×

วันสิ่งแวดล้อมโลก: ‘การฟื้นฟูระบบนิเวศ’ กับคำถาม ทำไมเราถึงต้องทำ ความสำคัญอยู่ตรงไหน

02.06.2021
  • LOADING...
การฟื้นฟูระบบนิเวศ

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • 5 มิถุนายนของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day โดยสหประชาชาติ (UN) 
  • การฟื้นฟูระบบนิเวศเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะแก้ปัญหาทั้ง 4 ด้าน คือการพัฒนาและส่งเสริมทั้งความเป็นอยู่ของมนุษย์ (Human Well-Being) และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ไปพร้อมๆ กัน

5 มิถุนายนของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day โดยสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นการฉลองความร่วมมือจากนานาชาติทั่วโลกในด้านสิ่งแวดล้อม และยังเป็นวันก่อตั้งของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) ในวันนี้เมื่อปี 1972 อีกด้วย ในงานวันสิ่งแวดล้อมโลกของแต่ละปีจะมีประเทศเจ้าภาพและธีมหลักของงาน เช่น เมื่อปี 2018 ประเทศอินเดียจัดงานเรื่องขยะพลาสติก, เมื่อปี 2019 ประเทศจีนเน้นเรื่องมลพิษทางอากาศ และล่าสุดปี 2020 เป็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพโดยมีประเทศโคลอมเบียเป็นเจ้าภาพ

 

สำหรับปีนี้ทาง UN ได้เลือกธีมเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศ หรือ ‘Ecosystem Restoration’ โดยมีประเทศปากีสถานเป็นเจ้าภาพ ความสำคัญพิเศษของงานปีนี้ คือการเปิดตัวโครงการ ‘UN Decade on Ecosystem Restoration 2021-2030’ เป็นแผน 10 ปีในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและทรัพยากรที่พอเพียงในการฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น สนับสนุนภาครัฐในการร่างกฎหมายและออกแบบนโยบาย หรือร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนากลไกทางการเงินในการช่วยเรื่องการลงทุนของโครงการต่างๆ โดยมี UNEP และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และมีการตั้งเป้าที่จะช่วยผลักดันเป้าหมายการฟื้นฟูพื้นที่ที่เสื่อมเสีย ขนาด 350 ล้านเฮกตาร์ (Hectare) หรือ 2,188 ล้านไร่ภายในปี 2030

 

 

ทำไมต้องฟื้นฟูระบบนิเวศ

หลายท่านอาจจะตั้งคำถามว่า มีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ทำไมถึงต้องเลือกการฟื้นฟูระบบนิเวศ ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน เป็นหัวข้อที่ฟังแล้วดูกว้างและไกลตัวไปหรือไม่ ไม่เหมือนกับประเด็นอื่นๆ ที่ผ่านมา เช่น การต่อสู้กับพลาสติกหรือมลพิษทางอากาศที่เป้าหมายมีความชัดเจน

 

การอธิบายเรื่องนี้ต้องเริ่มจากเข้าใจปัญหาระบบนิเวศก่อน คือเรื่องนี้เป็นเสาหลักของความเจริญและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ซึ่งเมื่อนึกถึงป่าไม้ ไร่นา ทะเล หรือแม่นำ้ ชีวิตของเราขาดสิ่งนี้ไม่ได้ แต่วันนี้กลับเป็นมนุษย์เอง ที่เป็นส่วนสำคัญของการทำลายและสร้างความสูญเสียให้กับธรรมชาติเหล่านี้ เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลของ UN ชี้ว่า มากกว่า 4.7 ล้านเฮกตาร์ (29 ล้านไร่) ของป่าไม้ถูกทำลายทุกปี เทียบเท่ากับการสูญเสียหนึ่งสนามฟุตบอลทุก 3 วินาที หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำได้หายไปในศตวรรษที่ผ่านมา

 

ความสูญเสียของระบบนิเวศนี้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ใน 4 ด้าน

 

อย่างแรกคือด้านสิ่งแวดล้อม การทำลายระบบนิเวศคือการลดปริมาณของพื้นที่กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ ‘Carbon Sink’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการต่อสู่กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) และลดความแข็งแกร่งในการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

 

อย่างที่สองคือด้านเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การทำลายป่าไม้จะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงและสร้างความเสียหายที่มากขึ้นต่อสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ (ป่าไม้ทำหน้าที่ในการป้องกันน้ำท่วมได้อย่างดี เช่น เศษซากอินทรีย์ที่ทับถมในป่าไม้นั้นจะซับน้ำได้มากถึง 6 เท่าของน้ำหนัก) หรือการเผาป่าที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางสาธารณสุขและทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านนี้สูงขึ้น บางประเทศระบุว่ามีค่าใช้จ่ายสำหรับโรคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศมากถึง 7% ของ GDP

 

อย่างที่สามคือด้านความมั่นคง การเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อมทำให้มีการแย่งชิงทรัพยากรที่จำกัด และทำให้เกิดความขัดแย้งหรือการโยกย้ายของกลุ่มประชากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนชายขอบ และกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Population)

 

อย่างที่สี่คือด้านสังคม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความหายนะของการทำลายระบบนิเวศ พื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ลดน้อยลง ทำให้มีการสัมผัสกับมนุษย์มากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้โรคต่างๆ เกิดการระบาดได้ง่าย

 

การฟื้นฟูระบบนิเวศ เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะแก้ปัญหาทั้ง 4 ด้าน คือ การพัฒนาและส่งเสริมทั้งความเป็นอยู่ของมนุษย์ (Human Well-Being) และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ไปพร้อมๆ กัน

 

มากกว่าแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม

เมื่ออิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ของ UN การฟื้นฟูระบบนิเวศไม่ได้มีความสำคัญแค่เฉพาะในมิติของสิ่งแวดล้อมเหมือนที่คนส่วนมากเข้าใจ แต่มีบทบาทในด้านสังคมและเศรษฐกิจเช่นกัน สำหรับเป้าหมายที่ 1 ‘ขจัดความยากจน’ แนวทางนี้ จะช่วยในการลดความเสี่ยงของประชากรกลุ่มเปราะบาง ต่อเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) หรือการใช้โครงการด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น การปลูกป่าระดับใหญ่) สำหรับการสร้างรายได้และจ้างงาน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

เป้าหมายที่ 2 ‘ยุติความหิวโหย’ เป้าหมายนี้ เกี่ยวโยงกับภาคการเกษตรที่ดีขึ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของความมั่นคงของแหล่งอาหาร ‘Food Supply’ สำหรับประชาชนทั่วไป ส่วนเป้าหมายที่ 3 ‘การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี’ คือคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นทำให้ลดปัญหาด้านสุขภาพ หรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มากขึ้นในพื้นที่เมืองจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต โดยสร้างประโยขน์ต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต สำหรับเป้าหมายที่ 4 ‘การศึกษาที่เท่าเทียม’ คือการใช้วิชาของการฟื้นฟูนิเวศวิทยาการสำหรับการส่งเสริมความรู้และทักษะ

 

 

ตัวอย่างการฟื้นฟูระบบนิเวศของต่างประเทศ

มาตรการฟื้นฟูระบบนิเวศนั้น มีตัวอย่างมากมายทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ย้อนกลับไปถึงช่วงทศวรรษที่ 1930-1940 ที่สหรัฐฯ ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (FDR) ได้ริเริ่มโครงการ Civilian Conservation Corps ซึ่งจ้างงานประชาชนที่ตกงานในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ปี1929 ไปทำงานในอุทยานต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ โดยจ้างแรงงานกว่า 250,000 คน ซึ่งร่วมกันปลูกต้นไม้กว่าพันล้านต้น และสร้างสวนสาธารณะกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ และยังมีการจ้างอาจารย์ที่ตกงานมาเป็นผู้อบรมวิชาต่างๆ ในค่าย ‘CCC’ นอกเหนือจากนั้น ช่วงทศวรรษที่ 1950 ประเทศเกาหลีใต้ ได้ใช้มาตรการสนับสนุนการฟื้นฟูระบบนิเวศในการรับปัญหาเรื่องความอดอยากและผู้ลี้ภัย โดยมีปริมาณการสร้างงานเป็นหลักแสน ส่วนในปัจจุบันก็มีหลายประเทศที่หันมาสนใจแนวทางนี้ และได้ริเริ่มโครงการโดยใช้งบที่มาจากการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus Package) จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วที่ลงมือทำด้านนี้ แต่มีประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศก็ลงมือทำด้วยเช่นกัน

 

ประเทศฝรั่งเศส เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากได้ใช้มากถึง 1 ใน 3 ของ Stimulus Package หรือเทียบเท่ากับ 1 แสนล้านยูโร (3.8 ล้านล้านบาท) สำหรับการลงทุนในเศรษฐกิจ ‘สีเขียว’ แม้การลงทุนหลักของงบนี้จะเน้นที่พลังงานสะอาด ระบบขนส่งมวลชน และภาคอุตสาหกรรม แต่อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือด้านการเกษตรยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมแนวทางนิเวศเกษตร (Agroecology) หรือการทำเกษตรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศในพื้นที่เกษตรกรรม เกษตรในเมือง (Urban Farming) เกษตรอินทรีย์ และการปลูกแนวพุ่มไม้สำหรับการแบ่งขอบเขตของแต่ละพื้นที่เกษตร

 

ส่วนทางสหราชอาณาจักร ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว (Green Recovery Challenge Fund) พร้อมกับเงินลงทุนเริ่มต้น 40 ล้านปอนด์ (1,782 ล้านบาท) ที่เน้นสนับสนุนองค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดหางานที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟู มากไปกว่านั้น ยังมีแผนงานที่จะออกแบบระบบการประเมินผลกระทบต่อทุนธรรมชาติ (Natural Capital) โดยจะนำมาบังคับใช้สำหรับนโยบายรัฐทั้งหมด

 

สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา ตัวอย่างที่น่าสนใจคือประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นเจ้าภาพของวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ ปากีสถานได้ริเริ่มโครงการ 10 Billion Tree Tsunami ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในโครงการปลูกป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเป้าหมายการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้มากกว่า 1 ล้านเฮกตาร์ (6.25 ล้านไร่) ภายใน 5 ปี และมีความสำคัญต่อการสร้างงานจำนวนมหาศาลสำหรับกลุ่มที่ตกงานจากโควิด-19 นอกเหนือจากนั้นยังมีประเทศเอธิโอเปีย เคนย่าในทวีปแอฟริกา และโคลัมเบียในอเมริกาใต้ ที่ได้มีมาตรการต่างๆ ด้านนี้ และได้รับการยกย่องจากองค์กรนานาชาติมากมาย

 

 

โอกาสของไทย – มากกว่าแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม

ตามที่ได้อธิบายด้านบน การฟื้นฟูระบบนิเวศนั้นเป็นมากกว่าแค่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่หลายคนอาจจะมองว่าไม่ได้มีผลประโยชน์ในมิติอื่นๆ แต่ที่จริงแล้วเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะนำไปใช้และสร้างประโยชน์

 

อย่างแรกคือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 มิติ คือ เชิงรุกและเชิงรับ

 

เชิงรุก คือการสร้างรายได้ผ่านโครงการต่างๆ และมาตรการ Nature-based Solutions เหมือนกับหลายประเทศที่เริ่มมีการดำเนินการเรื่องนี้แล้ว จากการศึกษาของ UNEP พบว่าการลงทุนในการฟื้นฟูนิเวศวิทยาทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐเทียบเท่ากับผลประโยชน์มูลค่า 7-30 ดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนทุก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะเท่ากับการสร้างงานประมาณ 10-40 งาน มากกว่าอุตสาหกรรมฟอสซิล 10 เท่า มีการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ มีการจ้างงานที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูทางตรง 126,000 งาน และทางอ้อม 95,000 งาน

 

เชิงรับนั้นเกี่ยวกับการสร้างภูมิต้านทานต่อพิบัติทางธรรมชาติและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา บริษัทประกันภัยเอออน (AON) เปิดเผยผลการศึกษาสำรวจพบภัยพิบัติทางธรรมชาติสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโลกในช่วงระหว่างปี 2010-2019 มากถึง 2.98 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 91 ล้านล้านบาท ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงที่สุด เสียหายถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 39.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 44%

 

รัฐบาลไทยจะต้องมองถึงโอกาสนี้ เป็นอีกแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจ โดยเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมที่จะต้องผลักดันให้สังคมเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

 

อย่างที่สองคือด้านการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สำคัญทั้งในมิติของเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เจอกับวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อปลายปี 2019 ไม่นานหลังจากนั้น เมื่อต้นปีก็ได้เจอกับภัยแล้งที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนอย่างน้อย 14 จังหวัด และไม่ได้กระทบแค่เฉพาะภาคเกษตรเหมือนครั้งอื่นๆ แต่ไปถึงสังคมในเมืองด้วย ยกตัวอย่างปัญหา เช่น น้ำประปาขาดแคลน มากไปกว่านั้นฤดูฝนก็มีปริมาณฝนที่น้อยผิดปกติทำให้ ‘น้ำต้นทุน’ หรือน้ำที่กักเก็บเอาไว้มีปริมาณต่ำกว่าความต้องการใช้จริง นอกเหนือจากนั้นยังมีปัญหาอื่นๆ อย่างผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

 

เราควรเน้นถึงทางออก คือแนวทางวิศวกรรม เช่น การสร้างกำแพงทะเล (Sea Wall) หรือเขื่อน ซึ่งมีบทบาทอันสำคัญแต่มาพร้อมงบประมาณที่สูงหรือมีผลกระทบต่อประชากรในพื้นที่บริเวณ อีกแนวทางคือ Ecosystem-based Adaptation (EbA) ที่อิงกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งคือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือความหลากหลายทางชีวภาพในการรับมือและปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการเพิ่มภูมิต้านทาน (Resiliency) ต่อภัยพิบัติ ตัวอย่างเช่น การปลูกป่าชายเลนในการช่วยป้องกันภัยจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและน้ำท่วมชายฝั่ง

 

อย่างที่สามคือเรื่องการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงนั้นได้ช่วยเรื่องการฟื้นตัวของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของปะการังและหญ้าทะเล หรือการปรากฏตัวของสัตว์หายาก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างมาก เช่นประเด็นของปริมาณนักท่องเที่ยวที่เกินความสามารถในการรับรอง (Overtourism)

 

 

โจทย์ใหญ่คือการคงไว้ของความสมบูรณ์นี้ในวันที่โลกต่อสู่กับโควิด-19 สำเร็จ และควรเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้อีกครั้ง เช่นการเพิ่มความรู้ ความตระหนักต่อการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือการแก้ปัญหา Overtourism ผ่านการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

 

ส่วนมิติของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ก็เป็นโอกาสของไทยเช่นกัน วันนี้ตลาดของ Ecosystem นั้นโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2019 มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าอยู่ที่ 181,100 ดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะโตถึง 333,800 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027 เป็นโอกาสทองของไทยที่จะตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านนี้

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ และสำหรับการติดตามความคืบหน้าของโครงการ ‘UN Decade on Ecosystem Restoration 2021-2030’ เข้าไปดูเพิ่มเติมที่ https://www.decadeonrestoration.org/


พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising