อุณหภูมิเฉลี่ยโลกในรอบ 12 เดือนล่าสุดคือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 ถึงเดือนมกราคม 2024 พุ่งสูงไปถึง 1.52 องศาเซลเซียส ซึ่งทะลุตัวเลขเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีสไปเรียบร้อย
นอกจากนี้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกในเดือนมกราคม 2024 บันทึกโดยระบบ ERA5 ของโครงการโคเปอร์นิคัสจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางภาคพื้นยุโรป หรือ ECMWF ก็อยู่ที่ 13.14 องศาเซลเซียส ส่งผลให้กลายเป็นเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดในรอบ 30 ปี คือสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1991-2020 อยู่ 0.7 องศาเซลเซียส และทำลายสถิติเดิมคือเดือนมกราคม 2020 ไปถึง 0.12 องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์ระบุสาเหตุหลักไปที่ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ค่อนข้างรุนแรงในปี 2023 ปรากฏการณ์นี้ทำให้ความร้อนที่สะสมในมหาสมุทรถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศและกระจายไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสถาบันวิจัยนานาชาติมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้พยากรณ์ว่า สภาวะเอลนีโญที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้จะสิ้นสุดลงตั้งแต่ช่วงหลังเดือนพฤษภาคม 2024 เป็นต้นไป โดยโลกจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง จากนั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่สภาวะลานีญาในช่วงปลายปี ซึ่งจากข้อสังเกตที่เคยเป็นมา ผลตามหลังของสภาวะเอลนีโญจะเกิดต่อไปอีกระยะก่อนสิ้นสุดลงอย่างแท้จริง
สภาพของโลกที่เป็นอยู่เวลานี้ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีสไปแล้วนั้น ยังไม่ถือว่าถึงจุดล้มเหลวของข้อตกลงดังกล่าวเสียทีเดียว เพราะตัวชี้วัดของข้อตกลงนี้คือค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกในคาบ 20 ปี
แน่นอนว่าผลร้ายจากสภาวะอากาศสุดขั้ว เช่น พายุหมุนเขตร้อนระดับเฮอริเคนที่สูงถึงระดับ 6 คลื่นความร้อน ภัยแล้ง ภัยหนาว รวมทั้งการเกิดน้ำท่วมจากฝนที่ตกหนักแบบฟ้ารั่ว จะเกิดตามมาในอัตราที่ถี่ขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังตัว
เพื่อให้สามารถเข้าใจผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา NASA ได้ปล่อยดาวเทียม PACE ขึ้นสู่วงโคจร ชื่อของดาวเทียมดวงนี้ย่อมาจากคำว่า Plankton, Aerosol, Cloud, Ocean Ecosystem ทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่จุลชีพในทะเล ละอองฝุ่นในอากาศ ลักษณะของเมฆ ไปจนถึงระบบนิเวศของทุกมหาสมุทร เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับเพิ่มความแม่นยำให้กับระบบพยากรณ์ความรุนแรงของเฮอริเคน รวมทั้งระบบเฝ้าระวังภัยทางภูมิอากาศที่เป็นผลจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น
การบรรเทาปัญหาจากสภาวะโลกร้อนนั้นเราต้องการความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกผู้คนบนโลก วิธีเดียวที่ทางกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันคือการที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ภาพ: David McNew / Getty Images
อ้างอิง: