด์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอ็มบัปเปที่ยอดเยี่ยมเหลือเกินในทัวร์นาเมนต์นี้ แต่โมร็อกโกที่ไม่ได้มีกองหลังในระดับตัวท็อปของโลก ซ้ำยังสูญเสียกัปตัน โรแม็ง ซาอิสส์ ที่บาดเจ็บในช่วงต้นเกมอีก กลับปักหลักต้านทานอย่างสุดความสามารถได้อย่างน่าประทับใจ
โมร็อกโกทำได้ถึงระดับที่เกมตกอยู่ในฝ่ายของพวกเขาที่ทั้งตัดวงจรเกมรุกของฝรั่งเศส และเปิดเกมบุกจนมีโอกาสจวนเจียนที่ใกล้เคียงต่อการได้ประตูหลายครั้ง
หนึ่งในนั้นคือลูกตีลังกายิงของ จาวาด เอล ยามิค ปราการหลังที่หากเข้าประตูไปจะไม่ใช่แค่ประตูที่พาทีมกลับมาสู่เกมอีกครั้ง แต่มีโอกาสจะเป็นประตูสุดสวยของทัวร์นาเมนต์ได้เลยทีเดียว
You Shall Not Pass! อัมราบัตไม่ยอมให้เอ็มบัปเปผ่านไปได้เด็ดขาด
ขณะที่ลูกการเข้าเสียบสกัดเอ็มบัปเปของ ซอฟยาน อัมราบัต กองกลางหัวใจสำคัญของทีมก็เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของเกมเช่นกัน มันคือภาพตัวแทนของสิงโตแอตลาสผู้ไม่มีวันยอมแพ้ต่อใครทั้งนั้น
อย่างไรก็ดี ในเกมฟุตบอลมันมีกำแพงที่มองไม่เห็นบางอย่างระหว่างชาติเล็กกับชาติมหาอำนาจ สุดท้ายความยอดเยี่ยมของเอ็มบัปเปที่แสดงให้เห็นว่าเขาก็เป็นอีกคนที่พร้อมอยู่ในช่วงเวลาสำคัญที่ตัดสินให้ทีมได้ ก็มีส่วนในการทำให้ฝรั่งเศสได้ประตูที่ 2 จาก แร็งแดล โคโล มูอานี ซึ่งเพิ่งถูกส่งลงสนาม
ฝรั่งเศสชนะและได้เข้าไปป้องกันแชมป์โลกตามความคาดหมาย แต่โมร็อกโกก็สู้จนหยดสุดท้าย แม้กระทั่งในช่วงท้ายเกมก็ยังเกือบจะไล่ยิงประตูตามคืนมาเหมือนกัน
ความใจสู้ของพวกเขาทำให้เกมนี้มันงดงาม ถึงคราบน้ำตาจะอาบใบหน้าของทั้งนักเตะหรือแฟนฟุตบอลที่เจ็บปวดกับความพ่ายแพ้ แต่ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็รู้สึกภาคภูมิใจกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ทำไปในฟุตบอลโลกหนนี้
สิงโตแอตลาสตนนี้สู้จนถึงที่สุด ไม่มีอะไรจะต้องเสียใจอีกแล้ว และสามารถเชิดหน้ากลับบ้านได้อย่างสง่างามในฐานะวีรบุรุษอย่างแน่นอน
ฮาคิม ซิเยค, ซอฟยาน อัมราบัต, โซฟิยาน บูฟาล, ยูสเซฟ เอ็น-เนเซ, อัซเซดีน ฮูนาไฮ, นูสแซร์ มาซราอุย, บูนู และทุกคนในทีม พวกเขาคือวีรบุรุษของชาติที่ไปได้ไกลกว่าชุดในตำนานเมื่อฟุตบอลโลกปี 1986 ที่เป็นชาติแรกจากแอฟริกาที่เข้าถึงรอบน็อกเอาต์ฟุตบอลโลก
และอย่างน้อยที่สุดรางวัลทีมที่ 3 ที่หลายคนอาจมองไม่เห็นค่า แต่หากพวกเขาคว้ามันมาได้ในการดวลกับโครเอเชียอีกครั้งในคืนวันเสาร์นี้ มันมีความหมายอย่างมากมายแน่นอน
ไม่มีอะไรต้องเสียใจ พวกเขาทำเต็มที่แล้ว
ในอีกด้านของโลกลูกหนัง พวกเขาจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับชาติที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มมหาอำนาจที่เกือบ 100 ปีผ่านมา ยังมีแค่ 8 ทีมที่ได้แชมป์ฟุตบอลโลก ว่าการจะก้าวมาถึงจุดที่สามารถต่อกรกับแชมป์โลกอย่างสูสีขนาดนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง
เช่นกันกับ ‘บทเรียน’ อีกมากมายที่จะกลายเป็นแบบอย่างสำหรับชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทุ่มเทให้กับระบบการพัฒนาเยาวชนของชาติ การวางระบบการเล่นของโค้ช วิธีบริหารจัดการผู้เล่นที่ร้อยรัดหัวใจทุกคนเข้าด้วยกันได้อย่างน่ามหัศจรรย์
มากไปกว่านั้นคือเรื่องราวงดงามที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกองเชียร์ที่ทรงพลังที่ทันสมัย นำการเชียร์การปรบมือแบบไวกิงส์ของทีมชาติไอซ์แลนด์มาใช้ การเป็นกองเชียร์มารยาทดีที่ช่วยเก็บขยะในสนามไม่ได้ต่างจากกองเชียร์ชาวญี่ปุ่น หรือการนำ ‘Love Potion’ พิเศษอย่างพ่อแม่และครอบครัวมาร่วมเชียร์ถึงขอบสนามที่เป็น ‘ยาใจ’ ให้นักเตะสู้ตายถวายชีวิต และเป็นภาพน่ารักที่เราได้เห็นกันทุกนัดหลังจบการแข่งขัน
เรื่องราวของโมร็อกโกในฟุตบอลโลกหนนี้แม้จะจบลงแล้ว แต่ถึงตรงนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าพวกเขาคือเรื่องราวที่ดีและงดงามที่สุดของฟุตบอลโลกครั้งนี้
ต่อให้แพ้ในเกม แต่ก็ชนะในใจผู้คนที่จะจดจำเรื่องราวนี้ตลอดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สื่อแดนผู้ดีตีข่าวเสื้อ บอลโลก 2022 ของอังกฤษถูกวางขายด้วยราคา 4,900 บาท แต่ ‘คนงาน’ ที่ผลิตในโรงงานของ ‘ไทย’ ได้ค่าแรงเพียง 43 บาทต่อชั่วโมง
- จิบเบียร์เชียร์ ฟุตบอลโลก ฝันไปเถอะ! FIFA ความดันขึ้นหลังเจ้าภาพ ‘กาตาร์’ สั่งโละจุดขายเบียร์ในสนาม
- จับตากระแส ฟุตบอลโลกปี 2022 จะคึกคักหรือไม่ หลังเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อยังไม่กลับมา ฝั่งสินค้าชะลอใช้งบโฆษณา