สงครามใหญ่ในยูเครนที่ทำโลกตกอยู่ในความผันผวนและไม่แน่นอนตลอด 2 ปีที่ผ่านมายังไม่ทันจบ สงครามในฉนวนกาซาก็ปะทุขึ้นมาแทรกในแบบที่เราไม่ทันตั้งตัว ท่ามกลางอุณหภูมิการเมืองโลกที่ร้อนระอุ ซึ่งไม่ใช่แค่ร้อนเพราะภาวะโลกเดือดที่กลายมาเป็นวาระเร่งด่วนของมนุษยชาติเท่านั้น แต่ยังร้อนเพราะสงครามร้อนที่ไล่ปะทุขึ้นตามจุด Hotspot ในแต่ละภูมิภาคที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลารอวันระเบิด
รายงานคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่สำรวจความเห็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ World Economic Forum ที่เผยแพร่ในเดือนกันยายน 2023 พบว่า มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวน 9 จาก 10 คน เชื่อว่า ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์จะสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้า บรรยากาศทางการเมืองจึงมีความอึมครึมและขมุกขมัว เพราะมรสุมลูกใหญ่มีแนวโน้มถาโถมเป็นระลอก
แต่นอกจากปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมถึงยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 อย่างจีน ที่มีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจจะซึมยาวนั้น ก็เป็นอีกปัจจัยบั่นทอนที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกในปีหน้ายังไม่สดใส นอกจากนี้ภาวะโลกรวนที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก พายุรุนแรง น้ำท่วมหนัก ภัยแล้ง และไฟป่า ที่มากผิดปกติ ก็ส่งผลกระทบต่อผลิตภาพโดยตรง ซึ่งก็กลายเป็นโดมิโนกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารด้วย
เราได้รวบรวมความเห็นของนักวิชาการไทยหลายคน เช่น ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร, ดร.ปิติ ศรีแสงนาม และ ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศในแต่ละภูมิภาค เพื่อมองไปในปีหน้าว่าภูมิทัศน์การเมืองโลกจะเป็นอย่างไร และนี่คือเทรนด์ภูมิรัฐศาสตร์โลกในปี 2024
ความขัดแย้งที่ผูกเงื่อนซับซ้อนขึ้นและการปะทุที่คาดเดาได้ยาก
จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่เริ่มในปี 2018 มาถึงสงครามยูเครน-รัสเซียในปี 2022 ต่อด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาสในช่วงปลายปี 2023 ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครตั้งตัวหรือคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ทำให้เกิดคำถามว่า สถานีต่อไปจะเป็นสงครามในช่องแคบไต้หวันหรือเปล่า?
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันมีความพยายามสร้าง ‘ความปกติใหม่’ ในการยกระดับการแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร แม้จะยังไม่ล้ำ ‘เส้นแดง’ ที่จีนขีดไว้ แต่ทุกการขยับของไทเปที่ปักกิ่งมองว่าท้าทายโดยตรงนั้น ก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุที่นำไปสู่สงครามใหญ่ได้ เพราะจีนเองก็ยกระดับการปิดล้อมและซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันทั้งในแง่สเกลและความถี่เพื่อตอบโต้เช่นกัน ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการเผชิญหน้าหรือกระทบกระทั่งกันย่อมมีมากขึ้น
อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในสมการคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งตามปกติในฤดูหาเสียงแทบทุกครั้งมักจะเป็นช่วงที่มีการสาดไฟใส่กัน แคนดิเดตประธานาธิบดีแต่ละคนจะหาเสียงด้วยชุดนโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีน เรียกได้ว่าอาจเป็นการสุมไฟให้บรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศร้อนฉ่าขึ้นตลอดทั้งปีก็เป็นได้
ส่วนสถานการณ์ในตะวันออกกลางก็ยังมีแนวโน้มคุกรุ่นต่อเนื่อง เราเห็นการสูญเสียของทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ (ในกาซา) แต่นั่นเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่เท่านั้น ยังไม่ใช่สมรภูมิสู้รบเต็มรูปแบบที่จะสร้างความเสียหายหนักขึ้นอีก หากอิสราเอลตัดสินใจบุกฉนวนกาซาทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล ตามที่ประกาศไว้
ก็ต้องดูต่อไปว่าตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอย่างฮิซบุลเลาะห์ รวมถึงตัวแสดงที่เป็นรัฐอย่างอิหร่าน ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักของฮามาส จะเข้าร่วมในสงครามนี้ด้วยหรือไม่ หากเข้าร่วมก็มีโอกาสสูงที่สงครามจะขยายวงความขัดแย้งและสะเทือนราวแผ่นดินไหวไปทั่วทั้งตะวันออกกลางในปีหน้า เนื่องจากอิหร่านอาจดึงทั้งซีเรียและเลบานอนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สงครามในยูเครนมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อในปี 2024 อย่างแน่นอน แต่ก็เกิดคำถามว่าจะขยายวงความขัดแย้งไปสู่การเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างรัสเซียกับ NATO หรือไม่ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร NATO ได้ขยับขอบเขตในการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ ไล่มาตั้งแต่รถถัง เครื่องบินรบ ไปจนถึงขีปนาวุธพิสัยไกล
ดังนั้นเราจึงไม่อาจตัดความเป็นไปได้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะผลักรัสเซีย ซึ่งเวลานี้อาวุธและกำลังพลร่อยหรอลงทุกขณะ ให้หันไปใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีกับยูเครน ซึ่งนั่นอาจเพิ่มขอบเขตความเสียหายมากขึ้นไปอีก และท้ายที่สุดอาจดึงมหาอำนาจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้ก็เป็นได้
ขณะเดียวกันการที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ขยับเข้าหา คิมจองอึน มากขึ้น ภายหลังรัสเซียถูกคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวจากนานาชาติ ก็เพิ่มความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะเข้ามีบทบาทช่วยเป็นท่อน้ำเลี้ยงในการสนับสนุนอาวุธแก่รัสเซียเพื่อทำศึกกับยูเครนต่อ
ส่วนในอีกด้านหนึ่ง การเยือนโรงงานผลิตเครื่องบินรบและอาวุธชั้นนำของคิมจองอึนในรัสเซียก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าสองประเทศมีโอกาสร่วมมือกันพัฒนาอาวุธ ซึ่งก็จะช่วยยกระดับความทันสมัยของอาวุธยุทโธปกรณ์ของเกาหลีเหนือแบบก้าวกระโดด และอาจทำให้ดุลอำนาจทางทหารในคาบสมุทรเกาหลีเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตอันใกล้
ขณะเดียวกันการซ้อมยิงขีปนาวุธชนิดต่างๆ ของเกาหลีเหนือในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีความถี่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังคาดเดาได้ยากขึ้น ซึ่งปีหน้าการทดสอบอาวุธเชิงยุทธศาสตร์เหล่านี้ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางทหารกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย และทำให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีโอกาสปะทุเป็นสงครามใหญ่ได้ทุกเมื่อ
ทะเลจีนใต้ก็เป็นอีกหนึ่ง Hotspot ที่เสี่ยงจะเกิดการเผชิญหน้าทางทหารเช่นกัน ด้วยปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนบนน่านน้ำและเกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ระหว่างจีน ที่อ้างสิทธิ์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ (ราว 90%) กับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมาเลเซีย โดยพื้นที่ทะเลจีนใต้ นอกจากจะเป็นจุดยุทธศาสตร์แล้ว ยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ รวมถึงเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การที่จีนเพิ่มกิจกรรมทางทหารในบริเวณดังกล่าวถี่ขึ้นก็เพิ่มดีกรีความร้อนระอุในพื้นที่ขัดแย้งนี้อยู่เนืองๆ
จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ นั้นยังมีความเปราะบางและเสี่ยงสูง เปรียบได้กับภูเขาไฟมีพลัง (Active Volcano) ที่พร้อมระเบิดทุกเมื่อ โดยคู่ขัดแย้งหรือตัวแสดงที่เป็นรัฐหรือไม่ใช่รัฐอาจถูกดึงเข้าสู่เวทีความขัดแย้งอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น อิหร่านในสงครามยูเครน-รัสเซีย และอิสราเอล-ฮามาส หรือเกาหลีเหนือในสงครามยูเครน ซึ่งจะกลายเป็นความขัดแย้งซ้อนความขัดแย้ง ผูกเงื่อนปมที่แก้ยากขึ้น ดังนั้นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ตลอดครึ่งทศวรรษหลังจะมีความสลับซับซ้อนและท้าทายมากยิ่งขึ้น
ในยุคสงครามเย็นโลกแบ่งออกเป็นสองขั้วด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน แต่หลังจากนี้โลกได้เข้าสู่ยุคสงครามเย็นรอบใหม่ที่แบ่งเป็นหลายขั้วอำนาจ ในขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์ถูกดิสรัปต์ตลอดเวลา นับตั้งแต่เกิดเทรนด์การกีดกันการค้าในสมรภูมิ Trade War ในยุค โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อด้วยการระบาดใหญ่ของโควิด มาจนถึงเทรนด์การกีดกันทางเทคโนโลยีในสมรภูมิ Tech War ซึ่งนำไปสู่แนวคิดแบ่งแยกเศรษฐกิจหรือซัพพลายเชนออกจากกันระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ หรือ ‘Decoupling’ ซึ่งการท้าทายกระแสโลกาภิวัตน์เหล่านี้จะหนักขึ้นเรื่อยๆ
สหรัฐฯ-จีนแข่งขันดุเดือด สงครามชิปยกระดับเข้มข้น สะเทือนซัพพลายเชนในโลกที่แบ่งขั้ว
เทคโนโลยีคือหัวใจของทุกสิ่ง ดังนั้นสมรภูมิที่สำคัญที่สุดของทั้งสองฝ่ายคือสมรภูมิด้านเทคโนโลยี เพราะใครก็ตามที่ชนะในเกมเทคโนโลยี ก็ย่อมจะชนะในเกมเศรษฐกิจและเกมการทหารด้วย
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การห้ำหั่นระหว่างสหรัฐฯ และจีนในสมรภูมิชิปอันเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั้งหลายนั้นถือเป็นเพียงปฐมบทเท่านั้น เพราะในปี 2024 ทั้งคู่มีแนวโน้มที่จะยกระดับการกีดกันระหว่างกันอย่างดุเดือด เข้มข้น และรุนแรงมากขึ้น
แน่นอนว่าการที่สหรัฐฯ ยกระดับมาตรการควบคุมการส่งออกเครื่องจักรผลิตชิป รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไปยังจีน และจีนตอบโต้ด้วยการควบคุมการส่งออกสินแร่หายากที่ใช้ในอุตสาหกรรมต้นน้ำผลิตชิปนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเราก็เห็นแล้วว่า Tech War ทำให้เกิดการขาดแคลนชิปทั่วโลกในระยะสั้น รวมถึงอาจกระทบในระยะกลางด้วยหากจีนมีการปรับตัวรับมือ
สำหรับในระยะยาวนั้น Tech War จะส่งผลต่อการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีในอนาคตด้วยเช่นกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแบ่งค่ายระหว่างมาตรฐานเทคโนโลยีสหรัฐฯ กับมาตรฐานของจีน ขณะเดียวกันความขัดแย้งยังเพิ่มความเร่งในการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้วย เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็จะทุ่มทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพราะใครที่สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีสีเขียว พลังงานสะอาด ไปจนถึง Generative AI และเทคโนโลยีควอนตัมได้ ก็จะสามารถชี้ชะตาว่าใครจะชนะในสมรภูมิการเมืองโลกหลังจากนี้
นอกจาก Chip War และ Tech War แล้ว สองมหาอำนาจยังแข่งขันในด้านอวกาศ โดยตั้งเป้าส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์ทั้งคู่ (สหรัฐฯ เคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต) แต่ที่น่าจับตาคือมหาอำนาจหน้าใหม่ในด้านอวกาศอย่างอินเดียที่ก้าวขึ้นมาร่วมแข่งขันกับสหรัฐฯ จีน รัสเซีย ยุโรป และญี่ปุ่น อย่างเต็มตัวในปีที่ผ่านมา ซึ่งเทคโนโลยีอวกาศนั้นเกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยตรง ทั้งในด้านการทหารจากเทคโนโลยีดาวเทียมและอาวุธ ไปจนถึงการสำรวจหาทรัพยากรบนดาวเคราะห์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการตั้งอาณานิคมนอกโลกในอนาคต ซึ่งการแข่งขันในด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างประเทศต่างๆ จะมีความดุเดือดและเป็นเทรนด์ที่น่าจับตาในปีหน้าด้วย
เลือกตั้งสำคัญ ‘เซ็ตโทน’ ภูมิทัศน์การเมืองโลกครึ่งทศวรรษหลัง
ในปี 2024 จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในเขตเศรษฐกิจสำคัญทั้งมหาอำนาจเบอร์หนึ่งในแง่เศรษฐกิจและการทหารอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่อย่างอินเดียและรัสเซีย นอกจากนี้สหภาพยุโรป (EU) ก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปที่จัดว่าสำคัญไม่แพ้กัน
แต่เปิดมาต้นปีสปอตไลต์จะสาดส่องไปที่ศึกเลือกตั้งผู้นำไต้หวัน แน่นอนว่าผลลัพธ์การหย่อนบัตรนี้จะเซ็ตโทนความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน รวมถึงความสัมพันธ์สามเส้า ปักกิ่ง-ไทเป-วอชิงตัน ตลอด 4 ปีข้างหน้า
การเลือกตั้งของไต้หวันในเดือนมกราคมเป็นการขับเคี่ยวระหว่างพรรครัฐบาลเดิมอย่างหมินจิ้นตั่ง (DPP) ที่จะมีแคนดิเดตใหม่ที่รับไม้ต่อจาก ไช่อิงเหวิน กับพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักในปัจจุบัน โดยก๊กมินตั๋ง หรือกั๋วหมินตั่ง (KMT) มีโอกาสจับมือกับแนวร่วมฝ่ายค้านอีกพรรค นั่นคือไถวันหมินจ้งตั่ง (TPP) ของ เคอเหวินเจ๋อ ซึ่งจะทำให้ฐานเสียงเพิ่มขึ้น และเพิ่มโอกาสในการต่อกรกับตัวเต็งจาก DPP อย่าง วิลเลียม ไล (ไล่ชิงเต๋อ)
ถ้าไล่ชิงเต๋อชนะก็มีโอกาสที่จะเกิดความตึงเครียดกับจีนยิ่งกว่าสมัยไช่อิงเหวิน แต่หากมีการสลับขั้วเป็นฝ่าย KMT ชนะ ก็มีแนวโน้มที่จะช่วยฟื้นสัมพันธ์กับจีนสู่ภาวะปกติ ซึ่งผลลัพธ์ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงในภูมิภาค เพราะไต้หวันมีความสำคัญในเชิงที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และความสำคัญในแง่ที่เป็นห่วงโซ่ทางเทคโนโลยีที่สำคัญ (เป็นแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่) หากเกิดสงครามขึ้นที่นี่ย่อมเป็นสมรภูมิที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสมรภูมิที่กล่าวมาข้างต้น
รัสเซียก็มีกำหนดจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภา (สภาดูมา) ในเดือนมีนาคม ซึ่งเครมลินเชื่อว่าการโหวตจะเป็นไปตามกำหนดการ แม้รัสเซียจะยังติดหล่มสงครามกับยูเครนอยู่ก็ตาม โดยจนถึงวันนี้ (15 ตุลาคม) ปูตินยังไม่ประกาศชัดว่าจะลงเลือกตั้งอีกสมัยหรือไม่ แต่มีโอกาสสูงที่ตัวเขา (หากลงสมัคร) หรือทายาทการเมืองที่ปูตินเลือกมาจะชนะแบบไร้คู่แข่ง ด้วยปัจจัยกระแสชาตินิยมที่จะช่วยค้ำจุนอำนาจผู้นำได้ต่อไปจนถึงปี 2030 เป็นอย่างน้อย ซึ่งก็จะเป็นเครื่องการันตีว่า รัสเซียจะไม่เบนออกจากเส้นทางในการรักษาสถานะความเป็นมหาอำนาจของโลก และนั่นก็แปลว่า ความหวังที่รัสเซียจะยุติสงครามกับยูเครนก็ดูจะริบหรี่ลงด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การปลุกกระแสชาตินิยมในช่วงที่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียจากยูเครน มาจนถึงการส่งทหารบุกยูเครนเต็มรูปแบบในปี 2022 จะช่วยให้ปูตินรักษาอำนาจไว้ได้โดยไม่ถูกท้าทาย แต่เวลานี้ประชาชนในรัสเซียเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่มาจากสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ รัสเซียใช้จ่ายเพื่อการสงครามมากขึ้นโดยที่ไม่รู้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงเมื่อใด นอกจากนี้รัสเซียยังถูกนานาชาติคว่ำบาตรหนักขึ้น ซึ่งอาจส่งผลในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรดาผู้นำจะเผชิญกับความท้าทายจากแรงกดดันภายในมากขึ้น รวมถึงกระแสคลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุจากระบอบอำนาจนิยมที่ปิดกั้นเสรีภาพสื่อและกิจกรรมเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน
อีกหนึ่งการเลือกตั้งสำคัญจะจัดขึ้นที่อินเดีย ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีจำนวนประชากรแซงหน้าจีนไปแล้ว อินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี กำลังอยู่บนเส้นทางผงาดขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ พวกเขามีตลาดขนาดใหญ่ แรงงานที่มีศักยภาพ และโนว์ฮาวเทคโนโลยี นอกจากนี้บทบาทเชิงรุกบนเวทีโลกของอินเดียก็กำลังเฉิดฉายและเป็นที่จับตาอย่างมากเช่นกัน โดยโมดีมีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย ขณะที่โพลคาดว่าพรรคภารติยะ ชนตะ (BJP) ของเขา มีโอกาสชนะเลือกตั้งอีกครั้ง
แต่สิ่งที่น่าจับตาอีกอย่างคือ คู่แข่งของเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน (BRI) ซึ่งเวลานี้ถูกท้าทายโดยอินเดียที่พยายามช่วงชิงความเป็นผู้นำใน Global South (โลกใต้) รัฐบาลของเขาชูแผนผลักดันสร้างทางรถไฟเชื่อมอินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งเป็นอีกทางเลือกของ BRI โดย Global South จะกลายเป็นประชาคมระหว่างประเทศที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดระเบียบโลกใหม่ในอนาคต
ในช่วงปลายปีแน่นอนว่าสายตาทุกคู่จะจับจ้องไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นคู่ท้าชิงคู่เดิมอย่าง โจ ไบเดน และ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ฝั่งรีพับลิกันก็ยังมีแคนดิเดตที่น่าจับตามองอย่าง รอน ดีแซนทิส ด้วย อย่างไรก็ตาม หนทางที่จะไปถึงตรงนั้นยังอีกยาวไกล โดยผู้สมัครแต่ละคนยังต้องผ่านฤดูเลือกตั้งขั้นต้นในแต่ละมลรัฐ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง ย่อมส่งผลต่อนโยบายของทุกประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันดีกรีความร้อนแรงของความขัดแย้งในทุกภูมิภาคก็ล้วนเกี่ยวพันกับนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันมีส่วนกำหนดทิศทางทั้งสิ้น
ทั้งหมดนี้คือเทรนด์ทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในปี 2024 แล้วไทยพร้อมแค่ไหนที่จะรับมือกับมรสุมการเมืองโลกลูกใหญ่ที่กำลังจะถาโถมเข้ามา
โจทย์ใหญ่ด้านการต่างประเทศของไทยกับความท้าทายที่รออยู่
‘ไผ่ลู่ลม’ เป็นคำนิยามที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการอธิบายลักษณะนโยบายการต่างประเทศของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ แต่ในหลายบริบทนโยบายแบบนี้ก็มักถูกวิจารณ์ว่าไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน แม้หลายคนจะมองว่าเป็นความยืดหยุ่น ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นจุดแข็งก็ตาม
สำหรับรัฐบาลชุดที่แล้วก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกเช่นกันว่า ไทยพยายามทำให้ตัวเองไม่อยู่ในสปอตไลต์ของโลก นักวิชาการหลายคนมองว่า การทูตไทยมาถึงจุดตกต่ำ อยู่นอกจอเรดาร์ ตกแผนที่โลก และขาดนโยบายต่างประเทศเชิงรุกที่สร้างสรรค์
แต่มาวันนี้เมื่อเราได้รัฐบาลใหม่ มีการตั้งโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ว่า จุดยืนของไทยในสงครามยูเครนจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ หากวันนี้สหประชาชาติเปิดให้ลงมติอีกครั้ง ไทยจะโหวตอย่างไร จะงดออกเสียงเหมือนเดิมหรือไม่ ในขณะที่การงดออกเสียงนั้นอาจไม่ใช่การวางตัวเป็นกลางอย่างที่หลายคนเข้าใจ นอกจากนี้เมื่อสงครามในตะวันออกกลางปะทุขึ้น ไทยจะวางตัวอย่างไร
โจทย์ข้อต่อมา ซึ่งเป็นอีกตัวชี้วัดสำคัญในนโยบายต่างประเทศของไทยคือ รัฐบาลจะปรับนโยบายอย่างไรต่อปัญหาความรุนแรงหรือสงครามกลางเมืองในเมียนมา เราจะยังใช้การทูตที่เรียกว่า ‘การทูตเงียบ’ ต่อไปหรือไม่ ในขณะที่นักวิชาการมีข้อเสนอแนะให้ไทยยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา ควบคู่ไปกับการร่วมแก้ปัญหาขัดแย้งในเมียนมาผ่านกลไกของอาเซียนแบบเชิงรุก
โจทย์ข้อต่อมา หากไทยถูกบีบให้ต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะทำอย่างไร มีแนวทางในการหาจุดสมดุลในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และจีน เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะวันนั้นอาจมาถึงไม่ช้าก็เร็ว
บนโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ภูมิรัฐศาสตร์มีความผันผวนและมีความท้าทายอยู่มากมายบนความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เปราะบางและซับซ้อน โอกาสของไทยคืออะไร ไทยจะวางตำแหน่งตัวเองอยู่ตรงไหนบนแผนที่โลก