ปีเตอร์ เวซแมน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (SIPRI) แสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้จ่ายด้านการทหารที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
เวซแมนแสดงความเห็นกับ Voice of America (VOA) ว่า เทรนด์ดังกล่าวเป็นเรื่องน่ากังวล และเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ ถึงแม้จะไม่ใช่สัญญาณของสงคราม แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
การใช้จ่ายด้านกลาโหมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน ปี 2001 โดยในรายงานงบใช้จ่ายด้านการทหารทั่วโลกประจำปี 2019 ของ SIPRI ที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน พบว่า ทั่วโลกมียอดใช้จ่ายด้านความมั่นคงในปี 2018 แตะระดับ 1.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.6% จากปี 2017 โดยประเทศที่ใช้งบกลาโหมสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปีที่แล้ว คือ สหรัฐอเมริกา จีน ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย และฝรั่งเศส ซึ่งรวมกันมีสัดส่วนมากถึง 60% ของรายจ่ายด้านการทหารทั่วโลก
สำหรับสหรัฐฯ และจีนที่กำลังห้ำหั่นในสงครามการค้าจนสะเทือนไปทั่วโลก เป็น 2 ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของงบประมาณกลาโหมสูงที่สุดในโลก โดยสหรัฐฯ ใช้จ่ายด้านการทหารแตะ 6.49 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.6% จากปีก่อนหน้า ทิ้งอันดับ 2 อย่างจีน ขาดลอย
ขณะที่จีนมียอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 5.0% แตะ 2.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 คิดเป็นสัดส่วน 14% ของงบประมาณกลาโหมทั่วโลก และเป็นการใช้จ่ายด้านการทหารเพิ่มขึ้น 24 ปีติดต่อกัน
สำหรับประเทศที่ใช้งบกลาโหมในอัตราส่วนสูงสุดของ GDP ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย 8.8% ของ GDP และโอมาน 8.2% ของ GDP โดย 10 อันดับแรก มีประเทศจากตะวันออกกลางติดมาถึง 6 อันดับ
คลาร์ก คูเปอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายการเมืองและการทหารของสหรัฐฯ แสดงความเห็นกับ VOA ว่า เวลานี้รัสเซียและจีนกลายเป็นมหาอำนาจลัทธิแก้ที่กำลังผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งและท้าทายสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม คูเปอร์มองว่า นี่ไม่ใช่การแข่งขันกันสะสมอาวุธ เพราะสหรัฐฯ ยังอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบ โดยปัจจุบันมีงบรายจ่ายด้านการทหารคิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของงบประมาณกลาโหมทั่วโลก
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: