×

‘สภาทองคำโลก’ เผย ดีมานด์ทองคำใน ‘ไทย’ Q3 เพิ่มขึ้น 40% เหตุท่องเที่ยวฟื้น-ราคาลง มอง Q4 คึกคักต่อ รับเทศกาลสิ้นปี

07.11.2022
  • LOADING...

‘สภาทองคำโลก’ มองดีมานด์ในไตรมาส 4 ยังคงแข็งแกร่งรับเทศกาลช่วงสิ้นปี พร้อมเผยความต้องการทองคำในประเทศไทยไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เพิ่มขึ้น 40% เหตุท่องเที่ยวฟื้นและราคาทองคำลดลง 

 

สภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยความต้องการทองคำของผู้บริโภคในประเทศไทยไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน นับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องยาวที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉพาะการบริโภคทองคำประเภทอัญมณี (Jewellery) ซึ่งขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและราคาทองคำที่ลดลง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 ได้รับการสนับสนุนจากความต้องการทองคำอัญมณี ซึ่งเพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อนหน้า รวมไปถึงความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำ (Bar & Coin) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ลงทุน เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

ด้าน Andrew Naylor ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาค APAC (ไม่รวมประเทศจีน) ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกันที่เราได้เห็นความต้องการอัญมณีในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการฟื้นตัวของภาคส่วนการท่องเที่ยวและราคาทองคำที่ลดลง อันเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ค้าปลีกทองคำเร่งเติมคลัง พร้อมทั้งคาดว่าความต้องการจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้คนนิยมแต่งงานและมีการเฉลิมฉลองช่วงส่งท้ายปี

 

ความต้องการทองคำทั่วโลกฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิดแล้ว

โดยในรายงาน Gold Demand Trends ฉบับล่าสุดจากสภาทองคำโลกเผยว่า ความต้องการทองคำทั่วโลก (ไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) ในไตรมาส 3/22 แตะ 1,181 ตัน เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบเป็นรายปี และด้วยความต้องการที่สูงขึ้นจึงทำให้ยอดสะสมตั้งแต่ต้นปีกลับไปเกือบเท่าช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดโควิด เนื่องจากได้รับแรงหนุนมาจากผู้บริโภคและธนาคารกลาง แม้ว่าจะมีการหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในส่วนของการซื้อเพื่อการลงทุน

 

การลงทุนทองคำทั่วโลกร่วง เหตุดอลลาร์แข็ง ดันราคาทองร่วง

การลงทุนในทองคำทั่วโลกในไตรมาสที่ 3 ดิ่งลง 47% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากนักลงทุน ETF ไม่สู้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งตัว โดยมีการไหลออกที่ 277 ตัน ผนวกกับความต้องการการซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลง และทัศนคติเชิงลบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า นับเป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพของราคาทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลง 8% ในไตรมาส 3 ปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดปัญหาข้างต้น แต่ทองคำก็ยังคงได้รับความนิยมจากนักลงทุนรายย่อยที่ตอบสนองต่อสัญญาณของตลาดต่างๆ และหันไปลงทุนในทองคำ เนื่องจากยังสามารถตรึงราคาไว้ได้ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยนักลงทุนจะเลี่ยงผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อด้วยการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำ ทำให้ความต้องการในส่วนค้าปลีกโดยรวมเพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากการซื้ออย่างมีนัยสำคัญในตุรกี (มากกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา) และในเยอรมนี (เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา) พร้อมอานิสงส์ที่เด่นชัดจากตลาดหลักทั่วโลก

 

การซื้อทองคำอัญมณีในไตรมาสที่ 3 ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และได้กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิดแล้ว โดยเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาส 3/21 ปัจจัยหนุนส่วนใหญ่มาจากผู้บริโภคในตัวเมืองของอินเดีย ที่ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

ธนาคารกลางทั่วโลกจ่อซื้อทองคำเพิ่ม

สำหรับการซื้อทองคำของธนาคารกลางดีดตัวขึ้นอย่างมาก โดยมียอดซื้อสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 400 ตันในไตรมาส 3 สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงจากข้อมูลสำรวจเชิงลึกที่ว่า 25% ของธนาคารกลางผู้ตอบแบบสอบถามประสงค์ที่จะสำรองทองคำเพิ่มในอีก 12 เดือนข้างหน้า

 

อุปทานทองคำทรงตัวในไตรมาส 3

ในส่วนของอุปทานการทำเหมืองทอง (การลดความเสี่ยงสุทธิ) เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/21 โดยการทำเหมืองทองคำได้เติบโตติดต่อกันถึงไตรมาสที่ 6 ในทางกลับกัน การรีไซเคิลลดลง 6% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคไม่ตัดสินใจขายทองคำในภาวะที่เงินเฟ้อสูงขึ้นและมีแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

 

ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย?

Louise Street นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของสภาทองคำโลกให้ความเห็นว่า แม้สภาวะเศรษฐกิจระดับมหภาคจะไม่ทรงตัว แต่ความต้องการในปีนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงสถานะของทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าทองคำยังทำกำไรได้ดีกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ส่วนใหญ่ในปี 2022

 

“ในอนาคตเราคาดว่าการซื้อของธนาคารกลางและการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยจะยังคงมีความแข็งแกร่งต่อไป ทำให้สามารถชดเชยการลงทุนใน OTC (Over-The-Counter) และ ETF (Exchange Traded Fund) ที่อาจลดลงในกรณีที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ นอกจากนี้ เรายังคาดว่าความต้องการในเครื่องประดับจะยังคงแข็งแกร่งในบางภูมิภาค เช่น อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ภาคเทคโนโลยีจะมีแนวโน้มลดลงอีกเมื่อเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ” Louise Street กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X