×

โปรดระวัง! เศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มดอกเบี้ย

08.02.2022
  • LOADING...
world economy

ปัจจัยต่างๆ ที่รุมเร้าเศรษฐกิจและการลงทุนโลกในปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนต่างสับสนในทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะต่อไป ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลง การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของ IMF แต่ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ กลับแข็งแกร่งมาก หรือจะเป็นเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ แต่องค์ประกอบภายในกลับเริ่มผ่อนคลายลง ขณะที่ในส่วนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่รัสเซียส่งกำลังกว่า 1.3 แสนนายตรึงชายแดนยูเครน แต่กลับปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้มีแผนที่จะบุกยึดยูเครน

 

ภาพความสับสนงุนงงเหล่านี้ทำให้การคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจการลงทุนต่อไปทำได้ยาก โดยเฉพาะการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงต่อไป ดังนั้นบทความนี้จะไล่เรียงภาพเศรษฐกิจล่าสุด ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงมุมมองของเราต่อทิศทางนโยบายการเงินโลก ดังนี้ 

 

1. ภาพเศรษฐกิจโลก

หากพิจารณาภาพเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะเห็นว่าเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลง โดยหากพิจารณาจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมถึงดัชนีจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เริ่มชะลอชัดเจน โดยเฉพาะภาคบริการที่เป็นผลจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแม้จะมีผลชั่วคราว เพราะเมื่อการระบาดบรรเทาลงก็จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สัญญาณเช่นนี้เริ่มเป็นการบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยเฉพาะในประเทศเจริญแล้ว เริ่มชะลอลง

 

ภาพเหล่านี้สะท้อนกับการคาดการณ์เศรษฐกิจของ IMF ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงจาก 4.9% เป็น 4.4% เป็นผลทั้งจากมาตรการการคลังที่จะลดลงในปีนี้ (โดยเฉพาะนโยบาย Build Back Better ของสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากปัญหาการเมือง) นโยบาย Zero COVID ของจีน ที่พร้อมจะปิดเมืองหากพบการระบาดของโรคโควิด และจากต้นทุนการผลิตและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและกระทบภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม IMF เชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลกจะผ่อนคลายลงภายในปีนี้

 

ในส่วนของเงินเฟ้อ แม้ตัวเลขเงินเฟ้อของทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเจริญแล้ว จะยังคงสูงต่อเนื่อง แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในส่วนขององค์ประกอบเงินเฟ้อฝั่งการผลิตและค่าเช่า รวมถึงค่าจ้าง โดย 2 องค์ประกอบหลังเป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะ Inflation Expectation หรือความคาดหวังเงินเฟ้อ ได้ดีระดับหนึ่ง 

 

โดยล่าสุด เงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 5.1% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบภายในแล้ว มีประเด็นที่น่าสนใจ โดยจะเห็นว่าแรงกดดันด้าน Supply Chain เริ่มลดลงต่อเนื่อง หลังจากเริ่มมีการกลับมาผลิตมากขึ้น เช่น เงินเฟ้อจากสินค้าภาคอุตสาหกรรมของยุโรปในเดือนมกราคม ลดลงแรงจาก 2.9% เป็น 2.3% แต่เป็นเพราะราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ที่ปรับขึ้นจาก War Premium (ผลจากความเสี่ยงสงครามในยูเครน) ที่เป็นตัวผลักทำให้เงินเฟ้อของยูโรโซนปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

ขณะที่หากพิจารณาในฝั่งสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่าราคาบ้าน (ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนค่าเช่าบ้าน ซึ่งค่าเช่าบ้านเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของเงินเฟ้อสหรัฐฯ) เริ่มมีอัตราลดลงจากระดับ 20% ลงสู่ระดับ 18% ซึ่งประเด็นราคาบ้านที่เริ่มลดลงนี้มาพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย 30 ปี (30-Year Mortgage Rate) ที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.8% เร่งขึ้นจากระดับ 2.8% เมื่อกลางปีที่ผ่านมา 

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเงินเฟ้อสหรัฐฯ คือ พัฒนาการของตลาดแรงงาน แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงบ้าง แต่ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ค่อนข้างแข็งแกร่ง ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ล่าสุดในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นถึง 4.7 แสนตำแหน่ง นอกจากนั้นกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ยังมีการปรับตัวเลขของ 2 เดือนก่อนหน้าขึ้นอีกกว่า 7 แสนตำแหน่งด้วย บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงพร้อมรับแรงงานที่กำลังหางาน นอกจากนั้นหากพิจารณาการปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้างรายสัปดาห์ (Average Weekly Earnings) พบว่า ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากที่เคยขยายตัวที่ 5.3% กลับปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.2% ในปัจจุบัน บ่งชี้ว่า นายจ้างเริ่มมีการรับลูกจ้างกลับมาทำงานมากขึ้น จึงเริ่มไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงลูกจ้าง ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อผ่านค่าจ้าง (หรือที่เรียกว่า Wage-Price Spiral) ในระยะต่อไปลดลง

 

ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า เริ่มมีสัญญาณเบื้องต้นว่าเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะสามารถลดลงได้ ผลทั้งจากฝั่งการผลิตที่ปัญหาคอขวดด้านอุปทาน (Supply-Chain Bottleneck) เริ่มคลี่คลาย และฝั่งค่าเช่าและค่าจ้างที่เริ่มเห็นสัญญาณคลี่คลายลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อคงอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่ยังวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ปรับเพิ่มขึ้นเกิน 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว (และเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน 

 

ซึ่งหากพิจารณาที่ปัจจัยพื้นฐานของน้ำมันแล้วจะเห็นได้ว่า ราคาที่พุ่งสูงขึ้นระดับนี้เกินกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก โดยปัจจุบันความต้องการน้ำมันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่กำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 98 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่วนต่างที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันนี้ไม่น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมาถึงระดับปัจจุบันได้ โดยจากการคำนวณของเรา ราคาน้ำมันดิบตามปัจจัยพื้นฐานน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยไตรมาส 3/21 ที่ 71.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเล็กน้อย ดังนั้นราคาที่ปรับสูงขึ้นมากเกินไปนี้น่าจะสะท้อน War Premium รวมถึงผลจากการเก็งกำไร 

 

2. ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ 

ในส่วนสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียเรามองว่าแม้ความตึงเครียดยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่โอกาสในการที่รัสเซียจะส่งกองกำลังเข้าบุกยูเครนอาจมีไม่มากนัก เนื่องจากหากบุกเข้ายึดแล้วจะถูกคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจ รวมถึงได้รับการตอบโต้จากยูเครนและพันธมิตร โดยในปัจจุบันสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ได้เตรียมระดับการตอบโต้ดังนี้ 

 

  • ด้านการทหาร: สหรัฐฯ ได้เตรียมกำลังพลประมาณ 10,000 นายประจำการอยู่ในแถบยุโรปตะวันออกใกล้ยูเครน และพร้อมเข้าช่วย นอกจากนั้นกองทัพของยูเครนเองก็ได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จากทางสหรัฐฯ และ NATO เช่นกัน 

 

  • ด้านเศรษฐกิจ: สหรัฐฯ ได้เตรียมที่จะดำเนินการตอบโต้ดังนี้
  1. ตัดการเข้าถึงระบบการโอนเงิน SWIFT ของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้การโอนเงินของรัสเซียไปยังต่างประเทศทำได้ยาก
  2. มีแผนห้ามสถาบันการเงินสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับธนาคารขนาดใหญ่ของรัสเซีย เช่น VTB, Gazprombank และ Sberbank
  3. มีแผนจะแบนการส่งออกของสหรัฐฯ ไปยังรัสเซีย
  4. แบนผู้นำรัสเซียรวมถึงปูติน ในการเข้าถึงบริการทางการเงินสหรัฐฯ 

 

ด้วยการตอบโต้ทางการทหารและทางเศรษฐกิจเช่นนี้ทำให้เรามองว่ามีโอกาสไม่มากนักที่รัสเซียจะโจมตียูเครน โดยเราให้โอกาสประมาณ 20-30% โดยอาจเป็นการบุกแบบ Thunder Run คือเข้าเร็วและออกเร็ว และทำให้เกิดขวัญและกำลังใจของประชาชนยูเครนตกต่ำลง เพื่อจะทำให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาลและเลือกผู้นำที่เป็นมิตรกับรัสเซียมากกว่า เราจึงมองว่ามีโอกาสน้อยที่ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นราคาน้ำมันที่จะไปถึงหากเกิดสงคราม และจะทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามองว่าต้องติดตามสถานการณ์ด้านรัสเซียและยูเครนอย่างใกล้ชิด

 

3. แนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยโลก

ด้วยทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มชะลอลง ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เริ่มลดลง ยกเว้นในส่วนของ War Premium ที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันอยู่สูงกว่าระดับที่ควรจะเป็นไปมาก ทำให้เรามองว่านโยบายการเงินในภาพรวมไม่ควรจะตึงตัวเกินไป เนื่องจากภาระหนี้ทั่วโลกในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงมาก 

 

จากงานวิจัยของนิตยสาร The Economist พบว่า ปัจจุบันมูลหนี้ทั้งหมดได้เพิ่มขึ้นจากระดับ 83 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2000 เป็น 295 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน หรือกว่า 3 เท่าของ GDP โลก โดยในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ครัวเรือน ภาคเอกชน รวมถึงภาครัฐทั่วโลกมีรายจ่ายดอกเบี้ยรวมกันทั้งสิ้น 10.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12% ของ GDP ซึ่งหากดอกเบี้ยทั่วโลกขึ้น 1% จะทำให้ภาระดอกเบี้ยขึ้นเป็น 15% ของ GDP แต่หากดอกเบี้ยขึ้น 2% จะทำให้ภาระดอกเบี้ยขึ้นถึงเกือบ 20% ของ GDP โลก ซึ่งจะทำให้ประเทศในยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงจีน ประสบปัญหา เนื่องจากมีระดับหนี้ต่อรายได้ที่สูงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

 

งานวิจัยของ The Economist สอดคล้องกับงานศึกษาของเราที่พบว่า หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยและทำถอนสภาพคล่อง (หรือมาตรการ Quantitative Tightening: QT) เร็วเกินไป ท่ามกลางเศรษฐกิจที่จะชะลอลง จะทำให้เศรษฐกิจและ/หรือตลาดการเงินเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ (ตามที่ได้เขียนไว้ในบทความ ‘เปิด 3 ไพ่โจ๊กเกอร์เศรษฐกิจและการลงทุน ปี 2022’) โดยหาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยทุกๆ ไตรมาส รวมทั้งทำมาตรการ QT ให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกันแล้ว อาจทำให้เศรษฐกิจ/ตลาดการเงินสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสที่ 2/23 ได้

 

หลักฐานทั้งหมดนี้ทำให้เราเชื่อว่า ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ รวมถึงทั้งโลกนั้น ไม่น่าจะปรับสูงขึ้นได้มากและรวดเร็วนัก โดยในกรณีของดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ เรามองว่าเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ใน 3 การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ติดต่อกัน คือ การประชุมเดือนนาคม, พฤษภาคม และมิถุนายน ขณะที่การทำมาตรการ QT นั้นเป็นไปได้ที่จะเริ่มเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยและถอนสภาพคล่องในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปจะทำให้เศรษฐกิจรับได้และไม่เกิดสภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญคือ เงินเฟ้อจะต้องเริ่มลดระดับลงในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งหากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อาจทำให้ธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าที่ควรจะเป็น และทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ 

 

เศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอ เงินเฟ้อที่เริ่มเห็นสัญญาณลดลง แต่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นอุปสรรค เหล่านี้คือปัจจัยที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจและการลงทุนโลกในยุคถัดไป นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลายโปรดระมัดระวัง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising