×

นักวิเคราะห์ฟันธงกรณี ‘สหรัฐฯ’ ผนึก 5 ประเทศ ระบายน้ำมันสำรองกดดันราคาวูบแค่ช่วงสั้น แนะจับตาประชุม OPEC 2 ธันวาคมนี้

24.11.2021
  • LOADING...
ราคาน้ำมัน

สงครามน้ำมันระหว่างฝั่งผู้บริโภครายใหญ่ของโลกและผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกปะทุขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทะยานขึ้นไม่หยุด จนเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกา ในฐานะหนึ่งในผู้บริโภครายใหญ่ของโลก เรียกร้องให้ OPEC เพิ่มกำลังการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุด โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจระบายน้ำมันดิบสำรองจากคลังทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ในปริมาณทั้งสิ้น 50 ล้านบาร์เรล พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากอีก 5 ประเทศ คือ จีน, อินเดีย, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก ให้ช่วยระบายน้ำมันดิบในคลังยุทธศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมัน และบรรเทาบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันแพง

 

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า การระบายน้ำมันดิบ SPR สามารถคลายความร้อนแรงของราคาน้ำมันในตลาดโลกในระยะสั้นเท่านั้น สะท้อนจากราคาน้ำมันดิบที่รีบาวด์ขึ้นหลังจากปรับลดลงในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ยังต้องจับตาดูผลประชุม OPEC ในต้นเดือนธันวาคมนี้ ที่จะประชุมกันเพื่อหารือเรื่องระงับแผนเพิ่มกำลังการผลิตอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยืนอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อไป 

 

กรภัทรกล่าวว่า การปรับขึ้นของราคาน้ำมันครั้งนี้ไม่ได้มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่ถูกผลักดันด้วยกลไกด้านปริมาณการผลิตมากกว่า โดยในฝั่งดีมานด์เห็นชัดว่าลดลงจากเศรษฐกิจ EU และจีนที่ชะลอตัว ขณะที่สหรัฐฯ เองได้เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดการทำ QE ซึ่งทำให้ Dollar Index แข็งขึ้น และลดความร้อนแรงของราคาโภคภัณฑ์รวมถึงน้ำมัน 

 

“เมื่อราคาน้ำมันปรับขึ้นจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากน้ำมันเป็นต้นทุนหลักด้านการผลิตในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นหลายประเทศจึงไม่ต้องการเห็นราคาน้ำมันขึ้นสูง เลยออกมาเป็นรูปแบบของความพยายามระบายน้ำมันดิบ SPR แบบครั้งนี้” 

 

ทั้งนี้ มองแนวโน้มราคาน้ำมันในปีหน้าจะเริ่มปรับเข้าสู่สมดุลมากขึ้น โดยประเมินระดับราคาที่ 70-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเชิงลบไปด้วย เนื่องจากไทยเป็นประเทศ Net Import น้ำมัน โดยมีโครงสร้างน้ำมันต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 5.4-5.6% ของ GDP 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า กรณีสหรัฐฯ ดำเนินการระบายน้ำมันดิบ SPR นั้น กดดันราคาน้ำมันช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อไบเดนประกาศอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเปิดเผยปริมาณน้ำมันดิบที่จะระบายออกมา ราคาน้ำมันจึงดีดตัวกลับ เป็นการ Buy on Fact 

 

โดยปัจจัยต่อไปที่ต้องติดตามต่อคือการโต้ตอบของกลุ่ม OPEC และ non-OPEC ที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลกว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่อ โดยก่อนหน้านี้ OPEC ส่งสัญญาณอย่างเข้มแข็งมาแล้วว่าอาจจะโต้ตอบด้วยการระงับแผนเพิ่มกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรลต่อวัน และหากราคาน้ำมันปรับลดลงอีก อาจจะดำเนินการลดกำลังการผลิตลงเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกเช่นนี้ไว้ 

 

ณัฐชาตกล่าวว่า ทิศทางปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า มองว่าราคาน้ำมันจะมีสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลายมากขึ้น โดยฝั่งดีมานด์น่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามลำดับ ส่วนฝั่งซัพพลายเชื่อว่า OPEC และ non-OPEC จะกลับมาใช้กำลังการผลิตตามปกติ นอกจากนี้ มองว่าจะมีปริมาณน้ำมันดิบแห่งใหม่ทยอยออกมาสู่ตลาด เช่น แท่นขุดเจาะที่สหรัฐฯ หลายแห่งจะกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่จูงใจ 

 

“แนวโน้มราคาน่าจะค่อยๆ เข้าสู่จุดสมดุล โดยราคาไม่น่าจะสูงไปกว่าระดับสูงสุดในปีนี้ที่ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปีหน้าราคาน้ำมันก็จะค่อยๆ ย่อตัวลง” 

 

จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ปริมาณน้ำมันดิบ SPR ที่สหรัฐฯ ระบายออกมาจะทำให้การตึงตัวของตลาดลดลงประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่เยอะมาก เมื่อเทียบกับการตึงตัวปัจจุบันที่ราว 1,000,000 บาร์เรลต่อวัน จึงมองแอ็กชันครั้งนี้ของสหรัฐฯ และอีก 5 ประเทศ สามารถหวังผลได้เพียงกำหนดราคาเพดาน (ซีลลิ่ง) ของราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้เกิดนิวไฮราคาน้ำมันในระยะสั้นเท่านั้น และประเมินว่ายังไม่สามารถบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูงได้ 

 

เขากล่าวว่า การกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันทรงตัวระดับสูงยังมีทางเลือกอื่นๆ เช่น การจำกัดการส่งออกน้ำมันของสหรัฐฯ แต่อาจไม่สร้างผลดีต่อตลาดโดยรวมนัก รวมถึงการกลับมาเจรจากับอิหร่านในเวลาที่เร็วขึ้น เพื่อสร้างความกังวลต่อตลาด ซึ่งมองว่าหากสหรัฐฯ เลือกพูดคุยกับอิหร่าน จะช่วยกดดันฟากผู้ผลิตอย่าง OPEC ได้ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ทางเลือกดังกล่าวยังคงเป็นมาตรการรับมือสำหรับเฟสถัดไป ซึ่งไม่รู้แน่ชัดว่าจะถูกนำมาใช้หรือไม่

 

ทั้งนี้ จึงประเมินทิศทางราคาน้ำมันในช่วงสั้นจะทรงตัวระดับสูงถึงสิ้นปี และจะปรับลดลงในปีหน้า เนื่องจากสต๊อกน้ำมันของโลกจะปรับเพิ่มขึ้น โดยอ้างอิงจากคาดการณ์ของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ เอไออี ที่ทำนายว่าสต๊อกน้ำมันของโลกจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ทั้งนี้ การที่สต๊อกน้ำมันของโลกปรับขึ้น จะทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลง 

 

กลยุทธ์ลงทุนกลุ่มพลังงานและน้ำมัน ในกรณีที่ราคาน้ำมันยังสูงอยู่ ให้ทยอยสลับกลุ่มลงทุน โดยออกจากกลุ่มพลังงานต้นน้ำ (Upstream) เพื่อเข้าลงทุนในกลุ่มกลางน้ำและปลายน้ำแทน เช่น กลุ่มโรงกลั่น และค้าปลีกน้ำมัน

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising