×

เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ และไทยได้อานิสงส์เงินสะพัดเท่าไร

14.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • ธนาคารกลางรัสเซียประเมินว่ามหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกปีนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 4.8 แสนล้านบาท
  • Commerzbank และ Moody’s ประเมินว่าอานิสงส์ของการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันค่อนข้างจำกัด และส่งผลระยะสั้นเท่านั้น
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเม็ดเงินโฆษณาจะเติบโต 9% ยอดขายอาหารและเครื่องดื่มโตทะลุ 5.2 พันล้านบาท

นับถอยหลังอีกไม่กี่ชั่วโมง เสียงนกหวีดแรกที่ดังขึ้นที่สนามลุจนีกี สเตเดียม จะเป็นการประกาศเริ่มต้นมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก 2018 อย่างเป็นทางการ ไม่เพียงแต่เป็นเสียงที่คนทั่วโลกรอคอยอย่างใจจดใจจ่อตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นเสียงที่รัสเซียฝากความหวังเอาไว้ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

 

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลรัสเซียประเมินว่าฟุตบอลโลกรอบนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.8 แสนล้านบาท แต่ดูเหมือนตัวเลขดังกล่าวจะถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายที่คลางแคลงใจว่า การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่

 

เมื่อความจริงไม่ใช่สิ่งที่ฝันสำหรับประเทศเจ้าภาพ

 

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางของรัสเซียประกาศอย่างมั่นใจว่า “การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 ในปีนี้ จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจรัสเซียชัดเจนในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี ความต้องการสินค้า บริการ และการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น”

 

รัสเซียคาดหวังว่าอีเวนต์ใหญ่ระดับนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเจริญเติบโตให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ได้ถึง 0.2% และธนาคารกลางรัสเซียก็กังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สะท้อนผ่านระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นด้วย โดยกรอบเงินเฟ้อที่ประเมินไว้คือไม่เกิน 4% ในปี 2018 ค่าใช้จ่ายของรัสเซียสำหรับการจัดฟุตบอลโลกอาจสูงถึง 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 3.5 แสนล้านบาท และสร้างการจ้างงานมากกว่า 2.2 แสนตำแหน่ง จากพลังของฟุตบอลโลกที่จัดใน 11 เมืองทั่วประเทศ    

 

อย่างไรก็ตาม Commerzbank ธนาคารยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมันได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในช่วงที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของการลงทุนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย (Non-Residential Investment) เช่น การลงทุนอสังหาริมทัพย์เชิงพาณิชย์ เครื่องจักรและเครื่องมือ การสร้างโรงงาน เป็นต้น พบว่าช่วงก่อนหน้าปีที่จัดการแข่งขันเติบโต 5.9-6.7% แต่เมื่อถึงปีของการแข่งขันตัวเลขนี้กลับเติบโตน้อยมากหรือแทบจะไม่เติบโตเลย และผลต่อเนื่องในรูปแบบการลงทุนปีหลังจากที่ฟุตบอลโลกจบไปแล้วเติบโตอีกเล็กน้อยไม่เกิน 1.2% เท่านั้น

 

 

บทเรียนที่แสนเจ็บปวดของบราซิลในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อปี 2014 ยังถูกจารึกในประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจของบราซิลในปีที่จัดการแข่งขันแทบจะไม่ขยายตัว เติบโตเพียง 0.5% และหดตัวลงถึง 3.6% ในปีต่อมาท่ามกลางความเกลียดชังของประชาชนในประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณมหาศาลไปกับการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศก็อยู่ในภาวะเปราะบาง

 

Commerzbank ให้ความเห็นว่า การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกอาจจะไม่ได้ส่งผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศที่จัดการแข่งขันมากอย่างที่เข้าใจกัน ยอดขายของธุรกิจค้าปลีก การท่องเที่ยวและการจ้างงานก็ไม่ได้สูงขึ้นแบบหวือหวา ซึ่งตรงกับ Moody’s ที่มองว่าฟุตบอลโลก 2018 นี้จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจรัสเซียในระยะสั้น หาใช่การเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างที่บางฝ่ายคาดหวัง และประเมินว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่ากีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2014 ที่รัสเซียจัดการแข่งขันเสียอีก

 

“ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการจัดฟุตบอลโลกจะมีอย่างจำกัด เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจที่มหึมาของรัสเซียเอง ส่วนการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวก็ดูเหมือนจะกระเตื้องขึ้นระยะสั้นเท่านั้น” Moody’s รายงาน

 

การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของรัสเซียคราวนี้ ทุกฝ่ายเชื่อตรงกันว่ามีนัยสำคัญในหลายมิติ และใช่ว่าผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของรัสเซีย ประเทศมหาอำนาจผู้เป็นตัวแปรสำคัญของเวทีการเมืองโลก

 

แต่ดูเหมือนปรากฏการณ์กีฬานี้จะส่งผลข้ามโลกกว่า 5 พันกิโลเมตรมาถึงสยามประเทศ และคอบอลไทยก็ตื่นเต้นกับเรื่องนี้ไม่แพ้ใครในโลก

 

คาดบอลโลกดันโฆษณาโต 9% กระตุ้นซื้อสินค้ากว่า 6.6 พันล้านบาท

 

ศูนย์วิจัยกสิกไทยคาดว่าศึกฟุตบอลโลก 2018 จะได้รับความสนใจจากคนไทยในระดับสูง และจะรับชมการถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ปัจจัยสำคัญคือช่วงเวลาที่ถ่ายทอดสดเป็นช่วงค่ำจนถึงช่วงดึก ซึ่งสะดวกต่อการรับชม คาดว่าจะมีคนไทยชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันเกือบ 11 ล้านคน นอกจากนี้ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายยังเป็นทีมยอดนิยมของแฟนบอลไทยหลายทีมด้วย

 

สำหรับเม็ดเงินโฆษณาที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นในช่วงฟุตบอลโลกนี้ประมาณ 680 ล้านบาท และทำให้มูลค่าโดยรวมน่าจะสูงเกือบ 8 พันล้านบาท เติบโต 9% จากช่วงปกติที่ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยสัดส่วนเงินโฆษณาที่เยอะที่สุดคือช่องทางโทรทัศน์ประมาณ 600 ล้านบาท ขณะที่ช่องทางอื่นๆ อย่างสิ่งพิมพ์ โฆษณานอกบ้านและสื่อออนไลน์รวมประมาณ 80 ล้านบาท

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าบรรยากาศในการเชียร์ฟุตบอลจะกระตุ้นการจับจ่าย จากกิจกรรมที่ทำร่วมกันของแฟนบอลจะช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้าอุปโภคและบริโภคทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา ของที่ระลึก และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการชิงโชค มูลค่าประมาณเกือบ 6.7 พันล้านบาท เติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าธุรกิจที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคืออาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งขณะนี้แบรนด์ต่างๆ ก็ออกแคมเปญที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ของฟุตบอลโลกเพื่อทำการตลาดแล้ว และเมื่อประเมินว่าจำนวนผู้ชมจะเพิ่มขึ้นก็ยิ่งทำให้แบรนด์สินค้าแข่งขันกันหนักหน่วงขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายของกลุ่มเป้าหมาย คาดว่ายอดขายอาหารและเครื่องดื่มจะสูงกว่า 5.2 พันล้านบาท โดยธุรกิจอาหารซึ่งประกอบด้วยบริการจัดส่งอาหาร ร้านค้าทั่วไป อาหารอื่นๆ และการซื้ออาหารเพื่อปรุงรับประทานในครัวเรือนจะมีเม็ดเงินกว่า 3 พันล้านบาท ขณะที่สินค้าเครื่องดื่มจะมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 2.2 พันล้านบาทจากช่วงเวลาปกติที่ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก

ช่วงเกือบสองเดือนจากนี้ จึงเป็นช่วงที่สร้างสีสันให้กับภาคธุรกิจทั่วโลก หากมองเพียงแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจเทียบกับต้นทุนมหาศาลสำหรับการจัดมหกรรมกีฬาระดับนี้ อาจจะไม่คุ้มค่าเสียทีเดียว แต่สิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้คือความภูมิใจและความฮึกเหิมของประชาชนในประเทศที่เป็นผู้จัดการแข่งขัน แม้บางปีจะเต็มไปด้วยเสียงโห่ การประท้วง และข้อครหาเรื่องการทุจริตของผู้มีอำนาจจัดการ แต่แทบทุกประเทศต่างก็อยากสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะเจ้าภาพทั้งนั้น

 

ราคาที่ต้องจ่ายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และบ่อยครั้งที่คนซื้อไม่ได้จ่าย และคนที่ต้องจ่ายก็ไม่ได้ตัดสินใจซื้อ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X