×

ตลาดข้าวทั่วโลกกำลังวิกฤต ท่ามกลางภาวะขาดแคลน ‘เทียม’ หลังจากอินเดียสั่งห้ามส่งออก

08.11.2023
  • LOADING...
ข้าว

สถานีโทรทัศน์ CNBC เปิดเผยรายงานพิเศษซึ่งรวบรวมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับแวดวง ‘ข้าว’ โดยระบุว่าเวลานี้พืชที่เป็นอาหารหลักสำคัญสำหรับประชากรมากครึ่งหนึ่งของโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนที่สำคัญที่สุดในรอบ 20 ปี

 

รายงานระบุว่า มาตรการล่าสุดที่ห้ามส่งออกข้าวของรัฐบาลอินเดียกำลังส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวทั่วโลก และคุกคามความมั่นคงด้านอาหารในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถซื้อหรือเข้าถึงข้าวได้

 

อย่างไรก็ตาม Peter Bachmann รองประธานฝ่ายนโยบายและกิจการภาครัฐ มองว่าปัญหาการขาดแคลนเพียงอย่างเดียวในตอนนี้ก็คือข้าวธรรมดาสีขาว เมล็ดยาว คุณภาพต่ำของอินเดีย ซึ่งจัดส่งไปยังหลายประเทศทั่วแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลอินเดียมีคำสั่งห้ามส่งออก ประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้รับผลกระทบแรกสุดและหนักสุดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

เรียกได้ว่าผลผลิตข้าวในเวลานี้ในหลายประเทศที่ผลิตข้าวไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และการขาดแคลนข้าวในตลาดเป็นภาวะขาดแคลน ‘เทียม’

 

ทั้งนี้ อินเดียเริ่มต้นห้ามการส่งออกในเดือนกันยายน 2022 โดยจำกัดอยู่ในกลุ่มข้าวหักควบคู่กับการกำหนดภาษี 20% สำหรับการส่งออกข้าวบางพันธุ์ ก่อนที่ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2023 อินเดียจะสั่งห้ามส่งออกข้าวขาวเมล็ดยาวธรรมดา

 

Will Kletter รองประธานฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ของ ClimateAi ชี้ว่า อินเดียเป็นประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นมาตรการของอินเดียจึงเป็นความต้องการที่เข้าใจได้เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารหลักอย่างข้าวภายในประเทศจะมีอยู่อย่างเหมาะสม

 

กระนั้นการกระทำดังกล่าวก็ต้องแลกมากับภาวะกดดันด้านซัพพลายในตลาดข้าวโลก โดยการส่งออกข้าวของอินเดียคิดเป็น 40% ของตลาด ดังนั้นการห้ามส่งออกจึงส่งผลต่อราคาโลกอย่างรวดเร็ว

 

สถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ หรือ International Food Policy Research Institute ระบุว่า ราคาข้าวในขณะนี้ปรับตัวพุ่งขึ้นกว่า 15-20% แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามของรัฐบาลอินเดียในการบริหารจัดการข้าวให้มีเพียงพอในตลาดภายในประเทศ ดังนั้นราคาข้าวในอินเดียจะลดลงสำหรับผู้บริโภคชาวอินเดีย

 

ขณะเดียวกัน แม้จะเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบสำหรับพลังงานและปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับสินค้าเกษตรอื่นๆ แต่ราคาข้าวในตลาดยังคงค่อนข้างคงที่ เนื่องจากชาวนาในหลายประเทศยังสามารถผลิตข้าวได้ อีกทั้งที่ผ่านมาชาวนาส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับภาวะผันผวนอยู่แล้ว เช่น ชาวนาในสหรัฐฯ

 

Michael Klein รองประธานฝ่ายการสื่อสารและการส่งเสริมภายในประเทศของ USA Rice กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวนาในสหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันกับรัฐบาลต่างประเทศได้ ทำให้ข้าวที่ผลิตได้ไม่สามารถแข่งขันกับข้าวของอินเดีย

 

รายงานระบุว่า ขณะที่ฟาร์มข้าวของสหรัฐฯ พยายามดิ้นรนเพื่อรักษาผลกำไรเนื่องจากราคาข้าวโลกไม่ตรงกับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น สภาคองเกรสได้อนุมัติเงินทุนเสริมจำนวน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระนั้นโครงการเหล่านี้มีไว้เพียงเพื่อช่วยพยุงเกษตรกรเหล่านี้ไม่ให้ล้มลง เพื่อเลี่ยงหายนะครั้งใหญ่เท่านั้น ก่อนเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ หามาตรการจัดการที่แก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหมายรวมถึงการบริหารจัดการน้ำ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม-น้ำแล้งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X