×

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเลวร้าย เหตุหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งสงคราม-เงินเฟ้อ-ซัพพลายเชน-โควิด

30.05.2022
  • LOADING...
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเลวร้าย

ทิวทัศน์ที่สวยงามของเมืองสกีตากอากาศอย่างเมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ดูจะไม่ช่วยให้อารมณ์และความรู้สึกของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน นักธุรกิจ นักลงทุน และเหล่ามหาเศรษฐีทั้งหลายได้ผ่อนคลายและเพลิดเพลินแม้แต่น้อย เหตุเพราะประเด็นเศรษฐกิจโลกที่นำมาหารือร่วมกันบนเวที World Economic Forum ล้วนแล้วแต่เป็นปมปัญหาที่แก้ไขได้ยากทั้งสิ้น

 

ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ราคาอาหารและพลังงานแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่สงครามและปัญหาคอขวดในระบบซัพพลายเชนโลกยังไม่คลี่คลาย และการระบาดของโควิด ที่แม้จะไม่รุนแรงเท่าปีแรกที่มีการระบาด แต่ก็ยังเป็นปัญหาบั่นทอนความเชื่อมั่น และหลายประเทศทั่วโลกก็ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด

 

แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจโลกข้างต้นทำให้บรรดาธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกจำต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยกระดับนโยบายการเงินให้เข้มงวด รัดกุม โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า การปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการได้เริ่มรั่วไหลเข้าสู่เศรษฐกิจพื้นฐาน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเติบโตทั่วโลก

 

ทั้งนี้ จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีการเงินฝ่ายเสรีนิยม ได้แสดงความเห็นกระตุ้นให้ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ปรับเปลี่ยนนโยบาย Zero COVID ที่นำไปสู่การล็อกดาวน์และการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด ผลักให้เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ ‘ภาวะดิ่งแรง’ (Freefall) ตั้งแต่เดือนมีนาคม

 

โซรอสเตือนว่า นอกจากวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ นโยบาย Zero COVID จะไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เพราะทำให้ห่วงโซ่อุปทานต้องติดขัดต่อไป

 

ด้าน เจน เฟรเซอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Citigroup กล่าวสรุปภาพรวมเศรษฐกิจโลกขณะนี้ด้วยอักษร R จากคำ 3 คำตามภูมิศาสตร์ ประกอบด้วย รัสเซีย (Russia), ภาวะถดถอย (Recession) และอัตราดอกเบี้ย (Rate) ซึ่งเฟรเซอร์สอธิบายเพิ่มเติมว่า 3 มหาอำนาจของโลกต่างเผชิญปัญหาจากคำ 3 คำดังกล่าวที่แตกต่างกัน สหรัฐฯ คือปัญหาอัตราดอกเบี้ย จีนคือภาวะถดถอย และยุโรปคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

ในมุมมองของเฟรเซอร์ส สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือภูมิภาคยุโรป เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามโดยตรงจนไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ซึ่งเฟรเซอร์สคาดหวังให้การคาดการณ์ดังกล่าวของตนเองไม่ถูกต้อง ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียดูจะมีหนทางรอดมากกว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอื่น

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่น่าวิตกมากที่สุดคือเรื่องของราคาอาหารที่อาจเป็นจุดพลิกผันที่ยากจะคาดเดา เพราะเมื่อผู้คนหิวโหยย่อมทำให้เกิดเหตุที่คาดไม่ถึงได้ โดยเบื้องต้นมีการประเมินว่าราคาอาหารที่แพงขึ้น บวกกับซัพพลายอาหารที่ลดลงจนทำให้อาหารเข้าถึงได้ยาก ทำให้มีผู้คนหิวโหยมากถึง 1,500 ล้านคนทั่วโลก

 

คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ค่อนข้างมืดมน เพราะมีหลายวิกฤตเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะการเงินที่ตึงตัวขาดสภาพคล่อง การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และการชะลอการเติบโตของจีน

 

จอร์เจียวากล่าวว่า เหตุปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้เกิดภาวะช็อกในราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย โดยเฉพาะราคาอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องให้ความใส่ใจ เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำมัน มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงตามกลไกตลาด แต่ราคาอาหารมีแต่จะปรับขึ้น เพราะอาหารเป็นสิ่งที่คนต้องกินทุกวัน ซึ่งประเด็นด้านอาหารที่น่าห่วงมากที่สุดคือโอกาสในการเข้าถึงอาหารคุณภาพดี ราคาไม่แพง เริ่มมีน้อยลงเรื่อยๆ

 

ยิ่งไปกว่านั้นจอร์เจียวาเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับ ‘การบรรจบกันของภัยพิบัติ’ และ ‘การทดสอบครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2’ และ IMF คาดการณ์ว่า การเติบโตทั่วโลกจะชะลอตัวลงจาก 6.1% ในปี 2021 มาอยู่ที่ 3.6% ในปี 2022

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของจอร์เจียวา เศรษฐกิจโลกไม่น่าจะเผชิญภาวะถดถอย และมีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่การฟื้นตัวจากโควิดยังคงเปราะบางที่จะต้องเผชิญกับภาวะดังกล่าว  

 

ขณะเดียวกัน ด้วยความใกล้ชิดของยุโรปกับสงครามความขัดแย้งในยูเครน บวกกับการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานของรัสเซียมากเกินไป พร้อมกับราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งอุปทานทั่วโลกจากการล็อกดาวน์ของจีน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของยูโรโซนอย่างมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันต่อเนื่องเป็นเดือนที่หกในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (มาตรวัดเงินเฟ้อ) ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุบสถิติที่ 7.5% สร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนประธาน ECB ต้องออกมาส่งสัญญาณว่า ECB เตรียมพร้อมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนกรกฎาคม

 

วัลดิส ดอมบรอสกี รองประธานบริหารคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า ทั่วโลกเริ่มมองเห็นผลที่ตามมาของการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยเฉพาะยุโรป จากเดิมที่ต้องเติบโตในปีนี้ได้ 4% แต่สงครามทำให้เศรษฐกิจยุโรปปีนี้โตเพียง 2.7%

 

อย่างไรก็ตาม เปาโล เจนจิโลนี คณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจ มองว่า ยุโรปยังมีโอกาสที่หลีกหนีภาวะถดถอย เพราะหลายประเทศในยุโรปสามารถฟื้นตัวได้ดีจากโควิด ดังนั้นหัวใจสำคัญก็คือ แนวทางการบริหารในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะช่วยให้ยุโรปเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

 

กระนั้น บรรดาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ในบริษัทชั้นนำของยุโรปกลับเห็นต่างออกไป และมองในแง่ลบมากกว่าแง่ดี เช่น โธมัส บูเบิร์ล ซีอีโอของ AXA ที่ระบุว่า ความเสี่ยงของภาวะถดถอยในยุโรปนั้น ‘สูงกว่า’ ในสหรัฐอเมริกามาก และสภาพเศรษฐกิจสำหรับยุโรปเป็นโจทย์ที่แก้ได้ยากมากขึ้น

 

ด้าน มาร์คัส สไตล์แมนน์ ซีอีโอของ Covestro กล่าวว่า สภาพแวดล้อมที่เงินยังเฟ้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ในช่วงเวลาที่ผู้คนมักต้องการกลับไปท่องเที่ยวและใช้จ่ายในอุตสาหกรรมบริการ ย่อมหมายความว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X