×

ตลาดหุ้นทั่วโลกสัปดาห์นี้ส่อเค้า ‘ตึงเครียด’ สุดในรอบปี จับตาเงินเฟ้อและนโยบายดอกเบี้ย Fed

13.12.2022
  • LOADING...

สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยรายงานกึ่งวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อสถานการณ์ตลาดหุ้นในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเริ่มนับถอยหลังเข้าใกล้วันหยุดยาวในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ที่แม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของใครหลายคน แต่สำหรับบรรดานักลงทุน ในรอบสัปดาห์นี้น่าจะเป็นสัปดาห์ที่ค่อนข้างตึงเครียดมากที่สุดในรอบปี

 

โดยในส่วนของผู้บริโภคนั้น รายงานเศรษฐกิจที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคที่เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกจะออกมาในวันนี้ (13 ธันวาคม ตามเวลาสหรัฐฯ) และวันพฤหัสบดีนี้ (15 ธันวาคม ตามเวลาสหรัฐฯ) โดยตัวเลขดังกล่าวจะให้เบาะแสเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำลังการบริโภคของผู้บริโภคชาวอเมริกันว่ายังคงมีการจับจ่ายใช้สอยได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงหรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามองอย่างการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันพุธนี้ (14 ธันวาคม ตามเวลาสหรัฐฯ) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง แต่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเป็นการปรับขึ้นเพียง 0.5% เท่านั้น หลังจากการปรับขึ้น 0.75% ติดต่อกัน 4 ครั้งก่อนหน้า

 

นักลงทุนยังต้องลุ้นระทึกต่อ เมื่อสองธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ของยุโรปอย่างธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประชุมกันในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อตัดสินใจว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อหรือไม่ และธนาคารกลางอีก 6 แห่ง ยังมีกำหนดประกาศนโยบายการเงินในช่วงสัปดาห์นี้เช่นกัน

 

Vanguard ยักษ์ใหญ่ด้านกองทุนรวมกล่าวในรายงานเมื่อวานนี้ (12 ธันวาคม) ระบุว่า เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งทางธนาคารกลางจะดำเนินวงจรเข้มงวดต่อไปในช่วงต้นปี 2023 ก่อนที่จะหยุดชั่วคราวเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลงและมีการว่างงานเพิ่มขึ้น

 

นักวิเคราะห์มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวทำให้หุ้นและตลาดกองทุนรวมสั่นสะเทือนไม่น้อย โดยในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นปรับตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากบรรดานักลงทุนต่างคาดหวังว่า Fed จะเริ่มลดขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กระนั้นกระดานหุ้นส่วนใหญ่ยังคงลดลงอย่างรวดเร็วในปีนี้ ทำให้ตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนมากขึ้นจนถึงเดือนธันวาคม

 

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวก็ผ่อนคลายลงเช่นกัน โดยอัตราผลตอบแทนของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ขยับกลับลงมาที่ประมาณ 3.5% หลังจากเคลื่อนไหวเหนือ 4.3% ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2008

 

แม้ธนาคารกลางเหล่านี้หลายแห่งคาดว่าจะทำตามแนวทางของ Fed คือขึ้นดอกเบี้ย 0.5% แต่นักลงทุนก็ยังคงกังวลว่าผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกอาจไม่สามารถป้องกันภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2023 ได้

 

Jim Reid นักกลยุทธ์จาก Deutsche Bank ระบุว่า ความเสี่ยงของภาวะ Stagflation นั้นสูงทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา เอเชียตะวันออก (EA) และสหราชอาณาจักร ในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยในรายงานการสำรวจนักลงทุนของธนาคารเกี่ยวกับความคาดหวังของตลาดโลกในปี 2023 ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

ทั้งนี้ สิ่งที่นักลงทุนกังวลก็คือการที่ Fed และธนาคารกลางอื่นๆ อาจไม่เริ่มหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นจึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนักวิเคราะห์เกรงว่า Fed หรือธนาคารกลางอื่นๆ อาจจะตัดสินใจช้าเกินไป

 

ด้าน Tom Essaye ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการจดหมายข่าวการลงทุนของ Sevens Report กล่าวว่า โฟกัสของเศรษฐกิจมหภาคจะเปลี่ยนจากความกลัวว่า Fed จะเข้มงวดกับนโยบายการเงินไปเป็นการเติบโตที่ช้าลงและรายได้ที่ลดลงก่อนที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะสามารถส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ซึ่งในส่วนของสหรัฐฯ ยังมีปัจจัยน่ากังวลอย่างงบประมาณและเพดานหนี้ ซึ่งหากไม่สามารถตกลงกันได้ตามเงื่อนไขเวลาที่กำหนด รัฐบาลสหรัฐฯ อาจเผชิญกับภาวะชัตดาวน์บางส่วนได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising