×

จุดวกกลับของดอกเบี้ยโลก ‘จุดประกาย’ ลงทุนตราสารหนี้

08.04.2023
  • LOADING...

เริ่มเข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้แล้ว ความผันผวนและความเปราะบางของตลาดการเงินโลกยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลต่อการลงทุนอยู่ดี ถึงแม้ว่าขณะนี้ สถานการณ์ Bank Run ในสหรัฐฯ และยุโรปเริ่มคลี่คลายลง หลังจากที่คนแห่ถอนเงินออกจากแบงก์ต่างๆ นำโดย Silicon Valley Bank หรือ SVB และ Credit Suisse รวมถึงแบงก์อื่นๆ ล้มซวนเซตามกันไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

แม้รัฐบาลและธนาคารกลางของแต่ละประเทศออกมาตรการมาประคองสถานการณ์ เพื่อให้ผลกระทบอยู่ในวงจำกัด แต่ประชาชนภายในประเทศนั้นๆ ก็ยังมีความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน และการแห่ถอนเงินสดกันออกมาจำนวนมาก ก็ยังไม่ได้กลับเข้าไปในระบบแบงก์หรือสถาบันการเงิน

 

ช่วงที่ชาวอเมริกันแห่ถอนเงิน ย้ายไปไหน

 

คุณรู้หรือไม่ว่า เงินสดที่แห่ถอนกันออกมาไหลไปอยู่ที่ไหน

 

ถ้าไปดูข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 มีเงินไหลเข้ากองทุนตลาดการเงินในสหรัฐฯ มูลค่า 5.19 ล้านล้านดอลลาร์ เรียกว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์จริงๆ และถือเป็นภาพสะท้อนที่มีนัยต่อโลกการลงทุนครับ

 

หลังจากที่ทางการสหรัฐฯ เข้ามาแก้ปัญหาสถานการณ์แบงก์ล้มได้อย่างค่อนข้างรวดเร็วและไม่ปล่อยให้สถานการณ์บานปลาย ทำให้ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed สามารถเดินหน้าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันที่ 22 มีนาคม และปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 4.75-5% เพื่อดูแลเงินเฟ้อระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และต่อมาใน Dot Plot ล่าสุด ระบุว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้ง ขึ้นไปอยู่ที่ 5-5.25% ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่จะออกมาในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย ก็ถือเป็นสัญญาณว่าใกล้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้แล้ว

 

ทั้งนี้ ท่าทีของ Fed ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตการณ์ Bank Run นั้น Fed ประกาศแน่วแน่ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอีก 2-3 ครั้งถึงกลางปีนี้ และจะทรงตัวระดับสูง และย้ำว่าจะไม่เห็นดอกเบี้ยลงในปีนี้ เพราะต้องการให้เห็นหลักฐานว่าเงินเฟ้อกำลังมีทิศทางปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2% ชัดเจนก่อน

 

แต่ตอนนี้หลังเกิดสถานการณ์ภาวะการเงินตึงตัวในระบบขึ้นแล้ว Fed เริ่มมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากประเด็นเงินเฟ้อ ก็คือแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจแน่นอน ซึ่งหมายความว่าโจทย์ ‘การลดดอกเบี้ย’ อาจจะต้องเปลี่ยนไปด้วย

 

เพราะหากเกิดการปล่อยสินเชื่อชะลอตัวลง จะยิ่งทำให้เกิดภาวะการเงินตึงตัวขึ้นไปอีก การใช้จ่ายชะลอตัว ซึ่งก็จะทำให้เงินเฟ้อลดลงแน่นอน แต่การลดลงของเงินเฟ้ออาจจะไม่ทันเข้ากรอบเป้าหมายได้ เพราะเศรษฐกิจอาจเกิดการชะลอตัวเร็วหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยขึ้นมา นั่นก็หมายความว่า Fed อาจจะต้องลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยกล่าวไว้ แต่ในทางกลับกัน หากยังมีการปล่อยสินเชื่อดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง เงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ก็มีโอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

 

ในช่วงระหว่างนี้ ตลาดเกาะติดทิศทางตัวเลขเงินเฟ้อต่างๆ ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ล่าสุด สหรัฐฯ รายงานดัชนี Headline PCE เดือนกุมภาพันธ์ ลดลงสู่ระดับ 5% จาก 5.4% ในเดือนมกราคม ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ 5.1% ส่วน Core PCE ลดลงเป็น 4.6% จาก 4.7% ในเดือนก่อนหน้า และถ้าดูการลดลงเป็นรายเดือน (MoM) พบว่า Headline PCE มีระดับเพิ่มขึ้น 0.3%MoM ลดลงจาก 0.6%MoM ในเดือนมกราคม และ Core PCE เพิ่มขึ้น 0.3%MoM ลดลงจาก 0.5%MoM

 

ทั้งนี้ ข้อมูล FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนคาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปสูงสุดที่ 5.00-5.25% ไปจนถึงปลายปี 2566

 

ขณะที่สิ่งที่นักลงทุนประเมินภายใต้สถานการณ์ตลาดเงินมีความเปราะบางมาก ภาคธุรกิจระดมทุนยากขึ้น ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ลดการใช้จ่าย แนวโน้มเงินเฟ้อมีสัญญาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ลดลงตาม มีความเป็นไปได้ที่ Fed ต้องลดดอกเบี้ยภายในไตรมาส 3 นี้

 

ลุ้น Fed เปลี่ยนทิศลดดอกเบี้ย สบโอกาสสร้างผลตอบแทนจากตราสารหนี้ 

 

ในกรณีสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed กำลังจะสิ้นสุดลงในเร็ววันนี้ และเกิดการเปลี่ยนทิศเป็นดอกเบี้ยขาลงในปีนี้ จะทำให้ตราสารหนี้ทั่วโลกทั้งพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพอยู่ในระดับ Investment Grade กลับมาเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุนอีกครั้ง

 

หากกลับมามองที่ผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ที่จะทยอยปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะสูงสุดแล้ว ในช่วงเดียวกันกับที่ดอกเบี้ยทำจุดสูงสุด แสดงให้เห็นว่า แรงกดดันราคาตราสารหนี้กำลังจะสิ้นสุดลง ก็ถือเป็นโอกาสของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เอกชน และหากใครที่บาดเจ็บจากการลงทุนตราสารหนี้และขาดทุนในปีที่แล้ว ปีนี้ก็จะเห็นการพลิกกลับมาได้ครับ

 

แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอแนะนำให้ทุกคนทำความเข้าใจการลงทุนสินทรัพย์ประเภทนี้ให้ดีก่อน แม้ว่าจะบอกว่าพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำสุดก็ตาม แต่โลกแห่งการลงทุนมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นเสมอ ทุกการลงทุนมีผลตอบแทนก็ย่อมมีความเสี่ยงคู่กัน ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นในปีที่แล้ว 2565 นั่นเอง

 

ในปี 2565 ต้องยอมรับว่าการลงทุนในพันธบัตร ตราสารหนี้ทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ สร้างผลตอบแทนย่ำแย่มาก ปัจจัยหลักๆ เนื่องมาจากปีที่แล้ว Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 7 ครั้งทีเดียวต่อเนื่อง จากระดับ 0.00-0.25% มาสู่ระดับ 4.25-4.5% ในปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

 

ปีที่แล้วถือเป็นปีที่คนขาดทุนจากการถือพันธบัตร ตราสารหนี้กันจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ทั้งพันธบัตรและตราสารหนี้ควรให้ดอกเบี้ยคงที่ และน่าจะทำให้มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอเปิดแอปมาดูทีไร มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value) กลับติดลบเล็กน้อยอยู่ตลอด

 

ผมขออธิบายผลตอบแทนของพันธบัตรแบบเบื้องต้นก่อนครับ โดยพันธบัตรจะมี ‘ราคา’ (Price) ซึ่งเป็นคนละส่วนกับ ‘ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย’ (Bond Yield) จึงต้องแยกผลตอบแทนเป็น 2 ก้อน

 

ราคาพันธบัตร (Bond Price) คือ จำนวนเงินที่คุณจะได้รับเมื่อขายพันธบัตรในเวลานั้นๆ เพราะนักลงทุนบางคนก็ไม่ได้ถือพันธบัตรจนครบอายุ และตัดสินใจขายพันธบัตรออกมาก่อน ซึ่งราคาพันธบัตร (Bond Price) มีความสัมพันธ์แบบผกผันกับผลตอบแทน (Bond Yield) หรือดอกเบี้ย

 

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าราคาพันธบัตรเพิ่ม ผลตอบแทนก็จะลง ผมขอยกตัวอย่าง พันธบัตรราคาหน้าตั๋ว 100 บาท จ่ายดอกเบี้ย 3% ต่อปี หรือ 3 บาท สมมติว่าพันธบัตรนี้เป็นที่ต้องการมาก ราคาพันธบัตรก็จะสูงขึ้นจนมีคนซื้อขายกันที่ราคา 105 บาท แต่ดอกเบี้ยก็ยังจ่ายที่ปีละ 3 บาทเท่าเดิม ซึ่งในกรณีนี้ราคาพันธบัตรจะเพิ่มเป็น 105 บาท ขณะที่ยังจ่ายดอกเบี้ย 3 บาท เท่ากับว่านักลงทุนที่ซื้อพันธบัตร 105 บาท จะได้ดอกเบี้ยเพียง 3/105 = 2.85% เท่านั้น ไม่ใช่ดอกเบี้ย 3% บนหน้าตั๋ว

 

ในทางกลับกัน หาก ‘ราคาพันธบัตรลง ผลตอบแทนพันธบัตรขึ้น’ ยกตัวอย่าง พันธบัตรราคาหน้าตั๋ว 100 บาท จ่ายดอกเบี้ย 3% ต่อปี พันธบัตรดังกล่าวมีความต้องการซื้อน้อย คนที่อยากขายออกก็ต้องลดราคาเพื่อดึงดูดให้คนมาซื้อต่อ เช่น ลดราคาพันธบัตรเป็น 95 บาท ในขณะที่จ่ายดอกเบี้ย 3 บาทเท่าเดิม เท่ากับว่านักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรราคา 95 บาทจะได้ ‘ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น’ เป็น 3/95 = 3.15% ซึ่งตรงข้ามกับกรณีแรก

 

คุณคงจะสงสัยว่า ‘แล้วอะไรที่จะทำให้พันธบัตรเป็นที่ต้องการมากน้อยต่างกัน?’ สิ่งนั้นก็คือ ‘อัตราดอกเบี้ยในตลาด’ ซึ่งคุณก็จะคุ้นๆ หูเพราะพูดกันตลอดปีที่แล้ว เรื่องสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันตลอดปีที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น

 

ผมอธิบายต่อจากตัวอย่างเดิม ถ้าดอกเบี้ยพันธบัตรในปัจจุบันอยู่ที่ 3% พันธบัตรรุ่นเก่าๆ ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า 3% ก็ต้องขายในราคาถูกลง ส่วนพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า 3% ก็ขายในราคาสูงกว่าหน้าตั๋วได้

 

เพราะฉะนั้น เมื่อ Fed ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเรื่อยๆ ก็จะยิ่งส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ค่อยๆ ลดลง ข้อมูลเหล่านี้น่าจะตอบคำถามให้คุณหายสงสัยว่า ทำไมการลงทุนในพันธบัตรถึงขาดทุนได้ เพราะมูลค่า NAV ที่แสดงคือราคาของพันธบัตรในวันนั้น ได้ผ่านสมรภูมิการปรับดอกเบี้ยขึ้นมาอย่างโชกโชนแล้วนั่นเอง

 

แต่จริงๆ แล้ว หากคุณถือพันธบัตรครบอายุ ในแต่ละปีก็จะได้รับดอกเบี้ยตามหน้าตั๋ว ซึ่งสามารถนำดอกเบี้ยที่ได้ไปลงทุนใหม่ (Reinvest) ในพันธบัตรที่จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าเพื่อลดการขาดทุนหรือเพิ่มผลตอบแทนได้ แต่หากใครถือพันธบัตรแล้วขายระหว่างทาง เช่นขายออกมาในปีที่แล้ว ก็จะเกิดผลขาดทุนได้ แต่ถ้าไม่ได้ขายออกมา เมื่อสถานการณ์ดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ มันก็มีโอกาสกลับมาทำผลงานที่ดีให้คุณ

 

สำหรับในปีนี้ หาก Fed มีการปรับลดดอกเบี้ยลงเร็วกว่าคาด คุณก็ควรถือพันธบัตรอายุยาวเกิน 1 ปี เพราะพันธบัตรเก่าที่คุณถืออยู่จะมีดอกเบี้ยหน้าตั๋วสูงกว่าพันธบัตรที่เพิ่งออกใหม่ พอร์ตของคุณก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ดังนั้นการลงทุนพันธบัตร หรือตราสารหนี้ระยะยาวก็จะเป็นการลงทุนที่ช่วยสร้างผลตอบแทนให้แก่พอร์ตได้ดี

 

แต่แม้ Fed จะคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ โดยสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยเป็นลักษณะชะลอตัว คุณก็ยังมีโอกาสในการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี เมื่อถือจนครบอายุก็ซื้อตัวใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่อ (Reinvestment Rate) ถือเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มได้เช่นกัน จนกว่าดอกเบี้ยจะเปลี่ยนทิศลงจริงๆ 

 

แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ มีความเสี่ยงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นควรกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมและอยู่ในระดับรับความเสี่ยงได้ ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนพันธบัตรหรือตราสารหนี้ คือเน้นลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพระดับ Investment Grade เป็นหลัก

 

หากคุณกระจายลงทุนทั้งพันธบัตรทั่วโลกและตราสารหนี้ในหลายๆ อุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ กองทุน ETF ก็จะเป็นโอกาสสร้างพอร์ตการลงทุนให้สมดุลจากการเติบโตของเงินลงทุนและกระแสเงินสดรับที่สม่ำเสมอ

 


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising