พอล แม็กคาร์ตนีย์ เคยเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของหนึ่งในเพลงดังที่สุดของวงสี่เต่าทองอย่าง ‘Hey Jude’ ที่อยู่ในอัลบั้ม White ไว้ว่าแท้จริงแล้วแรงบันดาลใจสำหรับเพลงนี้ไม่ได้เขียนมาเพื่อคนที่ชื่อ Jude คนไหน
คนที่อยู่ในเนื้อเพลงคือ จูลส์ (Jules) ลูกชายวัย 5 ขวบของ จอห์น เลนนอน ในขณะที่เขียนเพลง ซึ่งเขาอยากให้กำลังใจหนูน้อยในยามยากเพราะพ่อแม่แยกทางกัน
“ผมขึ้นไปบนรถแล้วจู่ๆ ก็ร้องเพลงนี้ออกมา จริงๆ มันคือ Hey Jules! แต่เขาคิดว่า Jude น่าจะเป็นชื่อที่เหมาะสมกว่า มันฟังดูคันทรีและดูเป็นตะวันตกมากกว่า นั่นทำให้แม็กคาร์ตนีย์ร่ายเนื้อเพลงออกมาดังนี้
Hey Jude, don’t make it bad.
Take a sad song and make it better.
Remember to let her into your heart,
Then you can start to make it better.
บทเพลงนี้ยังเดินทางมาถึงสนามฟุตบอลผ่านช่องทางความทรงจำที่หลากหลายของผู้คน เช่น สโมสรเบรนท์ฟอร์ดแห่งกรุงลอนดอนนำเพลงนี้มาเปิดในสนาม เนื่องจากเมื่อครั้งที่เพลงนี้ถูกเปิดทางวิทยุครั้งแรกในปี 1968 ก็โดนใจ ปีเตอร์ กิลแฮม โฆษกประจำสนาม เพราะชวนให้คิดถึงคนรักเก่าของเขาที่ชื่อ ‘จูดี’ และต่อมาก็เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมในหมู่แฟนบอลไปด้วย
รวมถึงแฟนฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ก็ร้องเพลงนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเพราะเพลงนี้นอกจากเพราะ ร้องง่าย ยังมีท่อนคอรัส ‘Nahh, na, na, nahh-na-na, nahhh’ ที่ทำให้ทุกคนต่อให้คนที่ไม่เคยได้ยินเพลงนี้มาก่อนก็ร้องตามได้อย่างง่ายดาย
อย่างไรก็ดีสำหรับแฟนฟุตบอลสมัยใหม่แล้ว นับจากนี้เป็นต้นไปคำว่า Hey Jude! จะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากความหมายถึง จูด เบลลิงแฮม กองกลางดาวรุ่งมหัศจรรย์ของทีมชาติอังกฤษ
ในวัย 19 ปี เบลลิงแฮมกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ใหม่ของโลกลูกหนังรุ่นใหม่ต่อจาก เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ ซึ่งหลังจากที่ชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือมานาน แฟนฟุตบอลทั่วโลกก็ได้ประจักษ์กับตาในเกมเปิดสนามของทีมชาติอังกฤษในศึกฟุตบอลโลก 2022
จริงอยู่ที่ระดับชั้นของคู่แข่งอย่างอิหร่านนั้นเรามองเห็นได้ตลอดทั้งเกมว่า อยู่ห่างจากทีมจากลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดของโลกอย่างอังกฤษมากพอจะพูดคำว่าคนละชั้น (หรือสองชั้น) และไม่อาจจะบอกว่านี่เป็นไม้บรรทัดที่วัดระดับฝีเท้าของเบลลิงแฮมได้อย่างแม่นยำ
แต่จากสิ่งที่เห็นด้วยสายตา และรู้สึกได้จากใจคือเด็กคนนี้เก่งจริงและเก่งจัด
ส่วนสูง 186 เซนติเมตรทำให้ไอ้หนุ่มจากเมืองสเตาร์บริดจ์ ที่เป็นผลผลิตในอะคาเดมีของเบอร์มิงแฮม ซิตี้ สโมสรดังอันเก่าแก่ทางมิดแลนด์ส เป็นกองกลางที่ได้เปรียบคู่แข่งในเรื่องของรูปร่าง ซึ่งไม่ได้มีแค่ในเรื่องของความสูง แต่มีเรื่องของมัดกล้าม ความกำยำที่ถูกเสริมแกร่งมาอย่างดี
คิดจะเบียดจะแซะก็ทำได้ลำบาก ทั้งยังมีความเร็วจัดจ้าน เทคนิคการเล่นถือว่าดี การอ่านเกม มันสมองในการเล่น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของความมั่นใจ
ไม่ใช่นักเตะอายุ 19 ปีทุกคนจะเล่นได้แบบเบลลิงแฮมในฟุตบอลโลก
ประตูขึ้นนำ 1-0 ของเขา (ซึ่งก็ทำให้แฟนบอลได้เพ้อกันว่าคล้ายกับ สตีเวน เจอร์ราร์ด ฮีโร่ในดวงใจ) เป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะเบลลิงแฮมเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมตลอดทุกนาที อยู่ในทุกที่ของสนาม เล่นมั่นใจเหมือนโตเกินโตสัก 10 ปี
สุดท้ายในสกอร์ถล่มทลาย 6-2 ที่ทีม ‘สิงโตคำราม’ เล่นได้อย่างน่าประทับใจเกินความคาดหมายไปบ้าง เพราะจากฟอร์มในช่วงที่ผ่านมาไม่คิดว่าจะเป็นสิงห์ซ่อนเล็บไว้ขนาดนี้ เจ้าหนูจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จึงโดดเด่นไม่ได้เป็นรองใคร
ไม่ว่าจะเป็น บูกาโย ซากา อีกหนึ่งคนที่โดดเด่นกับ 2 ประตูสุดสวยในเกมนี้ ที่เป็นเหมือนการประกาศว่าเขาลืมฝันร้ายจากนัดชิงยูโร 2020 เมื่อปีกลายไปหมดแล้ว หรือแม้แต่กับ แฮร์รี เคน กัปตันทีมที่แสดงให้เห็นว่าเวลานี้กำลังอยู่ในช่วงพีคของชีวิตการเล่นผ่านการเล่นทุกจังหวะที่คมกริบ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดสำหรับเบลลิงแฮม คือเรื่องของการเลือกเส้นทางชีวิตที่วางเส้นทางเอาไว้อย่างดี ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากคุณพ่อที่ช่วยเลือกเส้นทางให้ และโชคดีที่เลือกถูกด้วยการเลือกที่จะมาอยู่กับดอร์ทมุนด์ ซึ่งมีสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับนักเตะดาวรุ่งคือ ‘โอกาส’ ในการลงสนาม มากกว่าจะไปแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่อาจทำให้เส้นทางของเขาไม่ได้ออกมาเป็นอย่างทุกวันนี้
มันสะท้อนให้เห็นว่าความสำเร็จสามารถออกแบบได้ โดยเฉพาะหากมีศักยภาพในตัว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการหาที่ที่จะสามารถขัดเกลาและให้โอกาสเราปล่อยของได้
จากฟอร์มที่เห็นในเกมกับอิหร่าน เชื่อว่าเบลลิงแฮมจะยิ่งถูกจับตามองมากยิ่งขึ้นจากแฟนทั่วโลก และโมเดลชีวิตของเขา (ซึ่งก็ต่อยอดมาจากของ จาดอน ซานโช อีกที) จะเป็นต้นแบบของเด็กดาวรุ่งในอังกฤษและทั่วโลก
เพียงแต่ตอนนี้ขอให้เราจำชื่อของเด็กคนนี้ ที่จะวิ่งเล่นป่วนสนามฟุตบอลโลกครั้งนี้ให้ดีก่อน
จูด เบลลิงแฮม
Hey Jude!
Yma o Hyd เพลงของชาว Cymru
อาจเป็นเพราะ 64 ปีที่ห่างหายไป บทเพลงก่อนลงสนามของทีมชาติเวลส์ – หรือในแบบที่ความจริงแล้วพวกเขาอยากให้เรียกขานว่า Cymru ที่ออกเสียงได้ว่า ‘คัมรี’ – จึงทรงพลังอย่างรุนแรง
ก่อนเกมกับสหรัฐอเมริกา นักเตะคัมรีกอดคอร่วมร้องเพลงชาติของพวกเขาอย่างกึกก้องไปพร้อมกับกองเชียร์มังกรแดงที่ตามมาให้กำลังใจในสนามกันเต็มอัฒจันทร์ และมาในธีมสีเดียวกันไม่มีผิดแผกจนดูเป็นเหมือนกำแพงสีแดงที่น่าเกรงขาม
ทุกคนไม่ใช่แค่ร้องเพลง แต่ขับขานออกมาจากส่วนลึกที่สุดของหัวใจ
อย่างไรก็ดีเพลงที่พวกเขาร้องไม่ใช่เพลงชาติ (เพราะเวลส์เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร) เพลงที่ร้องนั้นคือเพลง ‘Yma o Hyd’ ผลงานของ ดาฟิดด์ อีวาน ที่ออกมาเมื่อปี 1983
ความหมายของ Yma o Hyd แปลว่า ‘ยังอยู่ตรงนี้’
เพลงนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นเพลงชาติอะไรหรอกในตอนแรก แต่เป็นเพลงที่เปิดในสนามสปอร์ตคลับต่างๆ ก่อนจะได้รับความนิยมพุ่งสูงทะลุใจในช่วงการรณรงค์ประกาศอิสรภาพของเวลส์ในปี 2020 ก่อนที่อีวานจะได้รับเชิญให้มาร้องเพลงนี้ในสนามในเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกนัดสำคัญ
เท่านั้นเองที่ชาวคัมรีรับเพลงนี้เข้ามาอยู่ในใจ และเป็นเพลงแทนเพลงชาติของพวกเขา
ดังกระหึ่มในสนามฟุตบอลโลกครั้งแรกในรอบ 64 ปี สมการรอคอยมาอย่างยาวนาน