×

ไทยมีกระสุนการคลังพร้อมรับเศรษฐกิจโลกถดถอยแค่ไหน? หลัง IMF ประเมินหนี้สาธารณะปีนี้จ่อทะลุ 61% ต่อ GDP

18.10.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

HIGHLIGHTS

  • IMF คาด หนี้สาธารณะไทยทะลุ 61% ของ GDP ปีนี้ และจะไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิดภายใน 5 ปีข้างหน้า
  • ขณะเดียวกัน IMF ได้เสนอให้กระทรวงการคลังออกนโยบายแบบตรงกลุ่มเป้าหมาย เน้นช่วยกลุ่มเปราะบาง พร้อมรักษาจุดยืนทางการคลังเข้มงวด เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ
  • ด้านนักวิชาการแนะ ไทยควรเตรียมพื้นที่ทางการคลัง ตัดค่าใช้จ่ายไร้ประสิทธิภาพ และเร่งกำจัดกับดักทางการคลัง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมิน ภายใน 5 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะของไทยจะไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังจะเผชิญกับภาวะถดถอย (Recession) และไทยน่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกอย่างมาก ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า ไทยเรามีกระสุนเพียงพอที่จะรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะกระสุนทางการคลังเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางที่สุดในประเทศ

 

IMF ได้เผยรายงาน Fiscal Monitor ฉบับล่าสุด โดยคาดการณ์ว่าหนี้โดยรวมทั่วไปของรัฐบาลไทย (General Government Gross Debt) ในปี 2022 จะอยู่ที่ 61.5% ของ GDP โดยถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ซึ่งอยู่ที่ 41.1% ของ GDP ในปี 2019 และคาดว่าจะอยู่ใกล้กับระดับ 60% ไปจนถึงปี 2027


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


สำหรับการขาดดุลงบประมาณของไทยในปี 2022 คาดว่าจะอยู่ที่ 5.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ก่อนจะขาดดุลลดลงเหลือ 3.2% ของ GDP ในปี 2023 ถือว่าน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่โดยเฉพาะการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่ขาดดุลถึง 7% ของ GDP

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลาง (ระหว่างปี 2024-2027) การขาดดุลของประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 3.2-3.5% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนการระบาด (ปี 2013-2018) ซึ่งดุลงบประมาณอยู่ระหว่างขาดดุล 0.8% ถึงเกินดุล 0.5%

 

รัฐบาลไทยจัดเก็บรายได้ ‘ต่ำกว่า’ เพื่อน

 

นอกจากนี้ในรายงาน IMF ยังชี้ให้เห็นว่ารายได้ของรัฐบาลไทยในปี 2022 จะอยู่ที่ 20% ของ GDP ซึ่ง ‘ต่ำกว่า’ รายได้ของรัฐบาลกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 25.1% ของ GDP

 

ด้าน ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า รายได้จากการเก็บภาษี (Tax Revenue) ต่อ GDP ของไทยลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดแล้ว สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจนอกระบบ และนโยบายการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและลดภาษีมากกว่าการขึ้นภาษีหรือการทบทวนสิทธิประโยชน์

 

“ถ้าดูในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นโยบายภาษีหลักๆ ของไทยส่วนมากเป็นการให้สิทธิประโยชน์และลดภาษี มากกว่าการขึ้นภาษีหรือทบทวนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสิทธิประโยชน์ ดังนั้นเราเห็นฐานภาษีของประเทศผุกร่อนลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รายได้จากภาษีของรัฐบาลลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เรามีเทคโนโลยีการจัดเก็บที่ดีขึ้น มีเศรษฐกิจนอกระบบที่ลดลง” ดร.อธิภัทรกล่าว

 

พื้นที่ทางการคลังไทยกำลังหมดความน่าเชื่อถือ?

 

ดร.อธิภัทรยังชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้คอนเซปต์เรื่องพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ของไทยกำลังจะหมดความสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลสามารถปรับเพิ่มเพดานหนี้เท่าไรก็ได้ ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นจนต้องไปตรวจสอบมาตรการอื่นๆ แทน

 

“ตอนนี้ความสำคัญหรือความเชื่อมั่นด้าน Fiscal Space ของนักลงทุนต่างชาติลดลงไปเยอะมาก เพราะสิ่งที่เราเคยเอามาใช้เพื่อบอกว่าเรามีความน่าเชื่อถือทางการคลัง วินัยทางการคลัง มันหายไป นักลงทุนต่างชาติเริ่มไม่ได้ให้ความสำคัญและความเชื่อมั่นกับเพดานหนี้สาธารณะแล้ว เพราะรัฐบาลจะปรับขึ้นไปเท่าไรก็ได้ ตอนนี้ปรับขึ้นไป 70% ต่อ GDP จาก 60% ต่อ GDP ดังนั้นสิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือคำว่าพื้นที่ทางการคลังไม่ได้มีความหมายเท่าเมื่อก่อนแล้ว” ดร.อธิภัทรกล่าว

 

แนะไทยตั้งสถาบันการคลัง ‘อิสระ’

 

เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ดร.อธิภัทรแนะว่าประเทศไทยควรตั้งสถาบันการคลังอิสระ (Independent Fiscal Institutions) เพื่อคอยตรวจสอบการทำนโยบายของรัฐบาล และทำให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะยึดมั่นวินัยการคลัง

 

“สถาบันที่คอยดูแลวินัยทางการคลังของไทยปัจจุบันคือ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ แต่ว่ากันตรงๆ แล้ว คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐคือรัฐบาลเอง ไม่ได้เป็นอิสระ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในทางปฏิบัติ และมีสมาชิกเป็นข้าราชการทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง เราจึงขาดกลไกตัวนี้ ที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติและสาธารณชนเชื่อมั่นได้ว่ารัฐบาลยึดมั่นในวินัยการคลัง” ดร.อธิภัทรกล่าว

 

ความท้าทายทางการคลังหลังยุคโควิด

 

ในรายงาน Fiscal Monitor ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายทางการคลังต้องเผชิญกับการชั่งน้ำหนัก (Trade-Off) ที่ยากลำบากมากขึ้น ขณะที่พยายามปกป้องครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ซึ่งประสบกับปัญหาราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังว่าการออกมาตรการสนับสนุนมากเกินไปอาจขัดต่อนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศที่ต้องการสูบเงินจากระบบเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

 

IMF ยังเสนอว่า รัฐบาลต่างๆ ควรจัดลำดับความสำคัญให้แก่กลุ่มเปราะบางเป็นอันดับแรก ผ่านการสนับสนุนที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับรักษาจุดยืนทางการคลังที่เข้มงวดเพื่อช่วยลดอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่บัฟเฟอร์ทางนโยบาย (Policy Buffer) ก็ลดลงอย่างมาก หลังจากเผชิญกับการระบาดใหญ่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

เตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

 

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอยและไทยน่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกอย่างมาก ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า ไทยเรามีกระสุนทางการคลังเพียงพอที่จะรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่

 

ดร.อธิภัทรกล่าวว่า สำหรับการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย การเตรียมพื้นที่ทางการคลังก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำตอนนี้คือพิจารณาว่าอะไรที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้กับประเทศ และมีโอกาสที่จะเป็นกับดักทางการคลังในอนาคต ตัวอย่างเช่น การอุดหนุนราคาพลังงานน้ำมันดีเซลและการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

 

“ถ้าเราดูจากประวัติการขาดทุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แม้ในยามที่ราคาน้ำมันและเศรษฐกิจดีขึ้นในอดีต การเก็บเงินเข้ากองทุนก็ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง และด้วยการขาดทุนที่เยอะมหาศาลในตอนนี้ อาจใช้เวลา 20-30 ปีกว่าเราจะใช้คืนหนี้กองทุนน้ำมันได้หมด” ดร.อธิภัทรกล่าว

 

ด้าน แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า หากเกิด Recession สิ่งที่ภาครัฐต้องทำคือใส่มาตรการทางการคลังเพิ่มลงไป เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ให้ได้ ซึ่งทำได้หลายอย่างและไม่จำเป็นต้องผ่านการกู้หรือเป็นหนี้อย่างเดียว เช่น ใช้มาตรการทางภาษีหรืองบประมาณก็ได้ แต่ถ้าจะใช้การกู้มาอัดฉีดอีกอาจต้องมีการพิจารณามากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเรากู้เงินเยอะแล้ว

 

นอกจากนี้ แพตริเซียระบุอีกว่า สิ่งที่อยากเห็นมากกว่าคือการใช้เงินกู้ผ่านการลงทุนมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนอย่างมีคุณภาพ สร้างการจ้างงาน

 

ขณะที่ พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง พูดถึงการเตรียมรับมือกับภาวะถดถอย โดยระบุว่า ตามคำแนะนำของ IMF เสนอว่าการใช้มาตรการทางการคลังควรเป็นแบบตรงกลุ่ม (Targeted) และชั่วคราว (Temporary) อีกทั้งต้องสอดคล้องกับนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ซึ่งมองว่านโยบายการคลังและการเงินของไทยทำงานร่วมกันอยู่แล้ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising