×

โลกมองไทยอย่างไร หลังก้าวไกลประกาศชัยชนะเลือกตั้ง จับมือตั้งรัฐบาลร่วมเพื่อไทย

15.05.2023
  • LOADING...

ไม่ใช่แค่เพียงประชาชนคนไทยที่ตื่นเต้นและตื่นตัวต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (14 พฤษภาคม) แต่คนทั่วโลกก็ได้จับตาการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน เห็นได้จากสื่อต่างประเทศทั้งหัวเล็กและหัวใหญ่ที่เกาะติดรายงานผลการเลือกตั้งแบบนาทีต่อนาทีตลอดช่วงคืนที่ผ่านมา ลากยาวมาถึงเช้าวันนี้ที่ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการออกมาชัดเจนแล้วว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยคว้าคะแนนนำโด่งเหนือพรรครัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก่อการรัฐประหารในปี 2014 และกุมอำนาจในไทยมายาวนานเกือบทศวรรษ 

 

สื่อหลายสำนักพาดหัวไปในทิศทางเดียวกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ‘พรรคฝ่ายค้าน’ อย่างก้าวไกลและเพื่อไทยสามารถเอาชนะ ‘พรรคทหาร’ อย่างรวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐ รวมถึงบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ไปได้อย่างถล่มทลาย สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ปฏิเสธการนำประเทศของผู้นำทหารที่กินเวลามาถึง 9 ปีเต็ม โดยเฉพาะคะแนนเสียงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ และนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ของภูมิทัศน์การเมืองไทย

 

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลังจากนี้คือการจับมือจัดตั้งรัฐบาลของพรรคต่างๆ รวมถึงตัวแปรสำคัญที่ยังตัดทิ้งไม่ได้คือสมาชิกวุฒิสภา 250 ที่นั่งที่มีสิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ยังคลุมเครือว่าบทสรุปในท้ายที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร

 

THE STANDARD รวบรวมมุมมองของสื่อและนักวิเคราะห์จากต่างชาติมาให้ได้รับชมกันว่าพวกเขามองการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้กันอย่างไร และคิดว่าอนาคตนับจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ในวันที่หลายคนมองว่าการเมืองไทย ‘ไม่เหมือนเดิม’

 


 

สื่อต่างชาติหลั่งไหลทำข่าวเลือกตั้งไทย ชี้ประชาชนพอใจที่ได้ออกมาแสดงสิทธิ

 

แม้แสงแดดเมื่อวานนี้จะร้อนระอุสักแค่ไหน แต่ประชาชนก็ได้ทยอยออกมาใช้สิทธิกันอย่างต่อเนื่องในหลายคูหาทั่วประเทศ ขณะบรรยากาศการเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางบวก กล่าวคือแม้จะมีคนมาเป็นจำนวนมาก แต่หลายคูหาก็สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและไม่ค่อยมีจุดติดขัด

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ามาพูดคุยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวรู้สึกดีใจที่เสียงของพวกเขามีความหมาย และสิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือเรื่องของเศรษฐกิจและปากท้อง 

 

Bloomberg ได้รายงานสีสันการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยว่า พวกเขาลองสุ่มถามประชาชนบางคนว่าเลือกใครหรือพรรคใดไป โดยมีชายอายุ 23 ปีคนหนึ่งเลี่ยงที่จะตอบคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยวาจา แต่บอกให้ผู้สื่อข่าวลองมองดูวิธีการเดินของเขาที่เป็น ‘การก้าวเท้ายาวๆ’ หรือสื่อถึงพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงไปมากที่สุดในการเลือกตั้งวานนี้

 

ขณะเดียวกัน แม้กฎหมายจะห้ามการใส่เสื้อผ้าที่มีโลโก้พรรคหรือหมายเลขของผู้เข้าสมัครไปในคูหา แต่สำนักข่าวต่างประเทศแสดงความคิดเห็นว่า ‘Thai voters get creative’ หรือผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงชาวไทยมีความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำไปกว่านั้น โดยมีประชาชนหลายคนใส่เสื้อผ้าเป็นสีของพรรคที่ตนเองชื่นชอบ พร้อมถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียจนเป็นกระแสไวรัลตลอดทั้งวัน โดยสื่อต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่า คนที่โพสต์ภาพลงโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่จะใส่เสื้อสีส้ม เนื่องจากฐานเสียงผู้ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนุกกับการเล่นกับเทคโนโลยี

 

การเมืองไทยผูกพัน ‘รัฐประหาร’

 

นักวิเคราะห์มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของความพยายามกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงของไทย และอาจนำมาซึ่งจุดจบของรัฐบาลที่มาจากค่ายทหารซึ่งปกครองไทยมานานเกือบ 10 ปี โดยเมื่อวานนี้ก่อนที่ผลการนับคะแนนจะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง สื่อต่างประเทศหลายสำนักได้รายงานตรงกันว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในปีนี้มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนฝ่ายค้านกันอย่างท่วมท้น แต่ถึงเช่นนั้น การที่จะรู้ว่าใครที่จะได้เป็นผู้นำประเทศคนใหม่ก็ยังมีตัวแปรสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ส.ว. 250 เสียงที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเลือกผู้นำประเทศตามเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ของประชาชนหรือไม่

 

สื่อหลายสำนักได้อธิบายภาพของการเมืองไทยว่าเป็นชาติที่มีรัฐประหารเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างเช่นสำนักข่าว Bloomberg ที่ปูพื้นความรู้ให้ผู้อ่านได้รับทราบถึงประวัติการรัฐประหารในไทยอย่างคร่าวๆ พร้อมระบุว่า “คุณไม่สามารถพูดถึงการเมืองไทยโดยไม่พูดถึงการรัฐประหารโดยกองทัพได้” และเล่าถึงเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2006 และ 2014 ที่มีเป้าหมายยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากตระกูลชินวัตร และตัว พล.อ. ประยุทธ์ ก็เป็นผู้ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปี 2011 อย่างถล่มทลายในตอนนั้น

 

การเลือกตั้งครั้งแรกที่มีการพูดถึง ม.112 อย่างเปิดเผย

 

หนึ่งในประเด็นที่ต่างชาติจับตาสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้คือ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของไทยที่มีการพูดถึงการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 อย่างเปิดเผย ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคมไทยที่เกิดขึ้น 

 

ต่างชาติมองว่าพรรคที่มีนโยบายโดดเด่นเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 คือพรรคก้าวไกล ซึ่งมีนักการเมืองสังกัดพรรคบางคนเคยถูกดำเนินคดีจากกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว โดยพรรคก้าวไกลชัดเจนว่าจะเสนอให้มีการปรับแก้มาตรา 112 แต่มิใช่การยกเลิก ส่วนเพื่อไทยกล่าวว่ากรณีดังกล่าวควรมีการหารือในรัฐสภา ขณะที่พรรคอนุรักษนิยมส่วนใหญ่แสดงการคัดค้านอย่างหนัก

 

ตามต่อการจัดตั้งรัฐบาล

 

เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แถลงข่าวแล้วว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล 5 พรรค ได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ พร้อมกำลังประสานพรรคเป็นธรรมเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก 309 เสียง และขอเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน

 

แต่ก่อนหน้าที่พิธาจะประกาศการตัดสินใจดังกล่าว สื่อหลายสำนักได้รายงานข่าวเกาะติดการจัดตั้งรัฐบาลไทยกันอย่างใกล้ชิด พร้อมกับคำถามตัวโตๆ ที่ว่า ในที่สุดแล้วพรรคที่ได้คะแนนนำจะจับมือกับใครบ้าง โดย เกรซ ลิม (Grace Lim) นักวิเคราะห์จาก Moody’s Investors Service แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลใหม่ของไทยจะประกอบไปด้วยพรรคต่างๆ ที่มีความหลากหลายสูงมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ทำให้การตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆ ล่าช้า และยังไม่ชัดเจนว่าจะมีนโยบายไหนที่จะถูกนำไปใช้บ้าง เนื่องจากต้องรอให้ทุกฝ่ายตกลงกันให้เรียบร้อย ขณะที่ฝ่ายของนักลงทุนหวังว่าหลายนโยบายเศรษฐกิจหลักของไทยที่ดำเนินอยู่แล้วจะดำเนินต่อเนื่องไปในอนาคต เช่น การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 

 

ด้านโจฮันนา ชัว (Johanna Chua) นักวิเคราะห์จาก Citi ระบุว่า หากการจัดตั้งรัฐบาล (รวมการโหวตของ ส.ว. แล้ว) ส่งผลให้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่สนับสนุนแนวคิดแบบเสรีนิยม ก็จะเป็นผลดีต่อตลาดการเงินในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากการดำเนินงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะช่วยให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

‘สังคมผู้สูงอายุ’ ความท้าทายของรัฐบาลใหม่

 

นักวิเคราะห์มองว่า สิ่งสำคัญสำหรับรัฐบาลชุดต่อไปคือการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันและผลิตภาพของไทย เนื่องจากไทยมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในเร็วๆ นี้ 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะกลายสภาพเป็นสังคมผู้สูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยสัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะอยู่ที่ 20% ภายในปี 2029 ซึ่งเร็วกว่าการประมาณการครั้งก่อนหน้านี้

 

ขณะเดียวกันอัตราการเกิดในประเทศไทยก็ปรับตัวลง 3 ปีซ้อน ขณะที่แนวโน้มการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์มีแนวโน้มต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก เพราะหวั่นเกรงเรื่องของความไม่แน่นอนทั้งทางสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2022 ระบุว่า ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 9.6 ล้านคน จากประชากรไทยทั้งหมด 69.9 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 14% 

 

ฉะนั้นความท้าทายประการหนึ่งคือการแก้ปัญหาผู้สูงอายุ และหาวิธีเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพราะในที่สุดแล้วปริมาณแรงงานที่ลดน้อยลงจะไม่สามารถรองรับจำนวนผู้เกษียณอายุในประเทศได้ รวมถึงความท้าทายในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ประเทศไทยส่งออกรถยนต์ 50% ของยอดที่ผลิตได้ แต่กลับกลายเป็นว่าไทยยังไม่มีกฎหมายที่อนุญาตให้มีการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับ ขณะประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์มีการอนุญาตนำหน้าไปก่อนแล้ว

 

ขณะเดียวกันกลุ่มนักลงทุนก็ได้จับตาประเด็น ‘ค่าแรงไทย’ ด้วย เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ที่ 600 บาทภายในปี 2027 รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วนด้วยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุเกิน 16 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ส่วนพรรคก้าวไกลนั้นเสนอนโยบายที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้มาอยู่ที่ 450 บาท

 

นักวิเคราะห์มองว่า นโยบายที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวไทยนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับงบการเงินปัจจุบันซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนปีนี้ เนื่องจากการดำเนินการต่างๆ จะเกิดขึ้นในปีงบฯ ใหม่ โดยคาดว่านักลงทุนจะได้เห็นภาพที่ชัดขึ้นเกี่ยวกับอิทธิพลที่นโยบายดังกล่าวมีผลกระทบต่อสภาพการคลังของไทยในระยะกลาง ก็ต่อเมื่อรัฐบาลใหม่ดำเนินนโยบายนั้นๆ อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่บรรดาผู้ประกอบการในไทยบางกลุ่มกังวลว่า การปรับขึ้นค่าแรงจะทำให้ไทยสูญเสียศักยภาพทางการแข่งขันในด้านแรงงานไป โดยเฉพาะกับประเทศใกล้เคียงอย่างเวียดนามที่มีค่าแรงต่ำกว่า

 

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากนี้

 

สำนักข่าว CNBC ได้ติดต่อสัมภาษณ์ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อคาดการณ์อนาคตว่า ในวันที่ขั้วการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

 

ศ.ดร.ฐิตินันท์ แสดงความคิดเห็นว่า สังคมอาจเกิดภาพของความไม่สงบได้ หากในท้ายที่สุดแล้วมีการล้มล้างหรือบิดเบือนผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการอย่างที่เราได้เห็นกันไปเมื่อช่วงดึกที่ผ่านมา เพราะผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดถือเป็นแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

 

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทยวนเวียนอยู่กับการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มผู้ที่สนับสนุนตระกูลชินวัตรและผู้ที่ไม่นิยมชมชอบ แต่ผลการเลือกตั้งวานนี้ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้ชนะสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ‘คนไทยส่วนใหญ่อยากเห็นการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงประเทศ’

 

ศ.ดร.ฐิตินันท์ มองว่า พรรคก้าวไกลมีแนวคิดที่แตกต่างจากพรรคของตระกูลชินวัตรอย่างสิ้นเชิง ก้าวไกลไม่เน้นนโยบายประชานิยม และประกาศชัดเจนว่าทางพรรคมีแนวคิดปฏิรูปสถาบันหลักๆ ของไทยให้เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตุลาการ หรือสถาบันฯ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ในสังคมไทยที่เกิดขึ้นวนเวียนตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

 

ศ.ดร.ฐิตินันท์ ทิ้งท้ายว่า ส่วนตัวอาจารย์คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกลจะจัดการนโยบายเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าและพึ่งพาตลาดทุนมากขึ้น (Market-based) ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ การต่อต้านการผูกขาด และมีการแข่งขันกันมากขึ้น 

 

ภาพ: Jack Taylor / AFP และ Manan Vatsyayana / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X