×

โลกเริ่มไม่ง้อสินค้าไทย สภาพัฒน์ชี้ส่งออกไทยติดกับดักพึ่งพิงประเทศรายได้ต่ำมากเกินไป

31.05.2023
  • LOADING...
สภาพัฒน์ ส่งออกไทย

HIGHLIGHTS

  • สภาพัฒน์เผย สินค้าทุกประเภทที่ไทยส่งออกมีสัดส่วนมากขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ในขณะที่สัดส่วนนั้นลดลงในประเทศที่มีรายได้สูง
  • ในช่วงปี 2020-2022 การขยายตัวของภาคการส่งออกไทยเป็นเพียงแค่ครึ่งเดียวของค่าเฉลี่ย 109 ประเทศทั่วโลกที่ 10%
  • สภาพัฒน์แนะไทยเร่งพิจารณาพัฒนากลุ่มสินค้าเทคโนโลยีที่ทั่วโลกต้องการมากขึ้น พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร ให้ตอบโจทย์มาตรฐานสุขอนามัยสากลเพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออก

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมากเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกที่ผ่านมาของไทยนั้นทำได้ไม่ค่อยดี ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวของความต้องการบริโภคทั่วโลกเพราะสถานการณ์กดดันเศรษฐกิจ โดยล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขส่งออกของไทยวูบหนักติดลบไปถึง -7.6% ซึ่งถือเป็นตัวเลขติดลบต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 แล้ว และนับว่าผิดคาดอย่างมากเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของตลาดที่ -2.2%  

 

อีกส่วนที่เป็นปัจจัยที่จำกัดผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการส่งออก มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของประเภทสินค้าที่ไทยส่งออกนั้นเริ่มเป็นสินค้ามีความสำคัญกับโลกน้อยลง แต่ประเภทสินค้าที่มีความต้องการทั่วโลกมากขึ้นไทยกลับส่งออกได้น้อยลงเพราะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดนั้นออกไป โดยเราจะเห็นจากตารางด้านล่างได้ว่าการเติบโตของไทยที่เป็นอันดับ 18 เพิ่มขึ้นน้อยแม้เราพึ่งพาการส่งออก

 

 

 

 

สภาพัฒน์ชี้สินค้าส่งออกไทยไปไม่ถึงประเทศรายได้สูงเท่าที่ควร

จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เผยว่าในปี 2020-2022 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออก 109 ประเทศอยู่ที่ 10% ในขนาดที่ไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าเพียงครึ่งของค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 5%

 

 

ข้อมูลค่าเฉลี่ยของการขยายตัวมูลค่าการส่งออกจาก 109 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2020-2022

 

 

รายงานยังชี้เพิ่มเติมว่าสินค้าของประเทศไทยในทุกประเภทนั้นมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศรายได้สูงค่อนข้างน้อย แต่มีสัดส่วนการส่งออกไปประเทศรายได้ต่ำค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับประเทศส่งออกรายอื่นๆ ทำให้ผลกระทบที่ตามมาเป็นดังต่อไปนี้

 

  • สินค้าไทยนั้นมีความเชื่อมโยงกับประเทศรายได้สูงน้อยกว่าประเทศส่งออกอื่นๆ แต่กลับเชื่อมโยงกับประเทศรายได้ต่ำในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งส่งออกรายอื่นๆ
  • เป็นอุปสรรคเรื่องการดึงดูดการเป็นฐานการผลิตสำหรับประเทศรายได้สูง
  • ศักยภาพของคุณภาพและมาตรฐานสินค้าไทยในการเจาะตลาดรายได้สูง เพราะสินค้าไม่ตรงตามความต้องการของผู้นำเข้า
  • อำนาจต่อรองเรื่องของการเจรจาหาคู่ค้าในกลุ่มตลาดรายได้สูงมีค่อนข้างจำกัด รวมถึงการหาแต้มต่อทางการค้ากับคู่ค้าที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูง

 

ด้วยความที่ประเทศไทยมีอัตราการส่งออกไปให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำสูง นั่นหมายความว่ารายได้ของประเทศก็จะต่ำตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยมักจะขยายตัวได้น้อยกว่าประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ และมักจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าผู้ส่งออกรายอื่นๆ ด้วย

 

ส่วนประเภทของสินค้าที่ความต้องการทั่วโลกลดลง แต่สัดส่วนการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง ในอีกฟากหนึ่งคือกลุ่มสินค้าที่ความต้องการทั่วโลกมากขึ้น แต่ส่วนแบ่งตลาดของไทยกลับมีสัดส่วนลดลง เช่น สินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักและผลไม้กระป๋อง 

 

แนะไทยควรเน้นส่งออกสินค้าจำเป็นและสินค้าแห่งโลกอนาคต

ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้า 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ สินค้าที่มีความแปรปรวนต่อการขยายตัวของการส่งออกที่ต่ำ และสินค้าที่มีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการของโลกมากขึ้น

 

สินค้าที่มีความแปรปรวนต่อการขยายตัวของการส่งออกที่ต่ำ ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าอาหาร และสิ่งของในชีวิตประจำวันเนื่องจากเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งจะมีความผันผวนในด้านความต้องการที่ค่อนข้างน้อยแม้จะอยู่ในสภาวะวิกฤต การเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้าประเภทนี้จะช่วยให้ภาพรวมการส่งออกของไทยมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

 

ในด้านของสินค้าที่มีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการของโลกมากขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า แผงวงจร กลุ่มของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Chipset) และเคมีภัณฑ์ชั้นสูง โดยสินค้ากลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์จากพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นส่วนผลักดันให้ความต้องการสินค้าเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งถ้าหากไทยสามารถเพิ่มการส่งออกในส่วนนี้ได้ ความสามารถในการขยายตัวโดยรวมของภาคส่งออกสินค้าไทยจะไปอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ศักยภาพในการผลิตสินค้ากลุ่มนี้ยังมีค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับคู่แข่งระดับโลก

 

ในภาพตลาดส่งออกไทยโดยรวม สศช. ทิ้งท้ายว่าเราควรพยายามพัฒนาหาแนวทางทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการส่งออกไทยดังนี้

 

ฝั่งอุปสงค์ (Demand Side)

  • มองหาโอกาสในการขยายตลาดใหม่
  • หาข้อได้เปรียบทางการค้าจากกรอบข้อตกลงทางการค้า
  • ศึกษามาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีของตลาดคู่ค้า เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความสะอาด รวมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญา
  • มุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความเข้าใจต่อสินค้าไทยต่อตลาดต่างประเทศ

 

ฝั่งอุปทาน (Supply Side)

  • เพิ่มระดับการมีส่วนร่วมของภาคการผลิตไทยในห่วงโซ่มูลค่าของโลก (Global Value Chain) ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือสร้างแรงจูงใจให้ผู้ลงทุนต่างประเทศถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทย
  • ขับเคลื่อนระดับของภาคการผลิตไทยให้เข้าใกล้การเป็นกลุ่มประเทศต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าไทยให้ตอบโจทย์ผู้นำเข้ารายได้สูง เพื่อลดการตีกลับของสินค้าจากคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐานสากล
  • พัฒนาผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ให้สามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ
  • ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากภาคบริการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและธุรกิจ (Servicification) เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจในห่วงโซ่มูลค่าโลก

 

โดยในระยะครึ่งปีหลังนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์มองว่าแม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ยังมีปัจจัยอย่างเพดานหนี้สหรัฐอเมริกาที่ยังเป็นความน่ากังวลของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่การเปิดประเทศและสถานการณ์ภัยแล้งของจีนก็ยังพอเป็นตัวหนุนให้การส่งออกไทยได้บ้างในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เพื่อเร่งวางแผนส่งเสริมในอีกครึ่งปีที่เหลือ พร้อมทั้งทำงานร่วมกับเอกชนเพื่อให้การส่งออกไทยค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น

 

อ้างอิง:

  • สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ: รายงานการวิเคราะห์โครงสร้างการส่งออกของไทยภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก 
  • กระทรวงพาณิชย์ 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X