ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลกกำลังลดลงอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารกลางหลายประเทศได้เข้าแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนสกุลเงินของตน ท่ามกลางการแข็งค่าของดอลลาร์
ท่ามกลางประเทศที่มีทุนสำรองฯ มากที่สุด 15 อันดับแรกของโลก จีนนับเป็นประเทศที่มีทุนสำรองฯ มากที่สุดในโลก อยู่ที่ 3,193,579 ล้านดอลลาร์ และเป็นประเทศที่มีมูลค่าทุนสำรองฯ ลดลงมากที่สุดถึง 204,662 ล้านดอลลาร์ ในเดือนกันยายน จากต้นปีที่ 3,398,241 ล้านดอลลาร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
โดย Wang Chunying รองผู้อำนวยการและโฆษกสำนักแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแห่งรัฐ ระบุว่า “การลดลงของทุนสำรองฯ จีนมาจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลก ดัชนีดอลลาร์สหรัฐที่สูงขึ้น และราคาของสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว” พร้อมยืนยันว่า “กระแสเงินทุนข้ามพรมแดนโดยทั่วไปจะทรงตัวในเดือนกันยายน และอุปสงค์และอุปทานในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในประเทศยังคงสมดุลโดยทั่วไป”
ขณะที่เงินสำรองฯ ของประเทศไทยลดลง 50,982 ล้านดอลลาร์ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ 228,174 ล้านดอลลาร์ แข็งแกร่งเป็นอันดับที่ 15 ของโลก โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังยืนยันว่า สัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยทรงตัวอยู่ที่ 3.0 เท่า ในไตรมาส 2 ของปีนี้ เพียงพอต่อการรองรับหนี้ต่างประเทศ
สำหรับสหรัฐอเมริกาที่มีทุนสำรองฯ ลดลงนับจากต้นปี เป็นผลมาจากมูลค่าสินทรัพย์ในสกุลเงินต่างประเทศอย่างเช่นยูโรและเยนลดลง รวมถึงมูลค่าทองคำที่ถือไว้ลดลงนับตั้งแต่ต้นปีด้วย
ในทางกลับกัน ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นจึงส่งผลให้เงินไหลเข้าประเทศมากขึ้น ทุนสำรองจึงเพิ่มขึ้นด้วย
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ