×

หุ้นทั่วโลกถูกเทขายช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าหายวับกว่า 18 ล้านล้านดอลลาร์ จับตา 5 ปัจจัยในฤดูประกาศงบที่กำลังจะมาถึง

12.07.2022
  • LOADING...
หุ้นทั่วโลก

สัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เริ่มปรากฏชัดขึ้น เงินเฟ้อที่พุ่งสูงต่อเนื่อง วิกฤตพลังงานในยุโรป รวมถึงค่าเงินยุโรปที่อ่อนค่าลงมาจนมีมูลค่าเกือบจะเท่ากับดอลลาร์ เมื่อรวมเข้ากับแนวโน้มกำไรของบริษัททั่วโลกที่มีแนวโน้มจะแย่ลง อาจทำให้แรงเทขายในตลาดหุ้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก 

 

ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าของหุ้นทั่วโลกหายไปถึง 18 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 63 ล้านล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกต่างกำลังจับตามองแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ว่าจะคงตัวอยู่ได้ หรือจะถูกปรับลดประมาณการลงตามดีมานด์ที่อ่อนตัว 

 

ท่ามกลางมุมมองที่แตกต่างกัน นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่า บริษัทส่วนมากจะสามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ แต่ด้วยผลลัพธ์ที่ผิดไปจากที่คาดไว้พอสมควรในครึ่งปีแรก อาจทำให้นักวิเคราะห์เริ่มปรับมุมมองลงได้ โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น สวนทางกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 

 

Anneka Treon กรรมการผู้จัดการ Van Lanschot Kempen กล่าวว่า ฤดูกาลประกาศผลประกอบการในรอบนี้จะเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะในแง่ของความสามารถในการทำกำไรและความเห็นของฝ่ายบริหารเกี่ยวกับแนวโน้มของดีมานด์

 

หุ้นกลุ่มพลังงานถูกคาดว่าจะป็นกลุ่มที่โดดเด่นที่สุด โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันและเหมืองต่างๆ ซึ่งได้ประโยชน์จากราคาที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางสงครามในยูเครน โดยประมาณการกำไรของบริษัทอย่าง Exxon Mobil Corp. และ Shell Plc จะยังคงโดดเด่น แม้ราคาน้ำมันจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ราว 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 

แต่สำหรับหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ภาพของกำไรน่าจะลดลงจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ขณะที่ดัชนีของ Citigroup สะท้อนว่า ยังมีการปรับลดประมาณการลงมากกว่าที่จะปรับประมาณการขึ้น ทั้งนี้ Bloomberg ได้ระบุถึง 5 ปัจจัยสำคัญที่ตลาดกำลังจับตามองสำหรับฤดูกาลประกาศผลประกอบการในครั้งนี้ 

 

1. ความเสียหายจากภาวะเงินเฟ้อ

เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับกำลังซื้อ ดูเหมือนว่าบริษัทที่ขายสินค้าหรูจะเป็นผู้อยู่รอด ด้วยดีมานด์ที่ยังแข็งแกร่ง โดย Morgan Stanley ระบุว่า Kering SA เจ้าของแบรนด์หรูอย่าง Gucci ปรับขึ้นราคาสินค้า 7% เมื่อเดือนที่ผ่านมา เทียบกับราคาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แต่หลังจากนี้ต้องติดตามว่าผู้บริหารจะมีมุมมองอย่างไรต่อแนวโน้มของดีมานด์

 

ส่วนผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายจากความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย กระทบความสามารถในการคงระดับราคาไว้ และอาจจะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร โดยผู้บริโภคมีแนวโน้มจะลดต้นทุน โดยเลือกซื้อสินค้าจำเป็นที่ราคาถูกลง บริษัทที่ขายสินค้าทั่วไปดูเหมือนจะถูกกระทบมากที่สุด 

 

ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารที่ปกติแล้วจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นก็อาจจะลำบาก โดย Marija Veitmane นักกลยุทธ์อาวุโสของ State Street Global Markets กล่าวว่า ความชันของผลตอบแทน (Yield Curve) ที่แบนราบมากขึ้นอาจส่งผลลบต่อดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และทำให้อัตรากำไรต่ำลง แต่นักลงทุนบางส่วน เช่น Amundi และ BlackRock ก็มองว่า อาจมีข้อยกเว้นสำหรับธนาคารในยุโรปที่มูลค่าค่อนข้างน่าสนใจ

 

2. ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ราคาหุ้นที่ลดลงพร้อมกับผลตอบแทนพันธบัตรและราคาน้ำมันที่หักหัวลง สะท้อนถึงภาวะที่นักลงทุนหันมาถือเงินสดและพักเงินไว้ในพันธบัตร โดยเงินลงทุนเกือบ 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ไหลเข้าสู่ตลาดเงินในช่วงสัปดาห์แรกของต้นทุนเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่กองทุนทั่วโลกมีตัวเลขไถ่ถอนถึง 4.6 พันล้านดอลลาร์ 

 

Ken Langone ผู้บริหารของ Home Depot กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ Thomas Hayes ประธานของ Great Hill Capital กล่าวว่า ไตรมาสนี้มีโอกาสที่จะเห็นกำไรของบริษัทต่างๆ ย่ำแย่ลง ขณะที่บริษัทต่างๆ น่าจะต้องปรับลดคาดการณ์ลง

 

3. การชะลอตัวของจีน

ธุรกิจในจีนที่น่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นคือ วัสดุและพลังงาน แต่ส่วนที่เหลือน่าจะถูกกระทบจากการระบาดของโควิด ทั้งนี้ ประมาณการของธุรกิจในจีนถูกปรับลงในช่วง 5 เดือนแรก ทำให้การเติบโตของกำไรในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 22% ลดลงจากมุมมองเดิมที่ 31% อิงข้อมูลจาก Haitong Securities 

 

กลุ่มวัสดุก่อสร้างและเหล็กน่าจะอ่อนตัวลงตามยอดขายภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง รวมถึงความล่าช้าจากการก่อสร้าง ขณะที่ธุรกิจอุปโภคบริโภคก็น่าจะถูกกระทบจากโควิดเช่นกัน ซึ่งการล็อกดาวน์ในจีนยังกระทบต่อบริษัทอย่าง Starbucks หรือ Nike เช่นกัน 

 

4. วิกฤตพลังงานในยุโรป

กำไรของบริษัทพลังงานใน S&P500 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในไตรมาส 2 นี้ อิงข้อมูลจาก Bloomberg Intelligence แม้ว่าราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลงอีกครั้ง แต่ในส่วนของยุโรปซึ่งเผชิญกับวิกฤตพลังงานและการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในเยอรมนี กังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนไฟฟ้าในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง 

 

ในขณะที่ธุรกิจสาธารณูปโภคก็เหมือนจะแย่ลง หลังจากรัฐบาลเริ่มเข้ามาแทรกแซงราคา อย่างเช่น ในฝรั่งเศสและเยอรมนี

 

5. การอ่อนค่าของเงินยูโร

ค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าอาจกระทบต่อบริษัทสาธารณูปโภคและท่องเที่ยว และในส่วนของผู้ส่งออก เช่น ยานยนต์ สินค้าอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ ฯลฯ จะได้ประโยชน์ อิงข้อมูลจาก Joachim Klement หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของ Liberum Capital 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ส่งออกในเยอรมนี ที่แม้จะได้แรงหนุนจากค่าเงินอ่อนค่า แต่อาจถูกชดเชยด้วยปัญหาห่วงโซ่อุปทานในจีนและเศรษฐกิจมหภาคที่แย่ลง ในขณะที่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ถึง 9% ต่อค่าเงินอื่นๆ อาจกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Microsoft ที่อาจมีอัตรากำไรลดลง 

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X